กมธ.ร่างฯตัดสิทธิปชช.หยั่งเสียงผู้สมัครส.ส.

กมธ.ร่างฯตัดสิทธิปชช.หยั่งเสียงผู้สมัครส.ส.

กมธ.ร่างฯตัดสิทธิปชช.หยั่งเสียง ผู้สมัครส.ส.คงไว้เฉพาะสมาชิกพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ วาระพิจารณาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ตามคำขอแก้ไขและข้อเสนอของภาคส่วนต่างๆ เป็นวันที่หก โดยผลการพิจารณามีประเด็นที่สำคัญ คือมาตรา 72 ว่าด้วย สิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อจำนวน 20,000 คน เพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาถึงข้อเสนอของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะความหมายของการให้สิทธิถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญได้แบ่งการถอดถอนเป็น 2 ระดับ คือ ระดับผู้ที่ยังคงอยู่ในตำแหน่ง และระดับผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งจะเรียกว่า การตัดสิทธิทางการเมืองหรือการดำรงตำแหน่งอื่น

ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ที่ประชุมจึงตกลงและปรับบทบัญญัติใหม่ว่า "บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 253 โดยอย่างน้อยคำร้องต้องระบุถึงพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำความผิดเป็นข้อๆ ให้ชัดเจนด้วย" ขณะที่ประเด็นคำนิยามของการถอดถอนบุคคลใดนั้น จะนำไปพิจารณาและกำหนดให้ชัดเจนอีกครั้งเมื่อถึงคราวการพิจารณามาตรา 253 โดยเฉพาะการถอดถอนนักการเมืองที่อยู่ในวาระดำรงตำแหน่งและนักการเมืองที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว  

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่ามาตรา 75 ว่าด้วยมาตรฐานการปฏิบัติตน และการห้ามปฏิบัติตนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้นำอื่นในภาครัฐ จำนวน 11 ข้อนั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ตัดออกทั้งมาตราและให้นำรายละเอียดไปเขียนไว้ในประมวลจริยธรรม ตามข้อเสนอของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขณะที่มาตรา 76 ว่าด้วยการบริหารกิจการพรรคการเมือง ที่ประชุมได้ใช้เวลาหารือเป็นเวลานาน ต่อข้อความในวรรคสามว่าด้วยการหยั่งเสียงก่อนจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกำหนดให้ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อต้องมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพศตรงข้ามไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม   

ทั้งนี้มีรายงานข่าวจากที่ประชุมแจ้งว่า มีกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอให้ปรับบทบัญญัติ และให้ตัดออกทั้งวรรคตามข้อเสนอของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จนทำให้มีการถกเถียงและถึงขั้นลงมติเพื่อชี้ขาด โดยผลการลงมติพบว่าเสียงข้างมาก 20 ต่อ 9 เห็นว่าให้คงบทบัญญัติดังกล่าวไว้ แต่ได้มีการปรับถ้อยคำในประเด็นการหยั่งเสียงผู้สมัครรับเลือกตั้ง

โดยกำหนดให้มีการหยั่งเสียงเฉพาะสมาชิกพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งเท่านั้น และได้ตัดการหยั่งเสียงโดยประชาชนออก เพื่อให้การบริหารจัดการทำได้ง่ายและตรงกับเจตนารมณ์ที่ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในกิจการของพรรคการเมือง และตัดการหยั่งเสียงในภาคออกเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 6 ภาคเป็นเขตเดียว คือเขตประเทศ ขณะที่วรรคท้ายของมาตรา 76 ว่าด้วยการกำหนดให้นำบริหารกิจการใช้กับกลุ่มการเมือง ที่ประชุมได้พิจารณาให้ตัดออกทั้งวรรค