สธ.ประกาศขณะนี้ไทยปลอด'เมอร์ส'

สธ.ประกาศขณะนี้ไทยปลอด'เมอร์ส'

รมว.สธ.ประกาศขณะนี้ไทยปลอดผู้ป่วยเมอร์ส ไม่มีการระบาด หลังชายโอมานหายดี ไม่มีไข้ ไร้อาการโรคทางเดินหายใจ-ทางเดินอาหาร

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) และผู้บริหารสธ.พร้อมด้วย มร.อับดุลเลาะฮ์ เศาะลาฮ์ อะห์มัด อัล ไมมานี (Abdullah Saleh Ahmed Al-Maimani)เอกอัครราชฑูตโอมานประจำประเทศไทย ดร.ริชาร์ด บราวน์ รักษาการผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ศ.เกียติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา นพ.นำ ตันธุวนิตย์ ผอ.ด้านการแพทย์รพ.บำรุงราษฎร์ ร่วมกันแถลงข่าวประกาศประเทศไทยไม่มีการระบาดของโรคเมอร์ส โดยศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าประเทศไทยไม่มีการระบาดของโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์สผู้ป่วย เนื่องจากประเทศไทยไม่มีผู้ป่วยโรคเมอร์ส โดยผู้ป่วยชายชาวโอมานที่พบเป็นผู้ป่วยโรคเมอร์สรายแรกในประเทศไทยนั้นหายจากอาการโรคเมอร์สแล้วและประสงค์เดินทางกลับประเทศโอมานในช่วงเย็นวันที่ 3 ก.ค.2558 ภายใต้การดูแลของสถานทูตโอมานประจำประเทศไทย

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันโรคเมอร์ส 1 ราย เป็นชาวโอมานเข้ามารักษาเบื้องต้นที่รพ.บำรุงราษฎร์ หลังผลการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าติดเชื้อเมอร์สได้ส่งต่อมาเข้ารับการรักษาที่ห้องแยกโรคสถาบันบำราศนราดูร จนผู้ป่วยหายจากอาการโรคเมอร์ส ไม่มีไข้ หายใจเองได้ติดต่อกันแล้วเป็นเวลา 5 วันโดยไม่ต้องให้ออกซิเจน และเดินเองได้ในระยะสั้นๆ รวมถึง ผลการตรวจเชื้อยืนยันทางห้องปฏิบัติการให้ผลเป็นลบ คือไม่พบเชื้อติดต่อกัน 5 ครั้ง ล่าสุดตรวจเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2558 ส่วนผลเอ็กซเรย์ปอดดีขึ้นอย่างมาก ส่วนญาติอีก 3 คนที่อยู่ในห้องแยกโรค สถาบันบำราศฯเพื่อสังเกตอาการ เพราะเป็นผู้สัมผัสโรคใกล้ชิด จากการเฝ้าระวังไม่มีอาการป่วยเกิดขึ้นและผลการตรวจเชื้อเป็นลบทุกครั้ง

“ทีมแพทย์โรคติดเชื้อและผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมกันรักษาจึงลงความเห็นว่าสามารถจำหน่ายผู้ป่วยและญาติใกล้ชิดให้กลับประเทศได้ เนื่องจากครบตามเกณฑ์ 4 ข้อ คือ ไม่มีไข้มากกว่า 10 วัน ไม่มีอาการของระบบทางเดินหายใจ ไม่มีอาการของระบบทางเดินอาหาร และผลการตรวจเชื้อเป็นลบอย่างน้อย 2 ครั้งติดต่อกัน โดยทราบจากเอกอัครราชทูตโอมานประจำประเทศไทยว่า ผู้ป่วยประสงค์จะเดินทางกลับประเทศโอมานในช่วงค่ำของวันที่ 3 ก.ค.2558 พร้อมญาติทั้ง 3 คน “ศ.นพ.รัชตะกล่าว

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวด้วยว่า ส่วนผู้สัมผัสโรคที่มีการเฝ้าระวังทั้งหมด 176 ราย ไม่มีอาการป่วยเกิดขึ้นและผลการตรวจเชื้อเป็นลบ จึงยุติการเฝ้าระวังสังเกตอาการแล้วสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม สธ.ได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงมาตรการให้เฝ้าระวัง คัดกรอง และป้องกันโรคอย่างเข้มข้นต่อไป โดยไม่ประมาท ซึ่งแม้ขณะนี้ประเทศไทยจะปลอดจากการระบาดของโรคเมอร์สแล้ว แต่ขอความร่วมมือประชาชนที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรค เช่น ตะวันออกกลาง และเกาหลีใต้แล้วมีไข้ ไอ หายใจลำบาก ภายใน 14 วัน ให้แจ้งสธ.ที่หมายเลข 1422 และ1669

ด้านมร.อับดุลเลาะฮ์ เศาะลาฮ์ อะห์มัด อัล ไมมานี เอกอัครราชฑูตโอมานประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การดูแลผู้ป่วยและญาติเป็นอย่างดี ให้การรักษาจนผู้ป่วยหายดี

ดร.ริชาร์ด บราวน์ รักษาการผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การตอบโต้เหตุการณ์ของประเทศไทยทำได้ดีเยี่ยม ตั้งแต่การรักษา การติดตามผู้สัมผัส การเฝ้าระวังอาการผู้สัมผัสโรค และการสื่อสารให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างเหมาะสม แต่การเฝ้าระวังโรคต้องทำอย่างเข้มข้นต่อไป ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่ถือว่ามีการระบาดของโรคเพียงแต่พบผู้ป่วย 1 รายเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้เกณฑ์ครบ 28 วันจึงจะถือว่าปลอดโรค

ศ.เกียติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา กล่าวว่าที่ผ่านมีการซักซ้อมระบบจนเป็นระบบที่ดี ทำให้วันนี้พูดได้ว่าเราปลอดผู้ป่วยโรคเมอร์สแล้ว การจะให้ผู้ป่วยและญาติกลับบ้านได้เมื่อไหร่ ไม่มีคำตอบในตำรา แต่ตกลงกันว่า หลัง14วัน ไม่มีไข้ ไม่มีเชื้อแล้ว หากร่างกายแข็งแรงก็สามารถกลับบ้านได้ ส่วนญาติ3คนก็ตรวจตลอด ไม่พบเชื้อ ทั้งหมดประสงค์จะกลับบ้านเลยอนุญาต เพราะเข้าใจดีว่าคนดีๆ ถูกกักตัว14วันห้ามเยี่ยม ห้ามประกันตัว ย่อมมีความเครียด เลยอนุญาต

พญ.จริยา แสงสัจจา ผอ.สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า แพทย์ได้ออกใบรับรองให้ผู้ป่วยว่าสามารถเดินทางได้ เพื่อให้ผู้ป่วยเดินทางกลับประเทศโอมานได้ ซึ่งการตรวจเชื้อเมอร์สในตัวผู้ป่วยไม่ได้ตรวจเฉพาะเชื้อจากลำคอเท่านั้น แต่มีการตรวจเลือดด้วย ซึ่งไม่พบเชื้อ ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายนี้หายจากโรคได้ทั้งที่ไม่มียาเฉพาะในการรักษา แต่ทุกโรคร่างกายผู้ป่วยสามารถต่อต้านเชื้อได้ หากช่วยรักษาด้วยการประคับประคองด้วยการให้ออกซิเจน ส่วนปอดอักเสบก็มีการเพาะเชื้อแบคทีเรียเพราะอาจเกิดแทรกขึ้นได้แต่ไม่พบจึงรักษาอาการปอดอักเสบ สำหรับโรคหัวใจได้เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจจากสถาบันโรคทรวงอกมาให้การรักษาต่อเนื่องจากที่รักษาที่รพ.เอกชนทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น