ซุปเปอร์บอร์ดหนุนปฏิรูปรสก.ปิดช่องการเมืองแทรก

ซุปเปอร์บอร์ดหนุนปฏิรูปรสก.ปิดช่องการเมืองแทรก

"ซุปเปอร์บอร์ด" แนะเร่งปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เร่งออกกฎหมายกำกับดูแลเสร็จ พร้อมตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติดูแล ปิดช่องการเมืองแทรกแซง

นายบรรยง พงษ์พานิช กรรมการในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ซุปเปอร์บอร์ด) กล่าวว่า ไทยจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีความสำคัญมากในการใช้ทรัพยากรของประเทศ รายได้ของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันมีมูลค่าถึง 5.1 ล้านล้านบาท เติบโตจากช่วง 10 ปีที่มีรายได้เพียง 1.5 ล้านล้านบาทหลายเท่าตัว ทั้งนี้รัฐวิสาหกิจไทยมีทรัพย์สินรวมกันถึง 11.8 ล้านล้านบาท แต่มีกำไรรวมกันเพียง 3 แสนล้านบาท ต่ำมากเมื่อเทียบผลตอบแทนกับสินทรัพย์ (อาร์โอเอ) รัฐวิสาหกิจของไทยมีสัดส่วนไม่ถึง 3% ในขณะที่ประเทศจีนที่รัฐวิสาหกิจมีอาร์โอเอลดจาก 8% เหลือ 7% ได้ประกาศปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของจีนครั้งใหญ่

"หากไทยไม่ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในช่วงนี้และปล่อยปัญหาซุกไว้ใต้พรม ต่อไปในอนาคตอาจจะทำให้ไทยมีปัญหาวิกฤตเหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในกรีซได้ โดยเฉพาะการใช้รัฐวิสาหกิจไปดำเนินนโยบายประชานิยมของบรรดานักการเมืองที่ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจบางแห่งเกิดปัญหาขาดทุน บางแห่งเกิดหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) หลายหมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์และรัฐบาลทักษิณพยายามปฏิรูปรัฐวิสาหกิจแต่ไม่เคยทำสำเร็จ" นายบรรยงกล่าว

นายวิรไท สันติประภพ กรรมการ ซุปเปอร์บอร์ด กล่าวว่า กำลังเร่งจัดทำกฎหมายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ คาดว่าในช่วงเดือนกันยายนนี้จะสามารถเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งในกฎหมายดังกล่าวจะให้อำนาจจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ (โฮลดิ้ง) เพื่อทำหน้าที่ดูแลรัฐวิสาหกิจในลักษณะการบริหารแบบรวมศูนย์ จากขณะนี้ไทยใช้แนวทางการบริหารแบบหน่วยงานที่ปรึกษาที่มีสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ดูแลอยู่ แต่อำนาจการดูแลรัฐวิสาหกิจยังอยู่ที่กระทรวงต้นสังกัด ทำให้ที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองยังแทรกแซงรัฐวิสาหกิจได้ค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติจะมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% และจะมีกระบวนการในการคัดเลือกกรรมการที่เป็นมืออาชีพ เป็นผู้เชี่ยวชาญ และจะมีกลไกดูไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงการบริหารรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในระยะแรกบรรษัทรัฐวิสาหกิจจะรับโอนหุ้นและอำนาจการบริหารของรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชน หรือบริษัทจำกัด จำนวน 12 แห่งเข้ามาอยู่ในบรรษัท อาทิ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ส่วนรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายจัดตั้งเฉพาะ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังต้องให้ สคร.ช่วยดูแล ถ้าบรรษัทได้ผลดีอาจจะโอนรัฐวิสาหกิจเข้าไปเพิ่มเติม

นายวิรไท กล่าวว่า บรรษัทรัฐวิสาหกิจมีอำนาจและทำหน้าที่แทนกระทรวงต้นสังกัด ดำเนินการต่อรองงบประมาณ มีอำนาจในการแต่งตั้ง เปลี่ยนแปลงกรรมการรัฐวิสาหกิจ มีอำนาจประเมินผลกรรมการรัฐวิสาหกิจ และมีอำนาจในการพิจารณางบลงทุนรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ตามนโยบายที่สำคัญ อาทิ กรณีการแปรรูปหรือขายรัฐวิสาหกิจนั้น จะยังเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ คนร.ในการพิจารณา บรรษัทรัฐวิสาหกิจ จะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว