สูตรมืออาชีพ & มือสมัครเล่น ขึ้นแท่นเศรษฐี LINE

สูตรมืออาชีพ & มือสมัครเล่น ขึ้นแท่นเศรษฐี LINE

พวกเขาคือนักออกแบบสติกเกอร์LINEที่ใช้ทักษะการวาดรูปบวกความคิดสร้างสรรค์และมุมมองด้านการตลาดมาสร้างคาแรคเตอร์คูลๆ ทำเงินได้หลักหมื่นถึงล้าน!

นักวาดอาชีพ นิสิตนักศึกษา ข้าราชการเกษียณ ศิลปินดารา เหล่าเซเลบออนไลน์ ฯลฯ จะโนเนม หรือ เวลโนน ก็เป็น นักออกแบบสติกเกอร์ LINE ได้

อาชีพที่ลงทุนด้วยสมองและสองมือ แต่สามารถทำรายได้หลักหมื่นไปจนหลักล้าน!

นี่คือเรื่องจริงไม่มโนของนักออกแบบสติกเกอร์ LINE สัญชาติไทย ที่มีอยู่มากถึง 40,897 คน จาก 393,000 คนทั่วโลก เป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น ปั้นแต่งคาแรคเตอร์คูลๆ ที่คนทั่วโลกใช้ส่งถึงกัน ซึ่งปัจจุบันมีสูงกว่า 120,000 เซ็ต ในช็อปของ LINE ครีเอเทอร์ทั่วโลก

พวกเขาทำเงินกันแบบไหน มาลองฟัง “สัญญา เลิศประเสริฐภากร” จาก ZyloStudio เจ้าของผลงาน “ติดลม” (Tidlom) คาแรคเตอร์ควายน้อยจอมซื่อ ที่คว้าอันดับ 2 สติกเกอร์ขายดีที่สุดตลอด 1 ปี ของ LINE ครีเอเทอร์

โดย LINE ครีเอเทอร์มาร์เก็ต (https://creator.line.me) คือ แพลทฟอร์มที่เปิดให้ผู้ใช้ทั่วโลกสามารถสร้างสรรค์ผลงานสติกเกอร์ของตนเอง เพื่อขายใน LINE ช็อป โดยหลังการรีวิวจาก LINE สติกเกอร์ที่ออกแบบจะถูกวางจำหน่าย ซึ่งผู้ออกแบบจะได้รายได้ประมาณ 50% จากยอดขายสติกเกอร์หลังหักค่าบริการจาก App Store, Google Play หรือหักค่าบริการของแอพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ติดลม คือ สติกเกอร์คนไทยชุดแรกที่ได้วางขาย (4 มิถุนายน 2014) และประสบความสำเร็จมากๆ ชนิดภายในเดือนแรกขายได้ 3.2 ล้านเยน 3 เดือน ขายไปได้ 7 ล้านเยน ปี 2014 (เปิดขายมา 6 เดือน) ได้ส่วนแบ่งจาก LINE มา 4.3 ล้านเยน นั่นหมายถึงขายไปได้ทั้งหมด 8.6 ล้านเยน ซึ่งปัจจุบันมีรายได้รวมจากการขายสติกเกอร์ LINE ที่หลักล้านบาท!

ความสำเร็จไม่ได้มาด้วยความบังเอิญ เขาบอกว่า หัวใจไม่ใช่แค่การออกแบบ แต่ต้องมองถึง “การตลาด” ด้วย

“การตลาด ต้องเริ่มตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มวาดด้วยซ้ำ” เขาตอกย้ำ

ที่มาของการคิดแต่แรกว่า “จะขายใคร” อายุเท่าไร เด็กมัธยม มหาวิทยาลัย วัยทำงาน ฯลฯ โจทย์เหล่านี้นักออกแบบต้องเห็นภาพชัดตั้งแต่ต้น เพื่อที่จะสื่อสารออกไปในรูปร่าง หน้าตา สีสัน การพูด และท่าทางของคาแรคเตอร์ที่สร้างสรรค์ขึ้น

การตลาดต่อมาคือ การโฆษณา เพื่อสร้างให้คาแรคเตอร์ถูกพบเห็นบ่อยที่สุด เช่น เปิดเฟซบุ๊ก เปิดไอจี เพื่อให้คาแรคเตอร์ที่ทำมามีชีวิต ให้คนรู้สึก “เข้าถึง” และ “สัมผัสได้”

“การทำคาแรคเตอร์ให้ขายได้ คุณต้องมีมุมมองการตลาดเพียงพอ คือ รู้เรื่องการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย รู้กำลังซื้อผู้บริโภค อะไรเหล่านี้ เพราะว่า ต่อให้คาแรคเตอร์จะสวย แต่อาจจะนิชเกินไปจนไม่มีคนซื้อ ถ้าไม่มองการตลาดตั้งแต่ต้น”

การตื่นตัวของตลาดสติกเกอร์ LINE ยังนำมาซึ่งโอกาสทำเงินของเหล่านักวาดสติกเกอร์ เช่น รับจ้างออกแบบให้กับแบรนด์ต่างๆ สนนราคากันตั้งแต่หลักหมื่นไปจนหลักแสน ส่วนคาแรคเตอร์ตัวไหนน่าสนใจ สามารถต่อยอดไปเป็นการ์ตูนเรื่อง มีช่องทางเผยแพร่ที่ LINE Webtoon ซึ่งผู้สร้างสรรค์จะได้รายได้เป็นรายเดือน เริ่มต้นที่หลักหมื่น ซึ่งมีโอกาสที่ถึงหลักแสนต่อเดือนหรือมากกว่านั้น กรณีมียอดวิวที่สูงขึ้น ขณะที่ตัวคาแรคเตอร์ก็ไม่ใช่ลิขสิทธิ์ของ LINE แต่เป็นของเจ้าของผลงาน จึงสามารถต่อยอดสู่ธุรกิจ “Licensing”ได้ด้วย

คาแรคเตอร์ที่ดีไม่ได้มีโอกาสแจ้งเกิดแค่ตลาดไทย ดูจากคำบอกเล่าของ “คทิน อุรารักษ์” เจ้าของคาแรคเตอร์ Isan Lovers (อีสานเลิฟเวอร์) จาก Nanami Animation เขาคือเบื้องหลังคาแรคเตอร์ดัง “น้องมะพร้าว” สติกเกอร์ออฟฟิเชียลที่มีจำนวนเยอะที่สุดของ LINE (5 ชุด) และมียอดรีวิวสูงสุดใน LINE Webtoon

“ตอนนี้ในเรามีสติกเกอร์ที่วางขายแล้วกว่า 30 ชุด เป็นภาษาจีนเกือบสิบชุด ภาษาอังกฤษเล็กน้อย วางขายในตลาดโลก”

ทำอย่างไรให้ผลงานมีโอกาสแจ้งเกิดในตลาดโลก เขาว่า ‘ต้องทำให้คนใช้รู้สึกเป็นตัวเอง และใช้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ’

“คนไทยจะชอบคาแรคเตอร์คน เพราะใช้แทนตัวเอง แต่ต่างประเทศเขาจะชอบสัตว์ เพราะแทบจะไม่บ่งบอกเพศ ทำให้ผู้หญิง หรือผู้ชาย ก็ใช้ได้ อย่างเรามี คาแรคเตอร์กระต่ายเกรียนๆ อยู่ไม่สุข โรคจิตหน่อยๆ ก็ฮิตมากๆ ที่ไต้หวัน”

Nanami เน้นทำงานเร็ว เพราะมองว่า แต่ละวันมีสติกเกอร์ใหม่ๆ เข้ามาเป็นร้อยเป็นพันชุดจากทั่วโลก ฉะนั้นถ้าช้า ก็จะถูกตลาดทิ้ง จึงต้องเร็ว และให้ได้งานที่มีคุณภาพดีที่สุด คือ ภาพต้องเหมาะสม ไม่มีคำสบถหยาบคาย และเลือกใช้ฟอนท์ลิขสิทธิ์เท่านั้น เพื่อให้ได้งานที่แตกต่าง และโดดเด่น ส่วนการวางขายก็ต้องทำอย่าง “มีแผน” โดยแม้ปัจจุบันจะมีสติกเกอร์ที่ LINE ตรวจเสร็จแล้ว เกือบ 15 ตัว แต่พวกเขายังไม่ปล่อยขายในทันที แต่จะรอดูจังหวะในตลาด เพื่อไม่ให้ถูกคู่แข่งแชร์ส่วนแบ่งไปหมด เช่นเดียวกับ การขายลิขสิทธิ์ ที่ต้องบ่มให้คาแรคเตอร์นั้นๆ ดังจนถึงขีดสุด จะได้เสนอราคาขายที่แพงขึ้นได้

ซึ่งปัจจุบัน Nanami มีรายได้รวมจากการขายสติกเกอร์ LINE เกินกว่า 10 ล้านเยน ทั้งที่เริ่มทำมาเพียงครึ่งปีเท่านั้น!

ใครว่านักออกแบบสติกเกอร์จะมีแต่มืออาชีพเท่านั้น มาลองรู้จัก “วัฒนพงศ์ ลิมปนวิสุทธิ์” เจ้าของคาแรคเตอร์ “zer-zer” เขาคือ ข้าราชการเกษียณ อดีตนักวิชาการสาธารณสุข ผู้หลงใหลในการวาดรูป และเลือกเข้าสู่วงการเพราะแค่อยากมีสติกเกอร์ของตัวเองไว้อวดเพื่อน

คนอื่นอาจวาดคาแรคเตอร์เดียว เล่าสตอรี่กันชัดๆ แต่กับเซอร์เซอร์ เขาบอกว่า นึกจะวาดอะไรก็วาด คิดจะใช้คำพูดไหนก็วาดคาแรคเตอร์มารับกับคำพูดนั้น เช่น “เจ๋งเป้ง,โอ้เย” โดยไม่ต้องมาคิดกันล่วงหน้า คาแรคเตอร์เลยมีมาสารพัดแบบ แต่จุดร่วมเดียวกันคือ สไตล์ “เซอร์ๆ” เลยเป็นที่มาของชื่อชุด รวมการ์ตูนหนุ่มเซอร์สาวเซอร์ ในครั้งแรก

อาจเพราะความแปลก ดูโบราณ เหมือนการ์ตูนเล่มละ 5 บาทสมัยก่อน เซอร์เซอร์เลยได้รับการตอบรับชนิด “ดีเกินคาด”

“ผมเปิดขายไปประมาณมิถุนายนปีที่แล้ว ปรากฏคนโหลดเยอะมาก ทำรายได้ช่วงแรกๆ วันละหลายหมื่นเยน ปัจจุบันรายได้รวมหลังแบ่งกับ LINE แล้ว อยู่ที่ประมาณ 6 แสนบาท”

ข้าราชเกษียณเลยพบงานอดิเรกที่ทั้งถูกใจและได้เงิน พร้อมผลิตผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยบอกว่า วัยไม่ใช่ตัวกำหนดความสำเร็จ แต่อยู่ที่ ไอเดีย และ คำพูดโดนๆ ที่ใครสักคนจะสร้างสรรค์ออกมาได้

ส่วนใครจะปรามาสว่า อายุมากแล้วคงจะตามศัพท์วัยรุ่นไม่ทัน เขาบอกทางออกแจ่มๆ ว่า ได้เพื่อนข้าราชการ ช่วยทำข้อมูลคำต่างๆ มาให้ศึกษา ออกแรงเชียร์ซะขนาดนี้ มีหรือเขาจะทำผลงานดีๆ ออกมาไม่ได้

จากผู้ใหญ่วัยเกษียณมาดูเด็กๆ กันบ้าง “น้องจูน-กฤษนันท์ สริตชลานนท์” สาวน้อยวัย 21 ปี นิสิตปี3 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ เด็กสาวผู้มีความฝันและหลงใหลการวาดรูป ปัจจุบันเธอคือ เจ้าของสติกเกอร์“Sunshine” สาวน้อยน่ารักน่าชัง ที่ใครเห็นเป็นต้อง “หลงรัก” 

น้องจูน เริ่มเข้าสู่วงการนักออกแบบสติกเกอร์เมื่อปีก่อน หลังใช้เวลาพัฒนาคาแรคเตอร์อยู่เป็นปีๆ ประสาคนทำงานละเอียด จนได้เริ่มขายเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ซึ่งเคยขึ้นหน้าแรกในช่วงเปิดตัว หลังพยายามโปรโมทกับเพื่อนๆ และคนรู้จัก มีเปิดเพจในเฟซบุ๊ก A’JKS เพื่อแนะนำตัวเองกับมหาชน จนสามารถทำรายได้เดือนแรกที่ประมาณ 4 หมื่นบาท และมีชุดสองตามมา ในชื่อ “Sweet Sunshine” ซึ่งเริ่มขายไปประมาณหนึ่งเดือนก่อน

“เมื่อก่อนเคยทำงานพิเศษเดือนหนึ่งก็ได้ประมาณ 1-1.5 หมื่นเท่านั้น แต่นี่เป็นเงินก้อนแรกที่ให้แม่ได้เยอะที่สุด” น้องจูนบอกความภูมิใจในอาชีพนักออกแบบสติกเกอร์

เธอบอกว่าสิ่งสำคัญไปกว่าเม็ดเงิน คือ การได้ทำตามฝันของตัวเอง งานที่ไม่ให้แค่ความสนุก แต่“มีความสุข” มากๆ ด้วย

“ก็ไม่กล้าแนะนำใครว่าต้องทำแบบไหน เพราะหนูเองก็ไม่ใช่คนเก่ง แค่พยายามทำในสิ่งที่ชอบ ทำแล้วมีความสุข ซึ่งแค่ได้ทำก็ถือว่า ประสบความสำเร็จแล้ว” น้องจูนบอก

ปิดท้ายกับคู่รักมุ้งมิ้งที่หวานแหววสุดๆ ในวงการสติกเกอร์ อย่าง “วรุตม์ชัย เสวิกุล” และ “ศมน จิตติบุญเรือน” เจ้าของผลงาน “หนูน้อยลั่นทม”

“วรุตม์ชัย” ไม่ใช่นักออกแบบมืออาชีพ เขาเป็นแค่ผู้ชายโรแมนติกที่ชอบวาดรูปแฟนเล่นๆ ใครจะคิดว่าคาแรคเตอร์ที่เคยออกแบบไว้ จะได้ใช้เป็นสติกเกอร์ LINE ในวันนี้ แถมยังมีรายได้ตอนเปิดตัวอยู่กว่า 3 แสนเยน

จากความบังเอิญเลยกลายเป็นความสนุก ที่มาของคาแรคเตอร์ชุดใหม่ๆ ที่ทยอยออกตามมาเรื่อยๆ ซึ่งล้วนมาจากแรงบันดาลใจรอบตัวทั้งสิ้น เช่น “หวานหวาน” ไอเดียจากน้องเหมียวที่เลี้ยงไว้ ซึ่งขึ้นอันดับ 8 อยู่ประมาณ 2 อาทิตย์

“ทำงานนี้ได้ต้องมุ่งมั่น เพราะบางคนใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเสร็จ แถมรอผ่านการรีวิวจาก LINE ก็นานอีก เรียกว่า กว่าจะได้ตังค์นานมาก ดังนั้นเราต้องมุ่งมั่นและอดทน แต่มองว่าเป็นอาชีพได้จริง ถ้าเราวิเคราะห์มาดี และมีโอกาสต่อยอดไปสู่การขาย Licensing ได้ด้วย” พวกเขาประกาศความเชื่อมั่น

ไอเดียของเหล่ามืออาชีพและมือสมัครเล่น ที่กำลังทำรายได้“ไม่ใช่เล่น” ในโลกของนักออกแบบสติกเกอร์

................................

สถิติ LINE ครีเอเทอร์

๐ นักออกแบบทั่วโลก 393,000 คน
๐ นักออกแบบไทย 40,897 คน เป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น
๐ มีสติกเกอร์จากทั่วโลกวางขายกว่า 120,000 เซ็ต
๐ รายได้จาก Top10 ครีเอเทอร์ (ทั่วโลก) อยู่ที่ประมาณ 27,673,400 บาท
๐ รายได้รวม 1 ปี ใน LINE ครีเอเทอร์มาร์เก็ต อยู่ที่กว่า 2,475 ล้านบาท
๐ เฉพาะประเทศไทยขายไปได้แล้วกว่า 145 ล้านบาท
.........................................

Key to success
สูตรปั้นคาแรคเตอร์ทำเงิน

๐“Usability” ใช้งานง่าย
๐ “Communication-Friendly” ใช้สื่อสารได้ง่าย ดีไซน์ชัดเจน เข้าใจง่าย
๐ “Extreme yet Simple Expressions” เห็นท่าทางชัด จะหัวเราะ ร้องไห้ ต้องเล่นใหญ่ไว้ก่อน 
๐ “Creativity” มีความคิดสร้างสรรค์
๐ มีมุมมองด้านการตลาด
๐ เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม มีโอกาส "กินยาว"