'เทรลรัน' ฝันสลาย

'เทรลรัน' ฝันสลาย

ยิ่งโหด ยิ่งท้าทาย แต่ถ้าวิ่งแล้วทำลาย จะยังภูมิใจกันอยู่อีกหรือ

คงไม่มีนักวิ่งคนไหนยินดีกับความเสียหายของธรรมชาติ เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว “นักวิ่ง” และ “นักอนุรักษ์” ต่างก็มีหัวใจ “รักษ์” เหมือนๆ กัน


แต่...เพราะความไม่เข้าใจ จึงทำให้เกิดปัญหา เช่นกรณีที่โจษจันกันมานานเดือนกว่า ถึงความไม่เหมาะสมในการจัดกิจกรรม Ultra Thai Chiang Mai ที่มีปลายทางเป็น “ดอยหลวงเชียงดาว” ขุนเขาแห่งความรัก(ษ์)และศรัทธาของชาวล้านนา


บ้างเห็นด้วยที่จะมีการจัดกิจกรรมระดับโลกในประเทศไทย แต่บ้างก็ว่าเป็นการทำลายธรรมชาติและการรุกล้ำพื้นที่ป่าอันเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของชุมชน การประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุปที่เหมาะสมลงตัวจึงเกิดขึ้น


และในที่สุด....

วิ่งได้ไง กฎหมาย Say No


ทำไมต้องมีการคัดค้าน ทั้งๆ ที่การวิ่งแบบอัลตร้ามาราธอน หรือ เทรลรันนิ่ง (Trail Running) เป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกว่าเป็นการวิ่งผจญภัยในธรรมชาติ ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วโลกได้รู้จักความงดงามของธรรมชาติที่ซ่อนอยู่ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ดีอย่างหนึ่งด้วย


คงไม่มีใครออกมาก่นด่า หากกิจกรรมการวิ่งที่ว่านั้นไม่ทำร้ายหรือเบียดเบียนใคร แต่ในกรณีที่มีการจัดวิ่งขึ้นดอยหลวงเชียงดาว หรือ Ultra Thai Chiang Mai โดยบริษัท Thailand Mountain Trail ที่เชิญชวนนักวิ่งจากทั่วโลกให้มาร่วมกิจกรรมระหว่างวันที่ 4-6 ธันวาคม 2558 และจะมีนักวิ่งราว 400 คน วิ่งผ่าน “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว” รวมระยะทาง 150 กิโลเมตรนั้น ตามกฎหมายแล้วไม่สามารถจัดกิจกรรมใดๆ ในพื้นที่สงวนได้


แต่...เจ้าของกิจกรรมชาวฝรั่งเศสอย่าง เซบาสเตียน แบตร็อง (Sebastien Bertrand) อ้างว่าได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับลงรายละเอียดต่างๆ ทั้งหมดไว้พร้อม จึงสร้างความน่าเชื่อถือให้กับนักวิ่งทั้งหลาย ทั้งที่ในความเป็นจริงยังไม่มีใคร “อนุญาต” ให้จัดกิจกรรมดังว่าเลย


“โดยกฎหมายมันไม่ถูกต้องตั้งแต่แรกอยู่แล้ว” อรช บุญ-หลง ตัวแทนจากกลุ่มรักดอยหลวง ยืนยัน เพราะตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธืพืช ว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2552 ข้อที่ 20 ระบุว่า...


ห้ามจัดกิจกรรมแข่งรถยนต์ แข่งรถจักรยานยนต์ แข่งรถจักรยาน วิ่งแข่งขัน วิ่งและเดินการกุศล หรือกิจกรรมอื่นที่ทำให้เกิดความรำคาญ รบกวนผู้เข้าไปพักผ่อนชมธรรมชาติและรบกวนสัตว์ป่า เว้นแต่การจัดกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายพิจารณาอนุญาตเป็นรายๆ ไป


ทั้งยังมีหนังสือราชการจาก นิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถึงผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 เรื่อง การขออนุญาตจัดกิจกรรมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เนื้อหาระบุว่า


ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตรวจสอบการขออนุญาตเข้าไปจัดทำกิจกรรมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติด้วยความรอบคอบ หากกิจกรรมใดมีลักษณะต้องห้าม และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการ ให้แจ้งผู้ขออนุญาตทราบข้อขัดข้อง โดยไม่ต้องนำเสนอกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณา


นั่นหมายความว่า กรณีวิ่งขึ้นดอยหลวงเชียงดาวนี้ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพราะถ้าวิเคราะห์กันในแง่ตัวบทกฎหมาย กิจกรรมนี้ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับอนุญาตตั้งแต่ต้น


อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มีการพูดคุยถึงประเด็นปัญหาในการจัดกิจกรรมวิ่งขึ้นดอยหลวงเชียงดาว ผู้จัดการแข่งขันจึงร่างเส้นทางวิ่งใหม่ โดยหลีกเลี่ยงพื้นที่เปราะบางอย่างดอยหลวงเชียงดาว แต่อ้อมไปเข้าด้านข้าง ผ่านผาคอยนาง และบ้านถ้ำ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้สัญจร แต่นั่นก็ยังอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ อยู่ดี


“ตรงนี้ยิ่งหนักเลย เพราะเส้นทางผาคอยนาง บ้านถ้ำ เป็นพื้นที่ปิด พื้นที่สงวน ขนาดเจ้าหน้าที่ยังเข้าไปได้ยาก แล้วนี่จะมาจัดวิ่ง คือพอเราเห็นเส้นทางที่ 2 ที่เขาร่างแล้ว เราค่อนข้างแน่ใจว่าเขาไม่เข้าใจจริง เราต้องปกป้องเขตสงวนของเราให้ถึงที่สุด” อรช ยืนกราน


ป่าผืนโต หัวใจล้านนา


ดอยหลวงเชียงดาว เป็นภูเขาหินปูนที่เกิดจากการทับถมของซากสัตว์ต่างๆ ใต้ท้องทะเลจนมีสภาพแข็งเป็นหิน เมื่อเปลือกโลกมีการเคลื่อนไหว หินปูนใต้ทะเลจึงถูกดันขึ้นมาอย่างเฉียบพลันกลายเป็นภูเขา ซึ่งอยู่ในยุคเพอร์เมียน หรือราว 230-280 ล้านปีมาแล้ว


ความสำคัญของดอยหลวงเชียงดาว คือเป็นภูเขาหินปูนที่มีลักษณะเฉพาะหลายอย่าง ทั้งเป็นพื้นที่ที่เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำปิง และเป็นแหล่งรวมพันธุ์พฤกษศาสตร์หายากมากมาย นอกจากนี้ดอยหลวงเชียงดาวยังเป็นเทือกเขาปลายสุดของหิมาลัย พืชพันธุ์บนยอดดอยนี้จึงมีลักษณะเป็นสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ที่ปรากฎเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และมีพืชหายากบางชนิดที่ไม่พบที่อื่นใดในโลก ฉะนั้นแล้วพื้นที่บริเวณดอยหลวงเชียงดาวจึงเปราะบางอย่างยิ่ง


ประสงค์ แสงงาม ตัวแทนกลุ่มรักษ์ล้านนา เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ ซึ่งไม่เฉพาะดอยหลวงเชียงดาวเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลไปยังสถานที่ต่างๆ ด้วย


“บริเวณยอดดอยเชียงดาวเต็มไปด้วยไม้ดอกและไม้พุ่มนานาพันธุ์ มีพืชอัลไพน์ ในเขตหนาวเติบโตอยู่ในบริเวณดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีลักษณะของป่าเช่นนี้ จึงควรที่จะรักษาไว้ สำหรับพืชอัลไพน์เราจะพบได้ก็เฉพาะในเขตอบอุ่นของโลกเท่านั้น”


เช่นเดียวกับ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักอนุรักษ์ ที่เคยกล่าวถึงกรณีนี้ไว้ว่า หากมีการอลุ้มอล่วยให้มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และมีการแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ครั้งนี้ จะเป็นการเปิดประตูให้เป็นข้ออ้างในการจัดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมขึ้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ทั่วประเทศได้อีก ซึ่งผิดเจตนารมย์ของการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชตั้งแต่ต้น


“ทุกคนที่ต้องการเข้าสู่พื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ไม่ว่าแห่งใดๆ ในประเทศต้องทำเรื่องขออนุมัติเป็นรายกรณีจากกรมอุทยานฯ ทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น ไม่มีใครได้รับอภิสิทธิ์ ในกรณีของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาวที่ผ่อนปรนให้โควต้าของนักท่องเที่ยวที่จะเยือนได้ครั้งละ ไม่เกิน 200 คน หากใครได้รับอนุมัติในโควต้าดังกล่าวก็สามารถเข้าได้ โดยต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่เขตฯร่างมาโดยเฉพาะ ส่วนจะเดินไปหรือวิ่งไปก็สุดแล้วแต่ แต่ไม่ใช่การจัดการแข่งขันแบบเป็นทางการ และการแสวงหาผลกำไร”


ไม่เพียงแค่เรื่องของความเปราะบางทางธรรมชาติ ดอยหลวงเชียงดาวยังเป็นที่ประทับของ “เจ้าหลวงคำแดง” ประมุขแห่งผีล้านนาตามความเชื่อของชาวล้านนาที่มาตั้งแต่สมัยโบราณ ฉะนั้นหากมีการวิ่งขึ้นดอยดังว่า ก็อาจจะไม่เหมาะสม และกลายเป็นการลบหลู่ความเชื่อของชาวล้านนาด้วย


คลี่ปัญหา อัลตร้ามาราธอน


หลายเหตุผลที่ยกกันมาอธิบายเพื่อคัดค้านการจัดกิจกรรมวิ่งอัลตร้ามาราธอนบนดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งหลักๆ อยู่ที่เรื่องของผลกระทบต่อระบบนิเวศบนเทือกเขาหินปูนที่มีความสูงกว่า 2,275 เมตรจากระดับน้ำทะเล และที่สำคัญดอยหลวงเชียงดาวก็เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่คนในท้องถิ่นให้ความเคารพนับถือมาตั้งแต่บรรพบุรุษ


แต่สำหรับกลุ่มผู้จัดงาน อาจมองว่า การจัดการวิ่งวิบากระดับโลกนี้จะเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับสากล ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมหาศาล


ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว หรือ จุ๋ง กล้วยปั่น กล่าวว่า การวิ่งเทรลรันนิ่งระดับโลกหลายๆ แห่งมีกฎกติกาที่รัดกุม เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา ในกรณีนี้ผู้จัดมีเจตนาดีที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทย แต่อาจจะขาดแง่มุมเรื่องการศึกษาลักษณะพื้นที่และไม่มีการพูดคุยกับคนในท้องถิ่น จึงทำให้เกิดกระแสการคัดค้านดังกล่าว


“พี่เห็นด้วยกับการจัดงานวิ่งเทรล ถ้างานวิ่งนั้นไม่ได้สร้างปัญหาหรือผลกระทบใดๆ นั่นคือสนับสนุนให้ผู้จัดฯ หารือและร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นและทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”


ดร.จุ๋ง กล่าวว่า อยากทำความเข้าใจกับทุกคน โดยเฉพาะนักอนุรักษ์ ว่า นักวิ่งไม่ใช่คนทำลาย เพราะโดยพื้นนิสัยของทุกคนแล้วต้องการธรรมชาติ และเป็นนักอนุรักษ์ตัวยงไม่ต่างกัน


“ทำไมผมเลือกวิ่งในป่า ทำไมไม่วิ่งในเมือง มันมีความสุขต่างกันนะ บางทีคนไม่เข้าใจก็มาว่าเรา จริงๆ นักอนุรักษ์กับนักวิ่งในต่างประเทศเป็นกลุ่มเดียวกัน แต่ในประเทศไทยไม่ใช่ จริงๆ ลักษณะการวิ่งในป่าของเราแทบไม่ได้วิ่ง เป็นการเดินด้วยซ้ำไป เป็นการเทรกกิ้ง เพราะด้วยภูมิประเทศมันวิ่งไม่ได้ ก็เดินเอา แล้วเราก็ได้สัมผัสธรรมชาติด้วย”


ข่าวคราวการคัดค้านการจัดงานวิ่งวิบาก Ultra Thai Chiang Mai อาจไม่ใช่แค่เมืองไทยที่รับรู้ แต่โด่งดังไปในหมู่นักวิ่งทั่วโลก ดร.จุ๋ง บอกว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทย และเป็นกรณีศึกษาสำหรับการจัดงานในอนาคตด้วย


อย่างไรก็ดี หลังจากมีการหารือกันในหลายรอบโดยมีผู้เข้าประชุมจากทุกฝ่าย ทางผู้จัดงานก็ยอมรับในความผิดพลาดที่ไม่ได้มีการขออนุญาตในการใช้สถานที่จัดงาน ตลอดจนขาดการศึกษารายละเอียดที่เพียงพอ ทำให้ต้องหยุดการรับสมัคร และตีกลับอีเมลถึงสมาชิกที่สมัครเข้ามาว่าจะคืนเงินค่าสมัครให้ เป็นอันสิ้นสุดงาน Ultra Thai Chiang Mai อย่างถาวร


แต่...หากมีการรื้อฟื้นกิจกรรมขึ้นมาใหม่ กลุ่มเรารักดอยหลวงเชียงดาว ตัวแทนภาคประชาชนและกลุ่มอนุรักษ์ๆ ก็ยืนกรานว่าจะตั้งป้อมคัดค้านให้ถึงที่สุดหากการจัดงานนั้นยังกินพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต ความเชื่อ และจะเป็นเยี่ยงอย่างให้กับกิจกรรมลักษณะดังกล่าวอื่นๆ อีกมากมายตามมา จนไม่สามารถควบคุมได้


ที่สุดแล้วดราม่าที่ใครๆ มองว่าจะบานปลายก็จบลง และก็เป็นอีกครั้งที่พลังประชาชนสามารถปกป้อง “เขตสงวน” อันเป็นสมบัติของทุกคนได้สำเร็จ