สศอ.เผยดัชนีเอ็มพีไอต่ำสุดรอบ14เดือน

สศอ.เผยดัชนีเอ็มพีไอต่ำสุดรอบ14เดือน

สศอ. เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบ 7.6% ต่ำสุดรอบ 14 เดือน คาดปัญหาภัยแล้ง –หนี้กรีซ จะส่งผลกระทบอีกในช่วง 3 เดือนข้างหน้า

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือน พ.ค. ติดลบ 7.6% ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 57 ที่ติดลบ 10.5% เนื่องจากกำลังซื้อชะลอตัว และการใช้จ่ายทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่ยังต่ำ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบในเดือน พ.ค.ติดลบกว่า 10.6% ส่วนการนำเข้าสินค้าทุนตลอด 5 เดือนของปีติดลบ 1.8% เฉพาะเดือน พ.ค.เดือนเดียวติดลบถึง 8%

“การนำเข้าสินค้าทุน พวกเครื่องจักรส่วนใหญ่ที่ติดลบนั้น มาจากทิศทางการผลิตเพื่อส่งออกที่ลดลง เพราะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมช่วงเดือนที่ผ่านมา ก็ติดลบถึง 5% โดยอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญ และยังมีแนวโน้มไม่ขยายตัวมากนักในช่วงเดือน พ.ค.ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่แม้ว่าการส่งออกจะเป็นไปตามเป้าหมาย แต่ยอดผลิตรถยนต์ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.76% และการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศมี 56,942 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.28% โดยการลดลงเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ หนี้ในภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น”

สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ลดลง 15.07% มาจากอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลง 14.92% ส่วนไฟฟ้าลดลง 15.71% เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง ส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย รวมถึงได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลัก เช่น ยุโรปและญี่ปุ่น ที่ยังไม่ฟื้นตัว สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น

ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การบริโภคและจำหน่ายในประเทศลดลง 23.03% ส่วนการผลิตก็ลดลง 10.29% การส่งออกมีมูลค่าลดลง 31.03% สำหรับการนำเข้า 565 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลง 20.42% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัวอยู่

ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม แบ่งเป็นการผลิตในกลุ่มสิ่งทอลดลง 3.92% การผลิตผ้าผืนลดลง 4.75% สอดคล้องกับการจำหน่ายที่ลดลง ทั้งการจำหน่ายในประเทศ และส่งออก เนื่องจากความต้องการบริโภคเส้นใยสังเคราะห์ของตลาดลดลง ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปขยายตัว โดยผลิตเพิ่มขึ้น 0.61% ตามความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น 7.67%

ด้านอุตสาหกรรมอาหาร มีการผลิตที่หดตัวลง 7.6% เนื่องจากการผลิตน้ำตาล และกลุ่มผักผลไม้ที่ปรับตัวลดลง สำหรับการส่งออกในภาพรวมลดลงจากปีก่อน 0.8% จากผลกระทบจากความไม่แน่นอนของผลสรุปการแก้ไขวิกฤติการณ์ยูเครน-รัสเซีย-สหภาพยุโรป และวิกฤติการเงินของกรีซ ทำให้การส่งออกขยายตัวได้น้อย ส่วนการใช้จ่ายในประเทศยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อในประเทศชะลอตัวลง

“คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปีนี้จะเป็นบวกแต่คงไม่มาก แต่ยังคงเป้าเดิมที่บวก 3-4% ทั้งนี้ต้องดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างนี้ เช่น ภัยแล้งที่น่าจะเห็นผลกระทบช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า การชำระหนี้ของกรีซที่จะมีผลต่อการส่งออกของประเทศ หลังจากนั้นจึงจะสามารถประเมินดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมได้”