คมนาคมสรุปเส้นทางรถไฟไทย-จีน 15 ก.ค.นี้

คมนาคมสรุปเส้นทางรถไฟไทย-จีน 15 ก.ค.นี้

"พล.อ.อ.ประจิน" เผย คมนาคมเตรียมสรุปเส้นทางรถไฟไทย-จีน 15 ก.ค. นี้ คาดเพิ่มสถานีในเส้นทางอีก 3-4 สถานี

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงผลประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 5 ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยฝ่ายไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นหัวหน้าคณะ ขณะที่ฝ่ายจีนมีนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีนเป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ฝ่ายจีนได้ทดลองนั่งรถไฟจากสถานีหัวลำโพงมายังสถานีแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งถือเป็นการสำรวจเส้นทาง

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมครั้งนี้ภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า หรือภายในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ กระทรวงคมนาคมจะเร่งสรุปเรื่องของเส้นทางการก่อสร้าง ทั้งจุดก่อสร้าง ราง หรือ Track ที่ตั้งสถานี ซึ่งทั้งหมดจะมีส่วนสำคัญ ในส่วนของการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือเวนคืนและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยหลังจากได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วจะนำไปสู่การออกแบบรายละเอียด ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ นอกจากนี้ ทางฝ่ายจีนยังพร้อมให้ความช่วยเหลือร่วมมือในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานของระบบรถไฟความเร็วสูงของไทย ซึ่งจะแบ่งการอบรมออกเป็น 2 ชุด ตั้งแต่การอบรมระยะเวลา 6 เดือน จนถึงการอบรมที่จะใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมถึงปี 2559

ในส่วนของการประชุมและสำรวจเส้นทาง ไทยพยายามหารือถึงข้อสรุปกับจีน ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายไทยพยายามให้แนวเส้นทางอยู่ในเขตทางรถไฟเดิมมากที่สุด แต่จากการลงพื้นที่สำรวจของจีน ตลอดแนวเส้นทางพบว่ามีอุปสรรคในเขตทางก่อสร้างส่วนหนึ่ง เช่น แนวท่อก๊าซระยะทาง 36 กิโลเมตร บริเวณอำเภอภาชี รวมถึงการเข้ามาอยู่อาศัยของชุมชนข้างแนวเขตทาง ซึ่งจีนเสนอให้มีการเลี่ยงเส้นทางหรือย้ายแนวท่อก๊าซออกไป โดยฝ่ายไทยเห็นว่าการรื้อย้ายแนวท่อก๊าซคงเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ยาก อย่างไรก็ตาม ระดับโครงสร้างรองรับรางของรถไฟความเร็วสูงที่สูงกว่าระดับแนวท่อก๊าซเชื่อว่าจะทำให้การก่อสร้างไม่มีปัญหาด้านความปลอดภัย ส่วนชุมชนที่มาอาศัยในเขตทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็จะลงไปดำเนินการเจรจาแก้ปัญหาต่อไป ส่วนกระทรวงคมนาคมยืนยันว่าการเปลี่ยนแนวเส้นทางจากแนวเดิมจะต้องมีไม่เกินร้อยละ 20 ของแนวเส้นทางทั้งหมด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบทั้งในเรื่องของการเวนคืนและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากล่าช้าออกไปจะกระทบกับโร้ดแมปกรอบเวลาของโครงการที่ตั้งเป้าหมายจะให้มีการเริ่มก่อสร้างได้ภายในปลายปีนี้

ขณะเดียวกันการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งสถานี ยอมรับว่าจะมีการก่อสร้างเพิ่มสถานีในสายทางอีก 3-4 สถานี เพื่อประโยชน์ในการเดินทางของประชาชนที่อยู่ในแนวเส้นทางและการขนส่งสินค้า เนื่องจากเดิม การออกแบบแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคายนั้น อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องมีสถานีถี่มาก แต่เมื่อมีการปรับโครงการเป็นรถไฟรางมาตรฐานสามารถเพิ่มจำนวนสถานีในพื้นที่สำคัญได้ ทั้งนี้ ในส่วนของการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในแนวเส้นทางและจำนวนสถานีทั้งหมดของโครงการรถไฟไทย-จีน จะมีการประชุมและสรุปผลวันที่ 15 กรกฎาคมนี้

ขณะเดียวกันการหารือร่วมกัน 2 ฝ่าย จีนมีความประสงค์ที่จะให้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือกรอบการทำงานระหว่าง 2 ฝ่าย ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะมีการจัดทำและนำเข้าขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต้นเดือนกันยายนปีนี้