วิจิตรเหนือกาลเวลา ตุ๊กตาไทย’บางกอกดอลล์’

วิจิตรเหนือกาลเวลา ตุ๊กตาไทย’บางกอกดอลล์’

“ไม่ว่ายามฝนตกหรือน้ำท่วมก็ไม่ย่อท้อ อุตส่าห์บุกไปถึงที่

...และต่างมีความพึงพอใจที่ได้ชมตุ๊กตาที่ประดิษฐ์โดยคนไทยและพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาส่วนตัวแห่งแรกในประเทศไทย” นี่คือข้อความในบันทึกของ คุณหญิงทองก้อน จันทวิมล ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์บางกอกดอลล์ พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาแห่งแรกของเมืองไทย


เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ถือกำเนิดขึ้นจากความประทับใจของ คุณหญิงทองก้อน จันทวิมล ที่ได้ติดตามสามี (อภัย จันทวิมล) ไปราชการ ณ ประเทศญี่ปุ่น และมีโอกาสเข้าศึกษาวิชาทำตุ๊กตาที่โรงเรียนโอชาวาดอลล์สกูล เมื่อสำเร็จการศึกษาจึงได้ริเริ่มประดิษฐ์ตุ๊กตาไทย โดยใช้บ้านพักส่วนตัวสำหรับการผลิตและขายตุ๊กตา ซึ่งมีทั้งตุ๊กตาชุดละครรำ ชีวิตชาวไทยในชนบท และชาวเขาเผ่าต่างๆ รวมถึงการผลิตขึ้นตามวาระพิเศษ หรือตามความต้องการของผู้สั่งทำ ซึ่งการผลิตแต่ละขั้นตอนล้วนแต่ทำด้วยมือทั้งสิ้น


ในสมัยนั้นเป็นที่กล่าวขวัญกันว่าความวิจิตรงดงามและความมีเอกลักษณ์ของตุ๊กตาบางกอกดอลล์ มิใช่เพียงการสร้างแบบที่ดูสมจริงเท่านั้น แต่ยังพรั่งพร้อมด้วยเครื่องประดับและเครื่องแต่งกายที่สวยงามลงตัว ทำให้ตุ๊กตาเหล่านี้ถูกนำไปเป็นของขวัญสำหรับบุคคลสำคัญระดับประเทศ รวมทั้งแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนเมืองไทยในหลายครั้งหลายครา


ไม่นานชื่อเสียงของตุ๊กตาบางกอกดอลล์ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ขณะเดียวกันจำนวนตุ๊กตาที่สะสมไว้ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากร้อยเป็นพัน จากพันเป็นหมื่น จึงเกิดแนวคิดในการสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อการเก็บรวบรวมและดูแลรักษาตุ๊กตาให้อยู่ในสภาพดี


“เริ่มแรกเลยพิพิธภัณฑ์บางกอกดอลล์ เมื่อก่อนไม่ได้เรียกพิพิธภัณฑ์ สิบปีมาแล้วเราเป็นที่สะสมตุ๊กตา ตุ๊กตาที่สะสมก็จะมีตุ๊กตาของเราเองและตุ๊กตาต่างประเทศ เป็นเพียงคอลเลคชั่นสะสมตุ๊กตาเพื่อเอาไว้ดูเองและเป็นตัวอย่างในการทำตุ๊กตา และที่พิพิธภัณฑ์บางกอกดอลล์มีชื่อเสียงนั้นก็เพราะเราเป็นที่แรกที่ทำตุ๊กตาไทย และทำแล้วท่ารำถูกต้อง เครื่องแต่งกายถูกต้องตามกรมศิลป์” รศ.อาภัสสร์ จันทวิมล ผู้ที่ได้สานต่อเจตนารมณ์ของคุณแม่และเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บางกอกดอลล์ในปัจจุบัน เล่าถึงจุดเริ่มต้น


นับจากวันนั้นพิพิธภัณฑ์บางกอกดอลล์ก็เปิดตัวอย่างเป็นทางการและได้อยู่คู่สังคมไทยมานานนับสิบปี จนกระทั่งตู้จัดแสดงเริ่มมีความทรุดโทรม ตุ๊กตาที่เคยสะสมไว้ไม่ได้อยู่เป็นที่เป็นทางทำให้ไม่เป็นที่น่าสนใจนัก รวมถึงผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ก็มีจำนวนน้อยลงทุกที


กระทั่งเมื่อสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้หรือมิวเซียมสยามได้จัดโครงการให้นักศึกษาแข่งขันเพื่อปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เก่าให้ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่งบางกอกดอลล์ได้ถูกคัดเลือกโดยนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯลาดกระบัง โดยเริ่มจากการสำรวจพื้นที่และพูดคุยกันระหว่างนักศึกษากับเจ้าของสถานที่เพื่อหาไอเดียว่าจะปรับปรุงตรงไหน และมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน


“ก็มีการถกเถียงกันหลายครั้ง ในการที่จะปรับปรุงว่าจะเอายังไง แต่ในที่สุดก็ยังคงรักษาของเดิมไว้ ไม่ใช่เอาใหม่มาแล้วเอาของเก่าโละออกหมด เราก็ไม่รู้ว่าจะเอาของเก่าไปไว้ไหน ทั้งนี้การปรับปรุงก็ต้องเป็นไปตามความต้องการของเจ้าของด้วย” รศ.อาภัสสร์ กล่าว


ในที่สุดหลังจากการปรับปรุงเสร็จสิ้นแล้ว พิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่จึงได้เปิดตัวแก่สาธารณะ โดยในส่วนของห้องจัดแสดง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ‘ห้องพิพิธภัณฑ์’ ห้องนี้จะมีการรวบรวมตุ๊กตานานาชาติ และตุ๊กตาที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์เอาไว้ให้ผู้มาเยือนได้เห็นถึงความสำคัญของตุ๊กตาแต่ละตัว


ถัดมาคือ ‘ห้องโชว์รูม’ ห้องนี้จะมีการจัดแสดงตุ๊กตาในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ชุดยกทัพ จากเดิมที่มีพื้นที่จัดแสดงได้ 1 ใน 3 ของชุด แต่เมื่อมีการปรับปรุงใหม่จึงสามารถนำออกมาจัดแสดงได้เต็มชุด ชุดนี้มีความสำคัญ เพราะเคยนำไปประกวดตุ๊กตาพื้นเมืองนานาชาติ ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ.2521 ณ เมืองคราคอฟ ประเทศโปแลนด์ และครั้งนั้นยังได้ส่งตุ๊กตาบางกอกดอลล์ชุดชีวิตชนบทไทยและตุ๊กตาเด็กเล่นต่างๆ ไปประกวดด้วยจนได้รับรางวัลชนะเลิศ ถือเป็นเกียรติประวัติของบางกอกดอลล์ และยังเป็นไฮไลท์ของที่นี่เลยก็ว่าได้


นอกจากนี้ยังมีการเขียนฉากหลังใหม่ ต่อเติมตู้จัดแสดงตุ๊กตา และปรับเปลี่ยนประตูทางเข้า-ออกห้องโชว์รูม รวมทั้งยังเพิ่มพื้นที่การขายของที่ระลึก โดยจัดวางสินค้าให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น


รศ.อาภัสสร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวนน้อยลง ในอนาคตผมอยากทำคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ หรือว่ามีพวกวิดีโอทัศน์แนะนำแต่ละจุดเป็นภาษาอังกฤษ เพราะลูกค้าเราส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์”


สำหรับคนไทยที่อยากรู้ว่าเอกลักษณ์ของตุ๊กตาไทยเป็นอย่างไร และร่วมภาคภูมิใจกับตุ๊กตาฝีมือคนไทย พิพิธภัณฑ์บางกอกดอลล์ตั้งอยู่ในซอยรัชฏภัณฑ์ (ซอยหมอเหล็ง) ถนนราชปรารถ กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. ยกเว้นวันอาทิตย์-วันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์