เจาะลึกวิกฤติ 'ประมงเทียบท่า' ผลกระทบโดมิโน-สู่ความยั่งยืน

เจาะลึกวิกฤติ 'ประมงเทียบท่า' ผลกระทบโดมิโน-สู่ความยั่งยืน

(รายงาน) เจาะลึกวิกฤติ "ประมงเทียบท่า" ผลกระทบโดมิโน-สู่ความยั่งยืน : ทีมข่าวภูมิภาค

กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประเทศชาติและประชาชนโดยตรง เมื่อ "สมาคมประมง" มีมติให้สมาชิกกลุ่ม "เรือประมงพาณิชย์" หลายพันลำนำเรือเทียบท่าใน 22 จังหวัด หลังจากคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 10/2558 ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 เพื่อจัดระเบียบ และแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่เป็นปัญหาหมักหมมมาเนิ่นนานกว่า 30 ปี โดยคำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ให้ "ใบเหลือง" ประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่า ไทยไร้ศักยภาพ ไม่สามารถควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมายได้


ทั้งนี้ แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะให้เวลาหลายเดือน เพื่อให้กลุ่มประมงพาณิชย์ทำทุกสิ่งอย่างให้ถูกต้องตามข้อกำหนด แต่ดูเหมือนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้รับการตอบสนองจากกลุ่มประมงพาณิชย์เท่าใดนัก

กระทั่งเวลาผ่านไปเนิ่นนานจนมาถึงเส้นตายของการบังคับใช้กฎหมายในวันที่ 1 กรกฎาคม กลุ่มผู้ประกอบการประมงพาณิชย์กลับต้องการให้รัฐผ่อนปรนข้อบังคับต่างๆ ไปอีกสักระยะ พร้อมยื่นข้อเสนอก่อนจะพากันนำเรือหลายพันลำเข้าเทียบท่าในจังหวัดต่างๆ

โดยขอให้ผ่อนผันการบังคับใช้ ประกาศนียบัตรนายเรือ ประกาศนียบัตรช่างเครื่อง บัตรประชาชนผู้ควบคุมเรือ (ไต๋) บัตรประชาชนนายเรือ บัตรประชาชนช่างเครื่อง หรือแม้กระทั่งการผ่อนผันข้อบังคับในเรื่อง อาชญาบัตรเรือ ที่รัฐบาลจะไม่ยอมออกให้เรือที่ใช้เครื่องมือประมงผิดประเภท ทั้ง อวนรุน อวนลาก อวนล้อม อวนล้อมปลากะตัก เพราะถือเป็นเครื่องมือที่ทำลายวงจรการเติบโตของสัตว์น้ำ 


นอกจากนี้กลุ่มชาวประมงพาณิชย์ยังขอให้รัฐผ่อนปรนในเรื่องแรงงานที่รัฐบาลต้องการให้มีแรงงานไทยอยู่บนเรือประมงในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อสามารถควบคุมการทำงานบนเรือได้ แต่ในความเป็นจริงแรงงานในภาคประมงบนเรือ 90% คือแรงงานต่างด้าว

ส่วนประเด็นสุดท้ายคือ กลุ่มประมงพาณิชย์ยังขอให้รัฐผ่อนปรนในเรื่องการติดตั้งเครื่องวิทยุภายในเรือ เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลน เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวจะต้องเป็นสินค้าที่ได้รับรองจากหน่วยงานรัฐ

ทั้งนี้ "กลุ่มประมงพาณิชย์ทั้ง 22 จังหวัด" ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารทะเลในประเทศไทย ดังนั้นการนำเรือเทียบท่าหยุดทำประมงของกลุ่มประมงพาณิชย์จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม โดยเฉพาะประมงพาณิชย์ในภาคใต้นับเป็นแหล่งการทำประมงขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งอ่าวไทย และอันดามัน

จากข้อมูลของ "ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สาขาภาคใต้" ได้วิเคราะห์ถึงผลที่จะตามมาจากการลงมติของสมาคมประมงที่ให้เรือประมงกลับเข้าสู่ฝั่ง ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ธปท.วิเคราะห์เรื่องปัจจัยภายในประเทศเป็นสิ่งสำคัญ โดยมองว่า ก่อนหน้านี้การทำประมงของไทยก็ประสบปัญหาอินโดนีเซียปิดน่านน้ำ ทำให้ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือลดลงร้อยละ 8 ดังนั้นหากมีการหยุดเรือเพิ่มขึ้นจะทำให้ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดลงไปมากยิ่งขึ้น ซึ่งทุกปัจจัยจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของ "ชาวประมง, เจ้าของเรือ, ธุรกิจเกี่ยวเนื่องประมง"

ขณะเดียวกัน "ผู้บริโภค" ต้องรับภาระราคาสัตว์น้ำที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามราคาสัตว์น้ำที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลดีต่อเรือประมงที่ยังสามารถออกทำประมงได้

ทั้งนี้ภาคประมงมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 0.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ และร้อยละ 4.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคใต้ ปี 2556

ส่วนการส่งออกจะกระทบต่อการส่งออกอาหารทะเลแปรรูปเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบมีมากขึ้น

"จากเดิมที่ได้รับผลกระทบจากการปิดน่านน้ำของอินโดนีเซีย เรายังประสบปัญหาการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ของสหภาพยุโรป ทำให้ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ปลาและหมึก มีปริมาณลดลงร้อยละ 8.8 และ 17.4 ส่วนอาหารทะเลกระป๋องคงได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากวัตถุดิบส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่กุ้งแปรรูปปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงเริ่มขยับขึ้นจากปัญหาโรคตายด่วน (อีเอ็มเอส) ที่เริ่มคลี่คลาย ซึ่งในปีที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมดประมาณ 2 แสนล้านบาท"

ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ที่เป็นศูนย์กลางเทียบท่าของเรือประมง และเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป

จากการศึกษาของ ธปท. พบว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปเพื่อการส่งออกจากภาคใต้ มี 3 กลุ่มหลัก คือ ปลาและหมึกแปรรูปแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งแปรรูปแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารทะเลกระป๋องจะได้รับผลกระทบจากการหยุดการทำประมง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการประมง ห้องเย็นและแปรรูป รวมทั้งแรงงานที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปลาและหมึกแปรรูป แต่ปัญหานี้สืบเนื่องมาจาก "หลักเกณฑ์สากล และการทำประมงยั่งยืน" รัฐจึงต้องแก้ไขให้ลุล่วงในที่สุด ดังนั้นทางออกที่ดีคือ การหารือและแก้ไขปัญหาร่วมกันเพื่อทำให้อนาคตอุตสาหกรรมดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธปท. มองว่า ผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของภาคใต้อาจจะไม่สูงมากนัก เนื่องจากปลาและหมึกมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมดของภาคใต้ และคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคใต้

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการก็ปรับตัวด้วยการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าสินค้า บางแห่งหันไปผลิตสินค้าแปรรูปอย่างอื่น เพื่อชดเชยปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอยู่แล้ว

ส่วนกุ้งแปรรูปและอาหารทะเลกระป๋องคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป (กุ้ง ปลา และหมึก ) ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ส่วนอาหารทะเลกระป๋องส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ

สุภาวดี โชคสกุลนิมิต กรรมการผู้จัดการบริษัทปัตตานีปลาป่น (1988) จำกัด เปิดเผยว่า การที่ภาคประมงบางส่วนหยุดออกจับสัตว์น้ำ ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการประมง และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมงที่มีบทบาทของการเป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทย สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่า 70 เปอร์เซ็นต์ ใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่งออก ดังนั้นการหยุดทำประมงจึงส่งผลกระทบที่สร้างความเสียหายต่อทั้งระบบของเศรษฐกิจสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท จากความชะงักงันที่เกิดขึ้น

"จ.ปัตตานีเอง ถือเป็นจังหวัดที่ทำประมงเป็นฐานราก หากประเมินคร่าวๆ จะมีเรือที่ต้องหยุดทำประมงตามมติของสมาคมประมงไม่ต่ำกว่า 200 ลำ นอกจากนี้ยังมีเรือที่ไม่เข้ากฎเกณฑ์ตามที่ภาครัฐออกข้อกำหนดอีกพอสมควร โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประมงกระทบกระเทือนทั้งหมด ทั้งคนงานที่อยู่ในเรือประมง คนงานแพปลา คนคัดเลือกปลา โรงงานน้ำแข็ง ส่วนตัวมองว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลนั้นไม่ถูกจุด ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของอาชญาบัตร เพราะที่ผ่านมารัฐก็ไม่ได้ต่อให้เรือประมงมาตั้งแต่ปี 2539 ปล่อยปละละเลยมาจนลุกลาม"

สุภาวดี กล่าวอีกว่า ธุรกิจประมงภายในประเทศก่อให้เกิดการจ้างงาน ทำให้มีเงินหมุนเวียนภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐกลับมองเพียงเรื่องการส่งออก ซึ่งธุรกิจส่งออกส่วนใหญ่ก็คือนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพื่อการส่งออกไม่ต้องจ่ายภาษี แต่ประมงที่ทำภายในประเทศเกิดการจ้างงาน มีการจ่ายภาษีเข้าสู่ระบบ

"อยากให้รัฐบาลมองว่า หากเราไม่เข้าใจธุรกิจประมงนั้น ท้ายที่สุดจะกระทบไปทั้งระบบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ หากไม่มีวัตถุดิบก็ไม่สามารถผลิตได้ และที่กระทบมากที่สุด คือปลาป่น ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารสัตว์" สุภาวดี กล่าว

มานะ ศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมนเอ โฟรเซ่นฟู๊ด จำกัด กล่าวว่า ปัญหาตอนนี้คือภาครัฐ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตีโจทย์ของอียูผิดทั้งหมด โดยประเด็นที่อียูให้ใบเหลืองคือ ต้องการให้ไทยทำประมงอย่างยั่งยืน แต่การแก้ปัญหาในขณะนี้มองต่างกันออกไป แนวทางที่ถูกต้องคือ รัฐบาลต้องมาทำความเข้าใจเรื่องการประมง ส่วนตัวข้อตั้งคำถามว่า หากวันนี้เรือประมงหยุดเดินเรือ เผาเรือ แล้วอียูจะปลดล็อกให้หรือไม่ก็ไม่

"ตอนนี้ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหารทะเลเพื่อการส่งออกที่เคยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เมื่อเจอปัญหา เขาก็ดิ้นรนไปหาวัตถุดิบจากต่างประเทศ บริษัทใหญ่ๆ ไปแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม อินโดนีเซีย นอกจากนี้ข่าวที่ออกไปกระทบกับออเดอร์ของที่มีในต่างประเทศ เช่นของบริษัทผมมีตลาดญี่ปุ่น พอมีข่าวแบบนี้ คู่ค้าหันไปหาซื้อที่อื่น เลยกลายเป็นว่าผิดกันไปทั้งหมด" มานะ กล่าว

เช่นเดียวกับ "ปรีชา ศิริแสงอารัมพี" ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า หากประเมินจากการที่เรือประมงพาณิชย์พากันกลับเข้าฝั่ง แน่นอนว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นโดยตรงกับผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับประมงในทุกส่วน โดยเฉพาะความเสี่ยงในเรื่องการว่างงาน นอกจากนี้ยังมองว่า การที่เรือประมงพาณิชย์กลับเข้าฝั่งจะทำให้ไม่มีสัตว์น้ำเข้ามาสู่ระบบ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสัตว์น้ำเพื่อการอุปโภค- บริโภค โดยส่วนตัวเชื่อว่า น่าจะเกิดขึ้นอีก 2 เดือนนับจากนี้ เพราะสินค้าที่เก็บไว้ในห้องเย็นจะหมดไปจากระบบ

"ปัญหาในขณะนี้ขึ้นอยู่กับว่า จะเลือกมองในส่วนใด หากมองในภาครัฐนี่คือการจัดระเบียบประมงเพื่อให้เกิด "ความยั่งยืน" ขณะที่ในมุมคนทำประมงเขามองว่า ประมงคือความเป็นอาชีพ รัฐควรจะให้ความสำคัญ หรือหาทางช่วยเหลือ และในฐานะของภาคเอกชนได้แต่คาดหวังผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการหยุดทำประมงจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้น โดยทุกฝ่ายสามารถหาทางคลี่คลายสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามไปมากว่านี้" ปรีชา กล่าว

สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นภาพด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ หลังจากเรือประมงบางส่วนเทียบท่า ซึ่งท้ายที่สุดคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นประชาชนตาดำๆ อีกเป็นแน่แท้