อาทิตย์อุทัยในรอยอดีต

อาทิตย์อุทัยในรอยอดีต

อำนาจที่ก่อเกิดจากความรักนั้น ทรงอานุภาพและยั่งยืน ยิ่งกว่าอำนาจที่เกิดเพราะความหวาดผวา การลงโทษเป็นพันเท่า

บางถ้อยความที่ปรากฎอยู่บนผนังห้องแสดงนิทรรศการของ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานไทย-ญี่ปุ่น ในอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน สะท้อนภาพความรักที่ยิ่งใหญ่ในยุคสงครามที่มีแต่ความโหดร้ายได้เป็นอย่างดี


“ขุนยวม” ไม่ใช่พื้นที่เดียวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และในประเทศไทย ที่กองทัพญี่ปุ่นใช้เป็นที่พักพิงกองกำลังและเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการลำเลียงสิ่งต่างๆ เข้าไปยังพม่า แต่ขุนยวมเป็นพื้นที่หนึ่งที่รอยเปียกชื้นของคราบน้ำตาถูกแปรเปลี่ยนเป็นความเอื้ออาทรและมิตรภาพระหว่างกัน


สงครามมหาเอเชียบูรพา เริ่มต้นขึ้นในเช้ามืดของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ตามเวลาในประเทศไทย ญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรืออเมริกาที่อ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ในฮาวาย แล้วขยายวงกว้างครอบคลุมทั่วเอเชีย ประเทศไทยได้รับผลกระทบเมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย และขอใช้แผ่นดินไทยเป็นทางผ่านในการโจมตีฝ่ายสัมพันธมิตรในมลายู พม่าและอินเดีย จนที่สุดไทยได้ตกลงเป็นสหายร่วมรบกับญี่ปุ่น และจัดตั้งกองทัพภาคพายัพขึ้นปฏิบัติการและเป็นปีกขวาให้ทหารญี่ปุ่น


ในระหว่างสงครามกองทัพญี่ปุ่นมีแนวคิดในการสร้างเส้นทางส่งกำลังบำรุงจากประเทศไทยไปพม่า โดยพิจารณาจากเส้นทางที่ใกล้ที่สุด คือ เชียงใหม่-ตองอู จากนั้นก็เริ่มสร้างเส้นทางจากบ้านแม่มาลัย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านอำเภอปาย อำเภอเมือง แล้วมาลงที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนจะขุดต่อไปยังชายแดนไทย-พม่าที่บ้านห้วยต้นนุ่น ข้ามสาละวินเข้าพม่าแล้วไปบรรจบกับเส้นทางย่างกุ้ง-ตองอู


การก่อสร้างเส้นทางนั้นญี่ปุ่นเกณฑ์แรงงานผู้คนในพื้นที่มาช่วยกันสร้างโดยใช้การจ้างเป็นหลัก นั่นจึงทำให้เกิดมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีต่อกันของชาวไทยกับทหารญี่ปุ่น


หลายครั้งที่ทหารญี่ปุ่นถูกกองทัพสัมพันธมิตรโจมตีจนเสียกระบวนก็กลับมาตั้งหลักที่ขุนยวมทุกครั้ง โดยมีบ้านและวัดวาอารามต่างๆ เป็นสถานพยาบาล ซึ่งรวมถึงวัดม่วยต่อ ที่มีเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญ และวัดต่อแพ ที่มีผ้าม่านประดับทับทิมอายุเก่าแก่เกือบ 200 ปี ศาสนสถานที่สำคัญของชาวขุนยวมด้วย


ชาวขุนยวมให้ความช่วยเหลือทั้งที่พัก อาหาร และการรักษาพยาบาลทหารที่บาดเจ็บทุกคน จนกองทัพแห่งแดนอาทิตย์อุทัยปลาบปลื้มในน้ำใจของชาวสยาม แน่นอนว่า คราบเลือดและความตายคือสิ่งที่พบได้เจนตา แต่มิตรภาพที่ชาวบ้านและทหารญี่ปุ่นหยิบยื่นให้แก่กันนั้นมีพลังยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใดๆ และที่นี่เองที่ทำให้คำว่า “ความรักไร้พรมแดน” เกิดขึ้นจริง


“สิบเอกฟูคูดะ ฮิเตียว” เป็นหนึ่งในทหารญี่ปุ่นที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ เขาได้รับการดูแลและรักษาโดยหมอสมุนไพรพื้นบ้านชื่อนายปั๋น จันทสีมา โดยมี “แก้ว จันทสีมา” ที่เป็นลูกสาวช่วยดูแลอยู่ไม่ห่าง และนั่นก็เป็นบ่อเกิดของความรักจนในที่สุดทั้งคู่ก็ตัดสินใจครองรักกันจนมีพยานรักเป็นบุตรชาย 1 คน ทว่า หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ได้มีเครื่องบินมารับตัวสิบเอกฟูคูดะกลับไป ถือเป็นการจากลากันครั้งสุดท้ายของคนทั้งคู่


เรื่องราวความรักของทหารญี่ปุ่นกับหญิงไทยได้รับความสนใจจากคนทั้งโลก และในขุนยวมเองต่างก็ยกให้ “ป้าแก้ว” เป็นคนสำคัญในพื้นที่ จนเมื่อมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานไทย-ญี่ปุ่น เรื่องราวของป้าแก้วก็ถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการ


สำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดม่วยต่อ เปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยก่อนเริ่มชมพิพิธภัณฑ์จะมีการฉายวิดีทัศน์ความยาวประมาณ 10 นาที เพื่อเป็นการปูพื้นความรู้ก่อนจึงจะชมนิทรรศการภายในได้อย่างเข้าใจ


ส่วนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่นำมาจัดแสดงเป็นสิ่งของที่เชื่อมโยงกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกายทหารญี่ปุ่น อุปกรณ์รบ ดาบซามูไร อุปกรณ์ในการรักษาพยาบาล ซากรถโบราณ ฯลฯ ตลอดจนนิทรรศการที่แสดงถึงความรักความผูกพันของทหารญี่ปุ่นกับชาวขุนยวม รวมถึงถ้อยความของ “ป้าแก้ว” ผู้ก่อกำเนิดตำนานรัก “คู่กรรม” เมืองไทยด้วย


...สงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าดูเสมือนโหดร้าย แต่สำหรับคนไทยอย่างพวกฉัน สงครามคราวนี้เป็นความรัก ความผูกพัน ระหว่างทหารญี่ปุ่นกับคนไทย ที่ฉันไม่เคยลืมเลือน...