มรสุม 'แบงก์ใบโพธิ์' ?

มรสุม 'แบงก์ใบโพธิ์' ?

(รายงาน) มรสุม "แบงก์ใบโพธิ์" จากเรื่อง สจล. ถึงปมสมัครงาน14สถาบัน?

บอกเลยว่า "จุกอก" ใครได้เห็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ในเฟซบุ๊คช่วงแรกๆ หลายวันก่อนหน้านี้ ต่อกรณีแชร์ว่อนโซเชียลว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุรับสมัครงานตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเงินฝึกหัด (Financial Advisor Trainee) คัดคุณสมบัติเฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา 14 แห่ง

ไม่มีชื่อ "ราชภัฏ-ราชมงคล"!

เดิมที ดูเหมือนว่า คงไม่เกิดกระแสแรงพอดันเรื่องดังกล่าวให้การเป็นเรื่อง ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์ แต่พลันที่ "ราชภัฎ" เตรียมหารืออธิการบดี40แห่ง จะเลิกทำธุรกรรมไทยพาณิชย์ ส่วน "ราชมงคล" เล็งประชุมทบทวนทำธุรกรรมเช่นเดียวกัน

กลายเป็นร้อนที่ผู้บริหาร "แบงก์เก่าแก่" นั่งไม่ติดเก้าอี้

เริ่มจาก (29มิ.ย.) วรวัจน์ สุวคนธ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ แจงว่า "ธนาคารขออภัยในการสื่อสารที่ผิดพลาดและทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องการรับนักศึกษาเข้าทำงาน ทั้งนี้ในความเป็นจริงธนาคารฯ มีนโยบายเปิดกว้างในการรับนิสิตนักศึกษาจากทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าทำงานเป็นพนักงานของธนาคารฯ"

ขณะเดียวกัน ยังเปิดแนวชี้แจงในโซเชียล อย่าง เพจเฟซบุ๊คของ "scb thailand" โชว์ชื่อสถาบันการศึกษาที่พนักงานได้จบมาและรับเข้าทำงาน โดยระบุว่า "แบ่งปันข้อมูลจำนวนพนักงานใหม่ที่เข้ามาอยู่ในครอบครัว SCB ตั้งแต่ปี 57 จนถึงปัจจุบัน (พ.ค.58) มีจำนวนกว่า 4,000 คน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถจากหลากหลายสถาบันทั่วประเทศ"

เท่านั้นไม่พอ! ลุยขอชี้แจงใน "ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ" ใน3ก.ค.นี้ จากการเปิดเผยของ รศ.ดร.ฤาเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา (มร.สส.)

วิกฤตครั้งนี้กลายปมจี้ใจดำเรื่องเดิมของ "แบงก์ใบใพธิ์" เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กรณีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. เกี่ยวกับคดีลักเงินคลังจากบัญชีธนาคารที่สถาบันฯ เปิดไว้ เกือบ 1.5 พันล้านบาท

ตลอดระยะเวลาที่เป็นข่าวฉาว ตั้งแต่ปลายปี 2557 จนกระทั่งต้นเดือนปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ถือเป็นเวลา 3 เดือน ที่ฝ่ายผู้บริหารพยายามแก้ไข "สถานการณ์" จากวิกฤติที่เกิดจากอดีตพนักงานที่เกี่ยวพันคดีจนทำให้ธนาคารเสียหาย

เรื่องจบลงที่ "ไทยพาณิชย์" ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว ประกาศคืนเงินให้กับทาง สจล. จำนวนเงินสูงนับพันล้านบาท โดยเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ถูกยักยอกไปจนเกิดความเสียหาย (27 กุมภาพันธ์ 2558)

ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวตอนนั้นว่า "การที่ธนาคารไทยพาณิชย์ให้เงินเพื่อดูแลความเสียหายแก่ สจล.ครั้งนี้นั้น ธนาคารยึดหลักธรรมาภิบาล ความรับผิบชอบต่อลูกค้า และสังคม ซึ่งกรณีนี้ได้ปรากฏว่ามีพนักงานของธนาคารมีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริต ธนาคารจึงแสดงความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ สจล. ส่วนเรื่องการเอาผิดตามกฎหมายก็ให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยพร้อมจะสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างดีที่สุด และจะมีการตรวจสอบบุคคลภายในอย่างเข้มข้นด้วย จะไม่มีการหยุดตรวจสอบอย่างแน่นอน และนี่ไม่ใช่เป็นการซื้อหรือจ่ายเพื่อปิดเรื่อง แต่เป็นการให้เงินประกันไว้เพื่อความสบายใจ แต่สุดท้ายแล้วหากพบว่าเสียหายกว่า ทางสจล.ก็คืนให้กับธนาคารเท่านั้น"

กลายเป็น "บทเรียนราคาแพง" ต้องจ่ายนับพันล้าน สะท้อน "เรื่องภายในองค์กร" ที่มีระบบตรวจสอบกันเองดีหรือไม่ อย่างไร

ขณะเดียวกัน ดูเหมือน "แผลเก่า" ที่เจ็บปวดรวดร้าวเมื่อตอนต้นปี กลับมาเจอเรื่องร้อนรับ "สมัครงาน14สถาบัน" อีกตอนกลางปี..เรียกได้ว่า "มรสุมลง" ไม่หยุดหย่อน ก็ว่าได้