แล้งได้ แล้งไป

แล้งได้ แล้งไป

ฝนก็ขอไม่ได้ตามใจ น้ำจะเค็มเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่ที่รู้ตอนนี้ คือ เตรียมตัวให้ดี เพราะนี่คือหน้าแล้ง!

แม้จะมีประกาศออกมาให้รู้กันตั้งแต่ต้นปีว่า ประเทศไทยจะถึงคราว “แล้ง” ครั้งใหญ่ ผ่านมาครึ่งปี มีพื้นที่เกษตรโดยเฉพาะนาข้าวถูกสั่งให้งดทำการเกษตรเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีคน (กรุง) ยังงงๆ เหมือนไม่เห็นวี่แววว่า จะแล้งยังไง

เห็นได้จากสถิติการใช้น้ำของคนเมือง (กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ) ในสี่เดือนที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีลด ทั้งๆ ที่ภาครัฐประกาศโครมๆ ว่า “จะแล้ง” แต่ก็ไม่เห็นจะมีทีท่าของการประหยัดน้ำ โดยการประปานครหลวงบอกว่า เดือนมีนาคม เมษายน 2558 คนเมืองใช้น้ำกันไปเดือนละ 157 ล้านลูกบาศก์เมตร ในเดือนพฤษภาคมก็ขยับขึ้นมาเป็น 161 ล้านลูกบาศก์เมตร มีล่าสุด ก็เดือนมิถุนายน ที่ลงมาอยู่ประมาณเดิมคือ 157 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งๆ ที่เข้าสู่หน้าร้อนทีไร ใครก็บ่นอุบถึงอุณหภูมิทะลุปรอทชนิดที่รู้สึกได้ แต่พอเกิดแล้งขึ้นมาครั้งใด คนกรุงทั้งหลายกลับไม่ค่อย “รู้สึก”

แต่ปัญหาที่เป็นอยู่ตอนนี้(และที่จะตามมาหลังจากนี้) คงจะอธิบายได้ดีว่า ทำไมเราต้องรู้สึกว่า เรากำลังแล้ง!!!

 

แล้งแล้วกร่อย

  ขณะที่คนเมืองยังไม่ได้เตรียมตัวรับมืออะไรเท่าไหร่ คนไกลออกไปหลายจังหวัดต้องพึ่งวิธีขอฝน เพราะเดือดร้อนจากการไม่มีน้ำ โดยเฉพาะชาวนา ชาวไร่ ถ้าขยับมาใกล้เมืองหน่อยก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน อย่างชาวสวนทุเรียนเมืองนนท์ที่ตอนนี้ก็เริ่ม “ทิ้งสวน” กันมากขึ้น เพราะไม่รู้จะแก้ปัญหานี้อย่างไร

“ตอนนี้ทุเรียนเริ่มยืนต้นตายแล้ว บางสวนก็ใบไหม้เกือบทั้งสวน” อดิสรณ์ ฉิมน้อย เจ้าของสวนทุเรียนเมืองนนท์ ต.บางกร่าง เล่า

“เพราะว่าไม่มีฝน อากาศมันร้อนมาก อุณหภูมิสูงมาก ก็ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาน้ำที่ลดลงเป็นน้ำเค็ม ทำให้ชาวสวนเลิกปลูกทุเรียนไปเกือบห้าสิบเปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่หน้าแล้งปีที่แล้ว” อดิสรณ์ให้ข้อมูลเพิ่ม

หลายเดือนที่ผ่านมา น้ำจืดแถบเมืองนนท์ขาดแคลนติดต่อกัน ส่งผลให้ทั้งชาวสวนทุเรียนและชาวสวนอื่นอย่างกระท้อน มะนาว ส้มโอ ที่อยู่ติดๆ กันก็ได้รับผลกระทบเหมือนๆ กัน ถ้าใครกล้าหน่อย ก็จะหันมาใช้น้ำประปารดน้ำต้นไม้เพื่อพยุงสวนตัวเอง ซึ่งก็ต้องยอมรับกับเงินที่ต้องเสียไปให้กับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย

“ที่อยู่ได้เนี่ยเพราะใช้น้ำประปารด ที่อื่นเขาไม่กล้าลงทุน เพราะมันแพง เขาก็เลยปล่อยตายกันเกือบหมดแล้ว ปีนี้ตั้งแต่แล้งมา เราใช้น้ำประปามาตลอด เพราะน้ำมันเค็มมาตลอด เราเองพยายามใช้น้ำน้อยลง แต่พอร้อน ตั้งแต่เดือนเมษานี่เราต้องใช้น้ำเยอะขึ้น ก็เลยต้องหันไปใช้น้ำประปา” อดิสรณ์เล่า พร้อมบอกว่า ปีนี้น้ำในคลองกร่อยกว่าทุกปี อย่างปีที่ผ่านๆ มา ไม่เคยต้องใช้น้ำประปาแทนเลย พอต้องมาใช้น้ำประปารดน้ำต้นไม้ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น 3-4 เท่าตัว

ไม่ต่างจากเกษตรกรเลี้ยงปลาสลิดใกล้ๆ เมือง ที่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ก็ได้รับผลกระทบจาก “น้ำเค็ม” ที่ทะลักเข้ามาแทนที่น้ำตามบ่อ เพราะภัยแล้งเช่นเดียวกัน

“น้ำมีน้อย มันกักน้ำเค็มไม่ได้ น้ำเค็มก็เข้ามา เข้ามาแล้ว น้ำก็เสีย ปลาเราก็เป็นแผลตามตัว เป็นโรค พอจะถ่ายน้ำ มันก็ไม่มีน้ำจืดให้ถ่าย ก็วิดน้ำเค็มเข้าไปอีก” อำนวย เกิดสนอง เจ้าของบ่อปลาสลิดเล่า เขาบอกว่า มีเกษตรกรบางรายพยายามจะควบคุมคุณภาพน้ำด้วยการให้อาหารน้อยลง แต่ก็ต้องเสี่ยงกับน้ำหนักตัวปลาที่จะน้อยลงด้วย เพราะนั่นหมายถึง พวกเขาจะขายได้น้อยลง

เฉพาะผู้เลี้ยงปลาสลิดในแถบบ้านแพ้วก็คาดการณ์แล้วว่า จะเสียหายกันเป็นพันล้าน

“ก็ยังคิดไม่ตกว่า ถ้าเค็มเรื่อยๆ แล้วจะทำยังไง” อำนวยเอ่ย เพราะยังไม่รู้จะทำอย่างไรกับปัญหาที่เขายอมรับว่า “หนัก” กว่าทุกปี ...ตอนนี้ก็ได้แต่ขอให้มีการบริหารจัดการน้ำที่ “เห็นใจ” คนใช้น้ำเพื่ออาชีพอย่างพวกเขาด้วย

 

กร่อยแล้วไง

สำหรับน้ำประปาที่เราใช้ทั้งอุปโภคและบริโภค เราจะรับรู้รสน้ำประปา “กร่อย” หรือ “เค็ม” เมื่อค่าความนำไฟฟ้าสูงถึง 1,200 หน่วย ขึ้นไปหรือมีคลอไรด์ (เกลือแกง) ประมาณ 250 มิลลิกรัมต่อลิตร นั่นคือ เมื่อน้ำทะเลหนุนสูงมากจนการประปาฯ ไม่สามารถจัดการไม่ให้น้ำเค็มเข้ามาได้

เวลานี้ทางการประปานครหลวงเองก็ออกมาประกาศให้ผู้ใช้น้ำเตรียมตัวไว้ว่า หากค่าความนำไฟฟ้าในน้ำประปาสูงถึง 700 หน่วยเมื่อใด จะแจ้งให้โรงงานอุตสาหกรรมทราบทันที เพราะจะมีผลต่อการผลิตสินค้า และจะแจ้งให้ผู้ใช้น้ำสำรองน้ำประปาไว้สำหรับดื่มอย่างน้อยครัวเรือนละ 60 ลิตรด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคในกรณีสุดวิสัย

แต่ก็อย่าตื่นตระหนกไปมาก เพราะการประปาฯ บอกว่า ตอนนี้ค่าความนำไฟฟ้ายังอยู่ที่ 160-600 หน่วยอยู่

และหากน้ำกร่อยขึ้นมาจริงๆ ก็ใช่ว่าจะดื่มไม่ได้ เพียงแต่ต้องยอมรับในรสชาติที่เปลี่ยนไปบ้าง อย่างเมื่อต้นปี 2557 ที่น้ำทะเลหนุนขึ้นสูงมากในรอบ 100 ปี จนไม่สามารถบริหารจัดการน้ำดิบได้ จึงเกิดปรากฏการณ์น้ำประปาเค็มหลายชั่วโมงติดต่อกัน คนเมืองเลยได้ลิ้มรสน้ำประปาที่ต่างไปจากเดิม แต่ขณะนั้นการประปานครหลวงก็ยืนยันว่า คุณภาพน้ำยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

จากค่าความนำไฟฟ้าที่เฝ้าดูกัน ตอนนี้ยังไม่ต้องเป็นห่วงว่า น้ำจะเค็ม ...แต่ถ้าน้ำเกิดจะเค็มขึ้นมาจริงๆ ก็ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะจะมีผลกระทบต่อชีวิตเราน้อยมาก

“ถ้าเป็นการใช้งานปกติ ไม่มีผลกระทบอะไรกับเรา เช่น ล้างหน้า ซักผ้า ทำกับข้าว แต่ทำกับข้าวอาจจะมีผลเรื่องความเค็มเล็กน้อย แล้วก็สมมติแปรงฟันบ้วนปากก็อาจจะรู้สึกได้ว่ามันกร่อย ถามว่ามีผลอะไรไหมกับสุขภาพ คำตอบคือไม่มี” ผศ.ดร.บุณยฤทธิ์ ปัญญาภิญโญผลรองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูล

ลองคิดดูว่า เราสามารถกินอาหารที่ปรุงด้วยเกลือหรือน้ำปลาได้ น้ำกร่อยที่เกิดขึ้นซึ่งเค็มน้อยกว่านั้นหลายเท่า จึงไม่น่าส่งผลอะไรต่อสุขภาพของเราเลย

หรือเวลาที่เราเล่นน้ำทะเล เราสามารถแช่น้ำเค็มอยู่ได้นานๆ ก็ไม่เป็นอะไร ฉะนั้น การจะอยู่กับน้ำกร่อยบ้าง ก็คงไม่ได้มีผลกระทบอะไร

ยกเว้นก็แต่... ถ้าบ้านไหนยังใช้ท่อน้ำที่ทำด้วยเหล็ก ก็อาจจะมีผลต่อสภาพการใช้งานบ้างถ้าน้ำค้างอยู่ในท่อเป็นเวลานาน

ทีนี้ถ้าถึงเวลาน้ำกร่อยจริงๆ แล้วใครไม่อยากลิ้มรสเค็มๆ หน่อยๆ ของน้ำ สามารถใช้ “เครื่องกรองน้ำ” กรองความเค็มออกไปได้ แต่ต้องเป็นเครื่องที่ใช้ระบบ RO (Reverse Osmosis)

"บ้านไหนที่ใช้ระบบ RO จะไม่รู้สึกเลย มันจะกรองน้ำกร่อยออกได้หมดเลย อย่างเครื่องที่เป็นตู้น้ำหยอดเหรียญส่วนใหญ่ก็เป็นระบบ RO เหมือนกัน ผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็จะไม่รู้สึกน้ำกร่อยจากน้ำประปา” ผศ.ดร.บุณยฤทธิ์ให้ข้อมูล โดยถ้าเป็นเครื่องกรองน้ำอีกรูปแบบเป็นท่อคู่ หรือระบบสารกรองคาร์บอน-เรซิน จะกรองความเค็มออกไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางการแพทย์บอกว่า น้ำกร่อยอาจมีผลกระทบต่อกลุ่มคนบางกลุ่ม อย่างเด็กทารกแรกเกิด ถึง 6 เดือน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต หรือผู้ป่วยที่แพทย์ให้ควบคุมอาหารสเค็ม แต่ในคนปกติ จะไม่มีปัญหา เนื่องจากร่างกายสามารถกำจัดเกลือออกได้หากได้รับมากเกินไป

 

ใช้น้ำแบบไหนดี

พอได้ข่าวว่า จะแล้ง น้ำก็จะกร่อย หลายบ้านก็เตรียมตุนน้ำเก็บไว้เผื่อวันที่ขาด อย่างร้านค้าที่ขายน้ำดื่ม ก็เริ่มๆ มีสั่งน้ำเก็บเข้าร้านไว้บ้าง เพราะได้ยินคำเตือนให้ระวังน้ำกร่อย

“มันจะขาดแคลนน้ำก็เลยตุนไว้ ปีที่ผ่านมา ไม่ต้องตุนเยอะขนาดนี้” เสียงจากเจ้าของร้านค้าปลีกย่านนวมินทร์ โดยเขาบอกว่า ขนาดน้ำที่สั่งไว้เยอะที่สุด คือขวดกลางขนาด 7-8 บาท เพราะเป็นขนาดที่ผู้บริโภคจะซื้อมากที่สุด

ขณะที่ เจี๊ยบ ซึ่งอาศัยที่ย่านลาดกระบังก็เล่าว่า หลังจากดูข่าวเตือนคนกรุงฯ ว่า จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แม่ของเธอ ซึ่งอยู่บ้านทั้งวัน เปิดทีวีดูข่าวเช้ากลางวันเย็น ก็เริ่มกังวลเรื่องภัยแล้ง เพราะมีประกาศเตือนว่า จะส่งผลกระทบกับชาวกรุงเทพฯ แน่นอน แล้วยิ่งไม่กี่วันต่อมา ปรากฏว่า ที่บ้านน้ำไม่ไหล แม่จึงตัดสินใจไปซื้อถังพลาสติกขนาดความสูงเท่าเอวกลับมาไว้สำรองน้ำจำนวน 8 ถัง เท่านั้นยังไม่พอ ในวันรุ่งขึ้นยังไปซื้อแท็งก์น้ำมาเพิ่มอีก

“หมดไปประมาณ 7 พันบาทล่ะค่ะ” เจี๊ยบเล่ายิ้มๆ

แม้การกักตุนน้ำจะเป็นวิธีแรกๆ ที่คนนึกถึง แต่ ผศ.ดร.บุณยฤทธิ์ ก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยว่า "ถ้าจะรองเก็บไว้เพื่อบริโภค ควรจะนำไปต้มก่อน”

"จริงๆ การประปาเขาก็จะบริหารจัดการน้ำดิบแน่ๆ อยู่แล้วด้วยวิธีการดึงน้ำกับช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง การฆ่าเชื้อโรคก็ต้องมั่นใจว่าเขาใส่คลอรีนอยู่แล้ว เรื่องคุณภาพความสะอาดเขาดูแล แต่เรื่องความเค็มเขาบำบัดไม่ได้ ฉะนั้นการรองน้ำเก็บไว้นั้น น้ำที่ออกจากท่อมันมีคลอรีนฆ่าเชื้อโรคในน้ำ เมื่อชาวบ้านหรือผู้บริโภคเอามาใส่ถังไว้ สมมติ 1 เดือนแล้วนำมาใช้ มันอาจจะเกิดการปนเปื้อนจากภายนอกหรือภายในภาชนะที่ใส่ ดังนั้นก็ควรจะนำไปต้มก่อน” ผศ.ดร.บุณยฤทธิ์อธิบาย

สำหรับคนกรุง “ภัยแล้ง” อาจเป็นแค่ความยุ่งยากที่ผ่านเข้ามาและทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปบ้าง แต่ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องพึ่งพา “น้ำ” เพื่อเลี้ยงชีพ แม้สถานการณ์ภัยแล้งจะเริ่มมีหวังจากฝนเหนือ แต่กว่าน้ำจะลงมาถึงคนในพื้นที่ลุ่มก็คงอีกหลายวัน การประหยัดน้ำจึงเป็นหนทางที่ทุกคนควรจะช่วยกัน

รู้ไหมว่า... การอาบน้ำจากฝักบัวจะใช้น้ำน้อยที่สุด

รู้ไหมว่า... เราสามารถนำถุงหรือขวดบรรจุน้ำให้เต็มมาใส่ถ่วงไว้ในโถชักโครกเพื่อลดการใช้น้ำได้

รู้ไหมว่า... ก่อนล้างจานถ้าเช็ดสิ่งสกปรกออกไปก่อนแล้วล้างพร้อมกัน จะประหยัดน้ำที่เปิดจากก๊อกไปนาทีละ 9 ลิตร

รู้ไหมว่า... การเปิดก๊อกไปแปรงฟันไปเราจะต้องเสียน้ำมากถึง 20-30 ลิตร ฯลฯ

  ยังมีอีกสารพัดวิธีประหยัดน้ำที่หาได้ทั่วไป ทำได้ไม่ยาก ที่สำคัญทำได้เลย ไม่ต้องรอให้ความเดือดร้อนมาถึงตัว เพราะอย่าลืมว่า แล้งไหนก็ไม่ร้ายเท่า ใจแล้ง