ดนตรีไม่มี ลิมิต(เต็ด)

ดนตรีไม่มี ลิมิต(เต็ด)

แวดวงดนตรีอินดี้เมืองไทย ได้เห็นงานโซลด์เอาท์และการเติบโตของศิลปินพาร์ทไทม์ที่มาจากเบดรูม สตูดิโอ

มีแผ่นลิมิตเต็ดขายและได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควร

ในยุคการสื่อสารของคนทำเพลงกับคนฟังง่ายขึ้น และคนฟังถูกกล่าวหาว่า เสพงานหยาบและง่ายเกินไป แต่บรรยากาศดนตรี และสถานที่ก็ต่างจากการเล่นในคลับในผับและคอนเสิร์ตฮอลล์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงดนตรีอินดี้เมืองไทย จึงได้เห็นงานโซลด์เอาท์และการเติบโตของศิลปินพาร์ทไทม์ที่มาจากเบดรูม สตูดิโอ แต่ได้เขียนเพลงบรรเลงดนตรีถูกใจคนฟัง อย่างกรณีของ Stoondio วงดนตรีที่นักกราฟฟิกดีไซน์ เอาความชอบและความสามารถในการทำเพลงมาก่อเกิดเป็นงานดนตรี มีแผ่นลิมิตเต็ดขายและได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควร

ในบ่ายแก่ๆ วันเสาร์หนึ่งในหน้าร้อนเมืองไทย บนสนามหญ้า ใต้ร่มไทร โอบล้อมด้วยร้านกาแฟและร้านหนังสือ และแกลเลอรีแสดงงานศิลปะ วงดนตรีห้าชิ้นบรรเลงเพลงที่ชวนฝัน ซาวนด์ดนตรีที่ล่องลอย เสียงร้องเบาบาง เมโลดี้ป๊อปสวยงาม คนฟังนั่งพื้นหญ้าโยกหัวเบาๆ ใบหน้าปลื้มปริ่มไปกับเสียงเพลง ก่อนจะปิดงานด้วยการเปิดโต๊ะขายแผ่นซีดีที่มีทั้งแผ่นปกกระดาษธรรมดาและแบบ ลิมิเต็ด เอดิชั่น ที่ใส่แพคเกจสวยงาม ในกล่องไม้ มีขนมและต้นไม้เป็นของแถมอีกต่างหาก

งานนั้นคืองานเปิดอัลบั้มชุดล่าสุดของวง Stoondio

ตูน-โชติกา คำวงศ์ปิน สมาชิกหลักของวง เล่าถึง จุดเริ่มต้นว่า วงที่เริ่มทำงานเพลงแรกเมื่อ 3ปีก่อน หลังจากทำงานในบริษัทเอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่ง เขียนเพลงจากการเล่นกีตาร์และอัดเสียงเอง ต่อมาได้เจอเพื่อนในที่ทำงาน ซึ่งไลฟ์สไตล์เดียวกัน ก็ส่งเพลงให้ฟัง และถูกคอกันจนคิดกันสนุกๆว่า น่าจะทำเพลงออกมาเป็นแผ่นซีดีแบบ D.I.Y ทำเพลงเอง มีภาพประกอบทำเอง มีโค้ดข้อความที่เขียนเอง ไรท์แผ่นซีดีกันเอง ออกมาแจกเพื่อนๆ ทำกันเล่นแบบขำๆ เอาเวลาเลิกงานมาทำกัน ไม่มีเดดไลน์ อัดเสียงที่บ้าน และออกแบบปกซีดี ปรินต์กันเอง แบบไม่ต้องใช้ต้นทุนมากมาย

แต่งานเพลงที่ทำแบบขำๆ อย่างที่ตูนว่า กลับกลายเป็นงานจริงจังหลังจากเพลงชื่อ Untitle ถูกเปิดในคลื่นวิทยุแฟตเรดิโอ(ปัจจุบันคือ แคท เรดิโอ) และติดชาร์ตระดับท็อป 40 มีแฟนเพลงเป็นตัวเป็นตน ต่อเนื่องด้วยการเล่นสดในงานเทศกาลดนตรีขวัญใจคออินดี้อย่าง The Last Fat Fest ที่เป็นการเปลี่ยนเฟสของ งานเทศกาลดนตรีที่เคยเป็นเวทีแจ้งเกิดวงดนตรีอินดี้ยุคที่แฟนเพลงถูกเรียกว่า “เด็กแนว” มาสู่ยุคเรดิโออินเตอร์เน็ต และงานชื่อใหม่รูปแบบคล้ายเดิมแต่เพิ่มเนื้อหาไปตามไลฟ์สไตล์ คนที่แสวงหาศิลปะกับดนตรี ที่มีชื่อเรียกใหม่ว่า “ฮิพสเตอร์”

สำหรับ Stoondio ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนั้น ก็เป็นจุดเปลี่ยนของงานเพลงขำๆ มาเป็น การทำเพลงขายซีดีแบบธุรกิจขนาดเล็ก จาก 30-40 แผ่น ที่ไรท์เองมาสู่ระบบ “ธุรกิจดนตรี” มีทั้งการทำมาสเตอร์ถูกต้องตามระเบียบ การวางแผนการตลาดที่รองรับงานเพลง และการผลิตแผ่นซีดี ปล่อยเพลงดาวน์โหลด โดย ตูน โชติกา คนแต่งเพลงของวงและเธอเป็นคนเล่นคีย์บอร์ด กีตาร์และร้องนำ ให้เครดิตของผู้ชักนำอย่าง ปอย อดีตสมาชิกวงพอร์ตเทรต (วงอินดี้ขวัญใจยุคแนว) ที่เป็นโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลง ที่ช่วยต่อกระแสเพลงทำแค่ขำๆ ให้เป็นเพลงจริงจัง จากการติดต่อขอเพลง เสียดาย ที่ทางวงปล่อยทางยูทูบ ไปทำในอัลบั้มของเขา จึงเกิดการแลกเปลี่ยน โดยปอย พอร์ตเทรต ก็มาช่วยดูแลงานโปรดักชั่นเพลงของตูนให้เป็นงานสำเร็จเป็นอัลบั้ม EP ชุดแรก Lost Unfound และเติบโตต่อมาถึงอัลบั้ม Plural ล่าสุด

นอกเหนือจากหาผู้ฟังของวงเจอ ได้แนวเพลงที่เรียกว่า “ดรีมป๊อป” ผสมกับแนวทดลองเสียงต่างๆ (วงฮิตในแนวนี้ส่วนใหญ่มาจากแถบสแกนดิเนเวีย) และยังมี “พื้นที่” ที่เหมาะเจาะกับสไตล์การบรรเลงแบบ นั่งฟังเสียงเบาๆ และตั้งใจฟังอย่างมีสมาธิ บรรยากาศใต้ร่มไม้ ได้พอดิบพอดี

“เราเดินไปเจอแจม แฟคตอรี ก็ชอบและเกิดไอเดีย อยากเล่นใต้ต้นไทร อยากเล่นไลฟ์ในที่แบบนี้ และเพลงของเราก็แนวชัดอยู่แล้ว คิดว่าเหมาะกับสถานที่แบบนี้ ก็ติดต่อเสนอพรอพโพซัลไป ติดต่อกับทางแจมฯ อยู่ประมาณเกือบปีจึงได้เกิดงานเปิดอัลบั้มที่นั่น” ตูน บอก

พื้นที่ ศิลปะกับดนตรี

พิมพิมล พิมพ์งาม Artist Management และผู้ก่อตั้ง Mind the Gap ให้ความเห็นต่อ วัฒนธรรมดนตรีสดในสถานที่นอกผับบาร์ ที่เป็นพื้นที่ของงานศิลปะ ทั้งแนวแกลเลอรี่และ สถานที่ที่ตั้งตัวเป็นครีเอทีฟสเปซ ให้คนมาเสพศิลป์และฟังดนตรีจากศิลปินตัวจริง

“ที่จริงมันมีมาก่อนแล้ว หลังๆ เยอะขึ้น เพราะเกี่ยวข้องแนวดนตรี เพราะศิลปินดนตรีบางวง เขามีอะไรที่จะสื่อสารมากกว่าบทเพลง และมันขึ้นกับแนวดนตรีด้วย และผู้จัดจะมองถึงคนเล่นดนตรีที่มีงานศิลปะต่างๆ เอาดนตรีไปใส่ในงานมากขึ้น ปัจจุบันนี้ก็มีศิลปินแนวนี้พอสมควรที่จะเล่นได้ เมื่อก่อนอาจจะมีร็อคๆ เสียงดังไป งานศิลปะกับดนตรี มันไปด้วยกันหมด ที่งานไหนมีศิลปะ มันก็มีดนตรีด้วย อย่างมีงาน(เทศกาล)หนังเงียบ ประกอบดนตรีสดที่ สกาล่า เราก็ได้เห็นงานแบบนี้เกิดขึ้นมาก หรือสายงานศิลปะ(ทัศนศิลป์)คนทำงานศิลปะที่เอาดนตรีมาประกอบด้วย อย่างเท่าที่รู้ มีช่างภาพ ก็เอาดนตรีมาเป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการของเขาด้วย”

ส่วนกรณีวงดนตรีรุ่นใหม่ของไทย ที่มีแนวแบบดรีมป๊อป เอกซเพอริเมนทอล และ ใช้วิธีการเปิดอัลบั้มกับเล่นสดในพื้นที่ที่เป็นครีเอทีฟสเปซ อย่าง JAM Factory นั้น พิมพิมล มองว่า เป็นการสมรสกันระหว่างแนวดนตรี บรรยากาศ และคนฟัง

“ในสถานที่แบบนั้น เหมาะกับดนตรีนั้น อารมณ์งานกับดนตรีก็ดูส่งเสริมกันและกัน ทั้งผู้จัดเองเขาก็อยากจะเอาดนตรีแบบนั้นมาลง และคนทำดนตรีเองก็คิดว่ามันเหมาะกับแนวเขา”

จากประสบการณ์ที่จัดงานคอนเสิร์ตขนาดกะทัดรัดให้กับศิลปินที่ดูแลและวงอินดี้อื่นๆ พิมพิมล มองสถานที่ในรูปแบบที่รวมเอางานศิลปะและพื้นที่สร้างสรรค์ ร้านหนังสือ ร้านกาแฟ บางที่มีร้านอาหาร ในแง่เป็น “สถานที่แสดงดนตรีสด” ไว้ว่า

“ในมุมมองของคนจัดการแสดงดนตรี จะมองหาพื้นที่ที่ตรงกับคอนเซปต์ ในแง่สถานที่ที่เป็น compound มีทั้งอาร์ตแกลเลอรี่ มันเหมาะสมกันแค่ไหน และขึ้นอยู่กับเพื่อนบ้านด้วยว่า ขออนุญาตใช้เสียงไหม และเสียงดังรบกวนชาวบ้านหรือเปล่า อุปกรณ์เครื่องเสียงจะต้องให้เหมาะกับพื้นที่ ไม่งั้นจะเป็นฆ่าวงได้เหมือนกัน อาจจะมี Noise Market งาน Free Market มีดนตรีแจมๆด้วย อย่างที่ HOF ART หรืออย่างงานที่ JAM FACTORY ดนตรีที่เขาเลือกก็จะเป็นเอกซเพอริเมนทอล แนวซูเกต์ ไป เสียงไม่อึกทึกมากนัก หรือวงร็อคเสียงเฮฟวี่เมทัล ที่มีสไตล์งานเป็นการนำเสนอคอนเซปต์แบบการแสดงศิลปะ เขาก็เหมาะกับสถานที่แบบอาร์ตสเปซเหมือนกัน พื้นที่เปิดมากๆ การรับรู้ของคนไม่เท่ากัน ถ้าเป็นพื้นที่ศิลปะ วงที่เข้าไปอยู่ในนั้น ก็จะมีคนตั้งใจฟัง ซึมซับเพลงมากกว่า มีคนเปิดใจรับฟังดนตรีใหม่ได้มากกว่านะ”

พิมพิมล และ Mind the Gap เป็นผู้จัดอีเวนท์ทางดนตรีและบริหารวงดนตรีอินดี้(นอกค่ายใหญ่)ของไทยอย่าง Abuse the Youth ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

ลิมิตเต็ด เอดิชั่น

สิ่งที่ Stoondio ประสบความสำเร็จใน “กรอบ” ที่วางไว้ รวมถึงสามารถผลิตแผ่นซีดี พร้อมแพคเกจทีเป็นลิมิตเต็ด เอดิชั่น (กล่องไม้ใส่ซีดี) ซึ่ง ตูน-โชติกา บอกว่า เป็นผลลัพธ์ของการดึงประสบการณ์ในการทำงานประจำในแวดวงเอเยนซี่โฆษณา ซึ่งครอบคลุมทางด้านการประเมินศักยภาพและต้นทุนที่เหมาะสมกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ได้แม่นยำพอ ทำให้งานซีดีอัลบั้มราคาแพคเกจราคา 1 พันกว่าบาทนั้น ขายได้ในแบบไม่ขาดทุนและได้ยอดขายตามเป้าที่ตั้งไว้

แม้ว่าจะเป็นยุคที่การขายแผ่นซีดีเป็นเรื่องยากลำบากมากกว่าเดิม

“เราทำงานมาด้านนี้ เรานึกภาพออกได้ง่ายว่า นอกจากพาร์ทดนตรีแล้ว เราควรจะทำอะไรให้มันอิ่ม ควรจะมีภาพวาดแบบไหน ควรจะเป็นกล่องไม้ไหม เป็นกระบวนการทำงานที่เรามีทักษะด้านนี้อยู่แล้ว และเราพอรู้ว่าทำ 500 แผ่น ล็อตนี้ขายหมดในเวลารวดเร็ว” โชติกา เล่า

“ตูนว่าการทำของเป็น rare items มันก็คือความรู้สึกพิเศษ และอีกอย่างคือตูนไม่มีปัญหาเรื่องปากท้อง เพราะเรามีงานประจำอยู่แล้ว และการใช้วิธีล็อคเงิน จากอัลบั้มแรกได้มาเท่านี้ เราก็คิดแบบเอาเงินต่อเงิน ว่าควรจะต้นทุนเท่าไร มันคือการลงทุน เงินที่ลงในซีดีชุดต่อมา ได้ก็ได้ เสียเราก็ไม่เสียหาย มันเป็นเงินที่พร้อมเสีย และยังมีจุดที่เราทำได้คือ ได้เงินจากตรงนี้ไปลงต่อกับต้นทุนตรงนั้น แบบไม่ต้องเสียทีเดียวทั้งหมด”

มัดหมี่ -สุภารัศมิ์ จันทรโชติ แฟนเพลงดนตรีอินดี้ในวัยเฟิร์สจ็อบเบอร์ ได้สะท้อนพฤติกรรมเสพดนตรีคนรุ่นยี่สิบเศษว่า เธอติดตามงานของศิลปินในสถานที่ต่างๆ และอุดหนุน “แผ่นซีดี” ของศิลปินที่เธอชอบด้วย

“ก็ตามไปดูเรื่อยๆ อย่างงาน เห็ดสด ของ ฟังใจ (เทศกาลดนตรีขนาดกะทัดรัดของค่ายฟังใจ) ดูจากไลน์อัพ (รายชื่อวงที่มาเล่น) ที่เราชอบ จัดที่ Voice Space เป็นฮอลล์ใหญ่ อินดอร์ มีที่จอดรถ แบ่งเป็นสัดส่วนดีค่ะ ส่วนงานที่เขาจัดเอาท์ดอร์ ที่เคยไปก็มีงานจัดที่ อู่ต่อเรือ กรุงเทพฯ ซึ่งมันเป็นคนละฟีล อย่างงาน เห็ดสด คนจะตั้งใจไปดูคอนเสิร์ต แต่งานมาร์เก็ต คนก็จะไปซื้อของด้วย ดูดนตรีฟรี จริงๆ มัดหมี่ชอบบรรยากาศของงานแบบเฟสติวัล งานแบบบิ๊กเมาเท่นที่เป็นงานใหญ่ก็ไปนะ คือชอบ ที่ได้ไปอยู่ในสถานที่ที่คนชอบแนวเดียวกัน และเฟสติวัลเป็นงานวาไรตี้ที่ได้เห็นวงดนตรีหลากหลาย และได้ดูความตั้งใจของศิลปินแต่ละวงที่มางาน แนวไม่เหมือนกัน”

ความสนใจของมัดหมี่ เริ่มฟังเพลงอินดี้มาตั้งแต่เรียนตอนม.3 แต่เริ่มออกไปติดตามดูงานคอนเสิร์ตในช่วงมหาวิทยาลัย เพราะมีกลุ่มเพื่อนและอยู่ในวัยที่ไปไหนมาไหนเองได้

“หลังๆ เรามีช่องทางที่จะเข้าถึงวงดนตรีเยอะมาก วงใหม่ๆ เต็มไปหมด เราก็สนใจ หลังๆมันมีช่องทางเข้าถึงวงดนตรีอินดี้ที่เขาทำเองมากขึ้น ทั้งทางเฟซบุค Soundcloud และ You tube ประมาณนี้ค่ะ ถ้าไปดูงานเล่นสดก็จะเลือกจากไลน์อัพ (วงที่มาเล่น) และดูวันที่ สถานที่ ไปได้ไหม ถ้าไปเสาร์อาทิตย์ ก็โอเค เพราะตอนนี้ทำงานแล้วค่ะ”

แฟนเพลงวัยยี่สิบต้น คนนี้ยังให้ความเห็นถึงรูปแบบการเสพงานเพลงของเธอว่า เธอเน้น “ฟังเพลง” จาก “ช่องทางอื่นๆ” ที่เป็นรูปแบบดิจิตอล และออนไลน์ต่างๆ ขณะที่ยัง “ซื้อแผ่นซีดี” เพื่อเก็บ ไม่ใช่เพื่อฟัง

“วงรุ่นใหม่ที่ออกมาจะโหลดทาง iTunes จะปล่อยเป็นซิงเกิ้ลค่อนข้างเยอะ เราก็ซื้อแผ่นซีดีซิงเกิ้ลบ้างบางวง อย่างวงสมเกียรติ เราก็ซื้อแผ่นซิงเกิ้ลเก็บนะ ถ้าศิลปินที่ชอบ มีแผ่นออกมา หมี่ก็ซื้อนะ อย่างหมี่เป็นคนซื้อแผ่น(ซีดี)แต่จะไม่แกะแผ่นมาฟัง จะเก็บไว้อย่างนั้น มันสวยดี เป็นการสนับสนุนศิลปิน เขาอุตส่าห์ทำออกมา และเขาจะได้ผลิตงานต่อไป แต่ก่อนมีวงฟลัวร์ตามเก็บครบทุกอัลบั้ม เวอร์ชั่นคาราโอเกะก็เก็บเหมือนกัน”

ขณะที่ พิมพิมล จาก Mind the Gap ให้ความเห็นต่อการปรับกลยุทธขายซีดี แบบ limited Edition ว่า

“วงอินดี้จะมีแฟนประมาณหลักพัน ถ้าอยู่มานาน ก็อาจจะถึงหลักหมื่น ศิลปินก็อยากให้คุณค่าของตัวงาน คอนเซปต์อัลบั้ม ทำปกแผ่นซีดี ก็เป็นงานอาร์ตครีเอทีฟงานหนึ่งเหมือนกัน การจะปล่อยอัลบั้มปล่อยโหลดดิจิตอล ก็ดูเหมือนไม่ฟินน่ะ ศิลปินทุกคนคงอยากทำอัลบั้มที่จับต้องได้ และอยากให้แฟนจับต้องได้ บางคนซื้อซีดีมาเก็บไว้ แต่ตอนฟังอาจจะฟังจาก iTunes งานซีดีกลายเป็นของสะสม ทั้งดีไซน์ และตัวศิลปินเองก็อยากทำ และแฟนเพลงก็อยากได้ด้วย เมื่อไม่อยากเสี่ยง จึงออกมาเป็น limited Edition มันบาลานซ์กันนะ อย่างน้อยศิลปินยังได้ออกผลงานมาจริง และได้ประมาณตนว่า ปั๊มซีดีมาเท่านี้แหละพอดีขาย และทรีตมันให้มีคุณค่าด้วย ส่วนตัวคิดว่า มันก็ดีนะ กลายเป็นศิลปะที่น่าสนใจ เพราะมันก็มีกลุ่มคนที่ตามล่าหาแผ่นซีดีของศิลปินที่เขาชอบเหมือนกัน เพราะเริ่มหายาก เนื่องจากศิลปินไม่อยากเสี่ยงวางแผ่นซีดีเยอะๆ แล้ว และมีบางศิลปินบางอัลบั้มแผ่นซีดีเก่ากลายเป็นสินค้าฮ็อตในตลาดมือสอง ที่โลกออนไลน์ก็เปิดให้คนตามหาได้ง่ายขึ้นด้วย”

พิมพิมล ยังให้ความเห็นต่อ แนวของดนตรีอินดี้รุ่นใหม่ว่า ที่จริงมีวงเกิดใหม่ทุกแนวทุกแบบ เราได้เห็นแนวต่างไปจากร็อคและป๊อป เพลงท่อนฮุค อย่างดรีมป๊อปชัดขึ้น เพราะเหตุผลเรื่องเทคโนโลยี ทำให้ช่องทางการรับรู้มากกว่ายุคก่อน

การเกิดวงแนวนี้ เป็นตามยุคและเวลา วัย 20-25 ปี จะเป็นนักดนตรี อาจมาจากอิทธิพลของการทำเพลงของคนยุคนี้ 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นดรีมป๊อป อินสตรูเมนทัลที่เยอะขึ้น สมัยก่อนก็มีคนทำ แต่การรับรู้ไม่แพร่หลาย สมัยนี้เทคโนโลยีการสื่อสาร ศิลปินทำเซลฟ์โปรโมทได้ตลอดเวลา ทำให้คนได้รู้จักวงดนตรีและซาวนด์ที่เคยอยู่ตามซอกตามหลืบ ทำให้ได้เห็นมากขึ้น"