สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 29 มิ.ย.-3 ก.ค.2558

สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 29 มิ.ย.-3 ก.ค.2558

“เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ขณะที่ ดัชนี SET ปรับลดลงต่อเนื่อง จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้กรีซ”

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

- เงินบาทปรับตัวในกรอบแคบๆ โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ตามสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค หลังจากการเจรจาระหว่างกรีซกับกลุ่มเจ้าหนี้ประสบความล้มเหลว ซึ่งส่งผลให้มีแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงติดลบลงบางส่วน และกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ เนื่องจากตลาดยังคงรอผลการลงประชามติของกรีซต่อข้อเสนอปฏิรูปประเทศเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือในวันที่ 5 ก.ค. นี้ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าว อาจมีผลต่อท่าทีการเจรจาในเรื่องเงินช่วยเหลือรอบใหม่ระหว่างกรีซกับกลุ่มเจ้าหนี้ยุโรปในช่วงเวลาหลังจากนั้น

- สำหรับในวันศุกร์ (3 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 33.79 เท่ากับระดับปิดในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 มิ.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (6-10 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.70-33.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดน่าจะยังคงติดตามผลการลงประชามติของกรีซต่อข้อเสนอปฏิรูปประเทศเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือของกลุ่มเจ้าหนี้ ตลอดจนการทบทวนวงเงินมาตรการ ELA ของ ECB ที่ให้กับแบงก์กรีซ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมิ.ย ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ และสต็อกสินค้าภาคค้าส่งเดือนพ.ค. นอกจากนี้ ตลาดอาจจับตาบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 16-17 มิ.ย. ที่จะรายงานออกมาในช่วงกลางสัปดาห์ และถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วงปลายสัปดาห์ เพื่อหาสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

- ดัชนี SET ปรับลดลงต่อเนื่อง จากความวิตกเกี่ยวกับปัญหาหนี้กรีซ โดยปิดที่ระดับ 1,489.59 จุด ลดลง 1.87% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 13.87% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 42,179.42 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 658.93 จุด ลดลง 0.92% จากสัปดาห์ก่อน

- ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ โดยได้รับปัจจัยลบจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซ หลังการเจรจาระหว่างกรีซและกลุ่มเจ้าหนี้ประสบความชะงักงัน รวมทั้ง การที่กรีซผิดนัดชำระหนี้ IMF เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่แผนการช่วยเหลือกรีซโดย EU ได้สิ้นสุดลงเช่นกัน อันสร้างความไม่แน่นอนต่อสถานการณ์ในกรีซมากขึ้น นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของไทย ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

สำหรับสัปดาห์ถัดไป ( 6-10 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีแนวต้านที่ 1,500 และ 1,515 จุด ตามลำดับ ขณะที่แนวรับอยู่ที่ 1,480 และ 1,465 จุด โดยปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการลงประชามติของกรีซต่อข้อเสนอปฏิรูปประเทศเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือของกลุ่มเจ้าหนี้ ในวันที่ 5 ก.ค. 58 สำหรับการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ เครื่องชี้ภาคการผลิต (Markit PMI) ดุลการค้า และเครื่องชี้ตลาดที่อยู่อาศัยสหรัฐฯ รวมทั้ง การเปิดเผยบันทึกการประชุมเฟด