เฮือกสุดท้าย เรือนตายผู้ป่วยเอดส์

เฮือกสุดท้าย เรือนตายผู้ป่วยเอดส์

ลมหายใจรวยรินของวัดโคกร้าง จ.ร้อยเอ็ด เมื่อเจ้าอาวาสเกิดอาพาธ เงินทองฝืดเคือง

จนไม่รู้ว่าเรือนตายที่ผู้ป่วยโรคเอดส์หวังจะฝากชีวิตไว้ ระหว่างคนกับวัดใครจะไปก่อนกัน

ณ บ้านรวมน้ำใจผู้ป่วยเอดส์ร้อยเอ็ด ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดโคกร้าง ต.สวนจิก อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด ที่นี่ถือเป็นเรือนพักที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งของผู้ป่วยโรคเอดส์

แม้จะต่างที่มา ต่างเรื่องเล่า แต่ที่เหมือนกันคือ พวกเขาทั้ง 47 ชีวิตในรั้วแห่งนี้ ล้วนหวังจะอยู่ที่นี่ ตายที่นี่ และเผากันที่นี่ ..ที่เมรุของวัด

 

อด

  บ้านรวมน้ำใจผู้ป่วยเอดส์ร้อยเอ็ด ดำเนินการดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์มานานเกือบ 20 ปีแล้ว โดยมี พระครูสมุห์อุทัย กิตติโก เจ้าอาวาสวัดโคกร้างเป็นผู้อุปถัมภ์และก่อตั้งศูนย์รองรับผู้ป่วยเอดส์เมื่อปี 2539 โดยที่ผ่านมาพระครูฯ เป็นคนรับผิดชอบหาเงินมาดูแลข้าวปลาอาหารตลอดมา กระทั่งเจ้าอาวาสเกิดอาพาธหนัก ทำให้ภาระที่ท่านเคยแบกรับทั้งหมด ถูกปลดลงเพื่อหาคนช่วยเหลือ แต่ก็ยังไม่มีวี่แวว ซึ่งส่งผลกระทบกับคนที่อาศัยอยู่ในศูนย์แห่งนี้ด้วย

เมื่อพระครูฯ เริ่มมีอาการอาพาธหนักจากหลายโรครุมเร้า ทั้งโรคปอด ไขมันอุดตันเส้นเลือดในสมอง ความดัน เบาหวานตั้งแต่ปลายปี 2556 กระทั่งกลายเป็นอัมพาตและต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดตั้งแต่ต้นปี 2558 จนถึงปัจจุบัน

ผ่านมาครึ่งปี ผลกระทบต่อผู้ป่วยเอดส์ที่พักพิงอยู่ในศูนย์ผู้ป่วยเอดส์แห่งนี้เริ่มมองเห็นชัดเจน เพราะเมื่อหลวงปู่ป่วยอ่อนแรงลง กระแสศรัทธาจากญาติโยมที่เคยให้การช่วยเหลือศูนย์เอดส์แห่งนี้ก็พลันลดน้อยลงไปด้วย เลยกลายเป็นวิกฤตชีวิตรอบใหม่ซ้ำเติมชีวิตผู้ป่วยเอดส์ในบ้านรวมน้ำใจ เมื่อเงินทอง สิ่งของ ข้าวสาร อาหารแห้งที่เคยมีคนมาทำบุญน้อยลง การปันส่วนที่เคยมีมาให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ก็น้อยตาม

นี ผู้ป่วยเอดส์ที่อาศัยอยู่วัดนี้มานาน เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า เดิมที่ศูนย์แห่งนี้มีผู้ป่วยอยู่รวมกันกว่า 60 คน โดยก่อนหน้านี้มีผู้ป่วยที่ศูนย์ฯ เคยได้เบี้ยยังชีพถึง 20 คน เงินดูแลผู้ป่วยเอดส์ ผู้พิการได้อีก 4 คน ซึ่งนำมารวมกันเพื่อเป็นรายได้มาจุนเจือคนอื่นๆ ด้วย ผนวกกับการดูแลของหลวงปู่ด้านอาหารการกิน ก็พออยู่กันได้

แต่หลังจากหลวงปู่อาพาธ ก็เริ่มขัดสน แรกๆ ก็พอทน นานเข้าก็ทนสภาพไม่ไหว เงินที่ได้ต้องมาซื้อกินก็ไม่พอ ในที่สุดหลายคนทนความอัตคัตไม่ไหวหนีออกไปทำมาหากินเอง มีบางส่วนที่ตายไป และส่วนหนึ่งต้องออกไปดิ้นรน หากิน หาเงินใช้ มีแม้กระทั่งออกไปเป็นหญิงขายบริการโดยปิดบังไม่ให้คนอื่นรู้

แม้แต่ ยายนง ที่ป่วยแถมยังมีอาการทางจิตเวช ก็ต้องออกไปขอทาน แบบคนเร่ร่อน นานๆ จะกลับมาที พอเงินหมดก็ต้องออกไปใหม่ บ่อยครั้งที่หายไปนานมาก และครั้งสุดท้ายไม่กลับมาอีก

“ผู้ป่วยในศูนย์มีทั้งหมด 3 ประเภท คือ ไม่มีญาติ ญาติทิ้ง และ ไม่มีที่ไป ล้วนได้รับผลกระทบ พอหลวงปู่ป่วยพระอื่นไม่มีใครมาดูแลเหมือนเดิม ญาติโยมเอาเงินมาบริจาค พระบางรูปรับเงินแล้วเอาเข้ากระเป๋าตนเอง แม้แต่เงินช่วยเหลือของสาธารณสุขเขต 7 อุบลราชธานี ที่ช่วยเหลือมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว เคยช่วยปีละเป็นแสน ต่อมาก็ถูกตัดความช่วยเหลือหลังจากย้ายมาอยู่ในความดูแลของสาธารณสุขเขต 6 ขอนแก่น เงินก็ถูกตัดหมด ขอไปก็ได้เพียงปีละ 1 หมื่นบาท และสุดท้ายก็ถูกตัดความช่วยเหลือ” นี เล่า

เช่นกันกับ เดือน ผู้ป่วยอีกคนที่หวังใช้ศูนย์เป็นเรือนตาย บอกว่า พอหลวงปู่ป่วย ข้าวก็ไม่มีจะกิน ไม่มีคนมาวัด ข้าว และอาหารแห้งก็หมด เงินก็ไม่มี อาหารแห้งที่คนมาบริจาคก็หมด จะไปหาหมอก็ไม่มีเงินค่ารถ จ้างรถก็ครั้งละ 100 บาทเพื่อจะเดินทางไปหาหมอเพื่อรับยาที่โรงพยาบาล ลงท้ายเดือนและเพื่อนๆ รวมถึงผู้ป่วยที่ตาบอดก็ต้องจูงกันเดินเท้าไปรับยาที่โรงพยาบาลศรีสมเด็จ ระยะทาง 6 กิโลเมตร ต้องเดินไปกลับกว่า 12 กิโลเมตร โดยไปเดือนละครั้ง

 

ดิ้นรน

"ตอนนี้ทุกสิ่งทุกอย่างหมดแล้ว ต่อไปค่าน้ำ ค่าไฟก็ไม่มีแล้ว แม้แต่ข้าวที่เคยได้รับครั้งละ 1 - 2 กิโลกรัม ตอนหลวงปู่ไม่อยู่ก็ไม่ได้รับอีกแล้ว ต่างคนต่างก็ดิ้นรนกันเอง ตอนนี้บางคนก็เลี้ยงไก่ที่ชาวบ้านนำมาปล่อยขยายพันธุ์เลี้ยงไว้กินประทังชีวิต ทำอาหารร่วมกันเลี้ยงกันทั้งศูนย์ และส่วนหนึ่งก็ขายหาเงิน แต่ไปขายเองไม่ได้ เพราะสังคมก็รังเกียจ ต้องให้คนกลางเอาไปขายจึงได้เงินมา บ่อเลี้ยงปลา 4 บ่อ ที่เคยมีปลาตอนนี้ก็ทิ้งร้าง เพราะไม่มีคนหาพันธุ์ปลามาให้เลี้ยง ทุกอย่างดูตีบตันไปหมด” เดือนเล่าถึงวันข้างหน้าที่ยังมองไม่เห็นหนทาง

ไม่ต่างกันกับ ไก่ สาวประเภทสองที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ 12 ปี บอกความรู้สึกว่า ตอนนี้เปรียบเทียบเหมือนถูกลอยแพ พอหลวงปู่ป่วย ไม่มีกิจนิมนต์ ไม่มีคนมาวัด เพราะทุกคนอาศัยของเหลือจากวัด บางคนก็ไปเดินช่วยถือของออกบิณทบาตรกับหลวงปู่ก็พอได้สิ่งของติดไม้ติดมือกลับมา

หลังจากเงินก้อนสุดท้ายที่หลวงปู่ทิ้งไว้หมดลงไปเมื่อเดือนมิถุนายน และพวกเขาได้รับเงินจำนวน8 พันบาทจากผู้ใจบุญมาช่วยต่อลมหายใจให้ยืดเวลาไปอีกนิดหน่อย แต่ทั้ง 47 ชีวิตต่างรู้ดีว่า ลำพังเงินจำนวนนี้ยังไม่เพียงพอ

เพราะนอกจากนอกจากนั้น ยังมีสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงที่คนนำมาปล่อย ซึ่งกลายเป็นภาระด้วย

“ตอนนี้คนที่มีญาติพี่น้องส่งให้ก็พออยู่ได้ แต่คนที่ไม่มี ก็ดิ้นรน ไปทำงานก็บอกไม่ได้ว่าเป็นเอดส์ พอบอกก็ให้ออก เลิกจ้าง ทางออกคือบางคนผ่าฟืนขาย บางคนก็จับกลุ่มกันเผาถ่านขาย เพื่อประทังชีวิต เพราะไปไหนไม่ได้ แต่ก็ทำไมได้ทุกคน บางคนอายุมาก อ่อนแอ ทำอะไรไม่ได้ต้องรอการช่วยเหลืออย่างเดียว ตอนนี้บางคนข้าวจะไม่มีกินแล้ว ก็เป็นภาระที่ต้องดูแลกัน”

สำหรับใครที่พอจะมีกำลังก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือในการหารายได้มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง อย่างเช่น จุ้ย ซึ่งตอนนี้หันไปยึดอาชีพเผาถ่านขายก็เล่าว่า ตนเองอ่อนแอ ทำงานหนักไมได้ ต้องพักบ่อยๆ ไปทำงานข้างนอกไม่ได้ ตอนนี้ยึดอาชีพเผาถ่านกับเพื่อนอีกคน พอเหนื่อยก็พัก แล้วค่อยทำต่อ ก็จำเป็นต้องสู้ไปเพื่อเอาชีวิตรอด เผาถ่านได้ 7 วันต่อเตา ขายได้ประมาณ 300 บาท เอาเงินมาแบ่งกันหารกันเพื่อซื้อข้าวกิน และก็ช่วยเหลือคนอื่นที่ไม่มีกินที่อยู่ด้วยกันไปด้วยในคราวที่จำเป็น ต้องสู้เพราะไม่มีอะไรทำ เพื่อให้มีเงินซื้อข้าวกิน และต้องซื้อทุกอย่าง ต้องดิ้นรนไปเท่าที่จะทนได้ ไปไหนไม่ได้ ไม่มีญาติ ในขณะที่คนอื่นมีญาติ แต่ญาติรังเกียจ ก็ต้องอยู่ร่วมกันที่นี่

 

วันข้างหน้า

สำหรับสถานะทางการเงินของศูนย์ฯ ในตอนนี้ แม่เก๋ ผู้ดูแลและเป็นที่ปรึกษาของผู้ป่วยทุกคนที่ศูนย์แห่งนี้ บอกว่า 40 กว่าคนที่เหลือ บางคนมีญาติก็มีการส่งเงินมาบ้าง บางคนก็ 500 บางคนก็ 1,000-1,500 บาท คนที่ไม่มีญาติก็อยู่กันไปตามสภาพ ที่ย้ายทะเบียนมาก็ใช้เงินเบี้ยยังชีพ500 บาทประทังชีวิตกันไป

บางทีมีของมาก็แบ่งปันกัน แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว เงินก้อนสุดท้ายที่ได้รับการแบ่งปันจากหลวงปู่ตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือกันเองจากเงินผ้าป่าก็หมดลง แน่นอนว่า ปัญหาที่ตามมาหากหาเงินเพิ่มไม่ได้ก็คงต้องถูกยุบศูนย์ ซึ่งแน่นอนว่า ทุกคนต้องได้รับความเดือดร้อนหมด

“ทุกคนล้วนถูกทอดทิ้ง กลับบ้านไม่ได้ ไม่มีที่ไป สังคมรังเกียจ ต้องมาอาศัยอยู่ที่นี่ ถึงวันนั้นที่ต้องยุบศูนย์ไปทุกคนจะไปอยู่ไหนยังคิดไม่ออก ตอนนี้คนที่ไม่มีที่ไปต่างก็จำยอมเตรียบรับสภาพ คือจะขออยู่ในศูนย์ต่อไปก่อนแบบไม่มีไฟใช้ เพราะไม่รู้จะไปไหน ถึงศูนย์ฯ โดนยุบก็จะอยู่ต่อ และจะรวมกลุ่มกัน โดยจะทำหน้าที่กำกับดูแลให้ทุกคนอยู่ด้วยกันที่นี่ และไม่อยากให้ทุกคนออกไป เพราะหากออกไปไม่เพียงแต่จะสร้างปัญหาต่อสังคม อาจจะยิ่งก่อปัญหา และที่สำคัญไม่อยากให้มีคนป่วยเพิ่มขึ้นเพราะการที่พวกเราออกไปข้างนอก แล้วเอาเชื้อโรคร้ายไปด้วย กลับจะยิ่งเป็นการก่อบาปให้เกิดขึ้นในสังคม” แม่เก๋ บอก

ในขณะที่ฝ่ายปกครองที่ดูแล และเฝ้าดูศูนย์ฯ อย่าง เสาร์ ชาญชำนิ ผู้ใหญ่บ้านหนองไฮ หมู่ 3 ที่รับหน้าที่ดูแลศูนย์แห่งนี้แทนหลวงปู่ บอกว่า ปัจจุบันที่นี่เหมือนหมู่บ้านๆหนึ่ง ที่เขาหรือคนป่วยผูกพันกันมานาน จนส่วนหนึ่งย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ที่บ้านเลขที่ 16 ที่เป็นบ้านหลังใหญ่ เหมือนหมู่ที่ 16 ในความรู้สึกของเขาและแม้แต่ชาวบ้านโดยรอบยังยอมรับว่าเหมือนเป็นหมู่บ้านๆหนึ่ง ส่วนหนึ่งย้ายมาได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบื้ยคนพิการ และอย่างอื่น

ส่วนหนึ่งไม่ย้ายมาแต่มาอาศัยอยู่ชั่วคราว โดยมีสวัสดิการอื่นรองรับที่ภูมิลำเนาของเขาที่ต้องไปรับทุกเดือน และยังไปๆ มาๆ และนอกจากนั้นคืออีกส่วนหนึ่งที่ไม่รู้ว่าบ้านอยู่ที่ไหน แต่ทุกคนที่มาอาศัยล้วนผูกพันกับการได้อยู่ที่นี่ หลายคนอยู่เพราะไม่มีที่ไป ส่วนหนึ่งมาจากวัดพระพุทธบาทน้ำพุ หลังจากที่นั่นปิดลง หลายคนที่มาอยู่ที่นี่ ตายแล้วเผากันที่นี่ ที่เมรุของวัด และเผาโดยใช้ยางรถยนต์เก่า ที่หลวงปู่ขอรับบริจาคมาจากประชาชน เพื่อเผาศพคนป่วยที่ตาย ซึ่งมีผู้ป่วยตายที่นี่ไปแล้วกว่า 1,200 คน ตายแล้วเผาภายใต้การดูแลของหลวงปู่

ที่ผ่านมาทุกอย่างอยู่ได้เพราะอาศัยเพียงบารมีเก่าของหลวงปู่ แต่ตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว ทุกคนเริ่มรู้ปัญหาและมีการประชุมกัน เตรียมแก้ปัญหา เพราะทุกอย่างไม่เหมือนเดิม ข้าวสารเคยมีคนจากต่างจังหวัดมาช่วยเดือนละ 20 กระสอบจากจังหวัดข้างเคียง น้ำดื่มเคยมีมาให้เดือนละ 1 คันรถ เดือนกว่าแล้วที่ไม่มีของมาอีก

“หากปิดศูนย์ฯ คนก็จะไม่มีที่ไป หากไม่ปิดศูนย์ก็ไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ตอนนี้คิดได้แต่เพียงว่า หากไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ หากไม่ปิดศูนย์ หรือใครจะอยู่ต่อไป ก็เลิกใช้ไฟฟ้า แล้วให้ใช้จุดตะเกียงและใช้เทียนจุดทดแทน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หากใครจะอยู่ก็ให้อยู่ จะไล่ไปก็ไม่ได้ เพราะหลายคนไม่มีที่ไป คงต้องปล่อยให้อยู่จนเขาตายกันที่นี่” ผู้ใหญ่บ้านบอก ด้วยน้ำเสียงเศร้าหมอง

ส่วนปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นของกิน ของใช้ ผู้ใหญ่ฯเสาร์บอกว่า คงต้องค่อยๆ แก้ไขกันไป แต่ก็ยังหวังว่าจะมีคนสงสารเห็นใจ ให้การสงเคราะห์ บริจาคข้าวปลาอาหาร น้ำดื่ม มาม่า อาหารแห้ง เพื่อช่วยประทังชีวิตพวกเขาให้อยู่รอดได้ภายในศูนย์ฯ โดยไม่ออกไปสร้างปัญหาและเป็นภาระให้กับสังคมภายนอกได้

เพราะ ปากท้องคือเรื่องเฉพาะหน้าที่พวกเขายังหาทางออกไม่ได้ และหากยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็คงหมายถึง ตอนจบของศูนย์แห่งนี้ที่อาจต้องหมดลมหายใจไปในที่สุด

 

หมายเหตุ : ผู้มีจิตกุศลต้องการให้ความช่วยเหลือ สามารถเดินทางมาบริจาคได้ที่บ้านรวมน้ำใจผู้ป่วยเอดส์ร้อยเอ็ด ตั้งอยู่ที่วัดโคกร้าง ต.สวนจิก อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด ศูนย์ผู้ป่วยเอดส์ หรือบริจาคเงินโอนเข้าบัญชี กองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์(HIV.)วัดป่าศรีมงคล (โคกร้าง) บัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ 536-056-8785 ธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนราชการดำเนิน อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด