ภาษาดิ้นได้

ภาษาดิ้นได้

คงเคยได้ยินเรื่องภาษาวิบัติ ซึ่งหลายคนเกรงว่า ศัพท์แสลงวัยรุ่น อาจนำไปสู่จุดนั้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง มีมากกว่านั้น


หากจะตั้งคำถามว่า อะไรทำให้ภาษาวิบัติ คงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ภาษาวิบัติในที่นี้หมายถึงอะไร... 

นั่นก็คือ การใช้ภาษาไทยไม่ตรงกับหลักภาษา มีการใช้ตัวสะกดผิดบ่อย นอกจากนี้ยังรวมถึงการใช้คำหรือการใช้ศัพท์ใหม่
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ภาษาเป็นเรื่องของการสื่อความหมายระหว่างบุคคล และเป็นเรื่องของยุคสมัย ซึ่งภาษาไทยก็มีรากเหง้าภาษาที่ต้องใช้ให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นอาจสื่อความหมายผิดเพี๊ยน

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ เคยเขียนเรื่องภาษาวิบัติ ไว้ว่า
"ภาษาวิบัติเป็นการเปลี่ยนแปลงของภาษาที่ผู้ใหญ่ในสังคมไม่ชอบ แม้ภาษาจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่ผู้ใหญ่ไม่ชอบให้ภาษาเปลี่ยน และการไม่ศึกษาภาษาที่เปลี่ยนแปลงไปนี้เองที่จะเป็นเหตุให้เกิดภาษาวิบัติ"

ในความเห็นของอ.นิธิ มองว่า "วิวัฒนาการทางภาษา ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร เพียงแต่มันต้องอยู่ในที่ๆควรอยู่ ใช้ให้ถูกกาลเทศะ ถ้าคำไหนไม่ดี หรือ คนไม่ยอมรับ เดี๋ยวมันก็หายไปเอง"
ก็เพราะ ภาษาเปลี่่ยนแปลงได้ และภาษายังบอกถึงช่วงเวลาของยุคสมัย
ยกตัวอย่างสมัยหนึ่งเรียก "มะม่วง" ว่า "หมากม่วง" แต่สมัยนี้ใครพูดแบบนี้ จะดูเชยแล้ว

ศัพท์วัยรุ่น มาแล้ว ก็ไป
คำบางคำ สามารถบอกได้ว่า ผู้พูดอยู่ในยุคสมัยไหน อย่างคำว่า "เจ๋ง" ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง "แจ๋ว เยี่ยม,เก่ง" ซึ่งคนรุ่นใหม่จะใช้คำนี้น้อยมาก พวกเขาจะใช้คำว่า "สุโค้ย" ก็คือ "สุดยอดเลย" และไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ในยุคนี้มีศัพท์วัยรุ่นเกิดขึ้่นอีกมากมาย อาทิ ฟุ้งฟิ้ง มุ้งมิ้ง ชิมิ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องของยุคสมัย ที่เชื่อว่า มาแล้วก็ไปได้

รวมถึงศัพท์บางคำที่คนเขียนในโชเชียลเน็ตเวิร์ค ผสมคำเอง อย่างคำว่า "ม่ะว่างเรย" (ไม่ว่างเลย), "เด่วมา" (เดี๋ยวมา) ฯลฯ สารพัดคำที่จะคิดสร้างสรรค์ให้ง่ายๆ และสื่อสารซึ่งกันและกันได้

"ในอินเทอร์เน็ต วัยรุ่นมีการใช้คำแปลกๆ แล้วมีคนบอกว่า ทำให้ภาษาวิบัติ ซึ่งเรื่องนี้ดิฉันไม่ห่วงเท่าไหร่ เพราะมันเป็นภาษาที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่นานก็เลิกใช้ จากนั้นก็มีคำใหม่อยู่เรื่อยๆ ส่วนเรื่องที่ดิฉันห่วง ก็คือ การเขียนภาษาไทยในปัจจุบันมากกว่า" ดร.กาญจนา นาคพงษ์ ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาภาษาไทย แม้จะวัยกว่า 78 ปี แต่ท่านก็ไม่ได้ฟันธงว่า เขียนแบบนั้นถูก หรือ ผิด เพียงแต่ต้องใช้ภาษาไทยให้ถูกกาลเทศะ แม้จะมีศัพท์ใหม่ๆ ตามประสาวัยรุ่น ก็เป็นไปตามยุคสมัย ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สิ่งที่น่าห่วงก็คือ การใช้คำทับศัพท์จากภาษาอังกฤษ และเขียนออกมา ไม่ตรงกับภาษาไทย
อย่างไรก็ตาม เธอมองว่า สถานการณ์ภาษาไทยในปัจจุบันยังไม่อยู่ในขั้นวิกฤต เพราะวัยรุ่นใช้ภาษาแช็ตเฉพาะบนอินเทอร์เน็ต สื่อสารเฉพาะกลุ่มตัวเอง
"ภาษาที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ ภาษาที่ตายไปแล้ว ภาษาที่เป็นมาตรฐานของสมัยนี้ ก็คงไม่เป็นภาษาที่คนสมัยก่อนเขาใช้กัน"

เหมือนเช่นที่ ดร.วิภาส โพธิแพทย์ ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาและวรรณคดีไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ถ้าภาษาวิบัติ ก็คือ ไม่สามารถใช้สื่อสารได้ แต่ถ้าใช้คำสะกดผิดก็ต้องแก้ไข ซึ่งมีการใช้ในโซเชียลเน็ตเวิร์คเยอะมาก

"โดยเฉพาะเรื่องการสะกดผิด ถ้านำมาใช้เป็นภาษาเขียนก็ไม่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องทำความเข้าใจ และไม่อยากให้เยาวชนซึมซับคำที่ไม่ถูกต้อง"

แบบไหน...เรียกว่าวิบัติ
ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความละเมียดละไม สามารถสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกความเป็นไทย นอกจากนี้ยังมีเสียงสูง กลาง ต่ำมีวรรณยุกต์เป็นตัวกำกับ และนั่นทำให้ชาวต่างชาติจำนวนมากบอกว่า การพูดภาษาไทยยากมาก

"ยากนะคะ เพราะมีสระ วรรณยุกต์เยอะแยะไปหมดเลย บางคำก็ไม่อ่านตรงตัว งงมากๆ" ชาวนอร์เวย์ ที่หัดพูดภาษาไทย กล่าวเช่นนั้น
และนั่นเองที่ทำให้ภาษาไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

"บางคำในภาษาไทย เราเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษ และเขียนไม่ตรงกับหลักภาษาไทย ทำให้ภาษาเสียไปหมด เด็กต่างชาติมาเรียนก็ไม่เข้าใจ เพราะไม่อ่านตามตัวสะกด อย่างคำว่า เต็นท์ ในราชบัณฑิตยสถาน ไม่ได้เขียนว่า เต๊นท์ ซึ่งจริงๆ ต้องเป็นเสียงตรี พจนานุกรมบอกว่า ใช้วรรณยุกต์ตรีผิด ต้องใช้ไม้ไต่คู้ อันนี้ทำให้เกิดความสับสน แล้วเราจะสอนให้เด็กอ่านหนังสือถูกต้องได้ยังไง นี่แหละที่ทำให้ภาษาวิบัติมากกว่า" ดร.กาญจนา บอก

ปัญหาหลักๆ ก็คือ การเลือกใช้คำให้เหมาะกับประโยค เรื่องนี้ อาจารย์วิภาส บอกว่า ถ้าพูดถึงแหล่งความรู้ของเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ส่วนอีกแหล่งเรียนรู้คือ ในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ซึ่งมีการใช้ภาษาทั้งถูกและผิด ดังนั้นในระดับรัฐต้องมีการรณรงค์เรื่องการใช้ภาษาให้ถูกต้อง
"ถ้าจะขัดเกลาหรือแก้ไขในเรื่องภาษา ก็ต้องเริ่มจากแหล่งเรียนรู้ภาษา"

ภาษาเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้นี่เอง ราชบัณฑิตยสถาน จึงได้นำคำศัพท์แสลงที่วัยรุ่นนิยมพูดจนติดปากมาใส่ไว้ในพจนานุกรมคำใหม่ที่มีอยู่หลายเล่ม ยกตัวอย่างคำว่า ชื่นสะดือ (ชื่นใจ สบายใจ) เซียะ (สวยมาก) ชัวร์ป้าบ (แน่นอนอย่างยิ่ง) ชั้นเทพ (ดีอย่างยิ่ง) ฯลฯ

"ทำไมระยะหลังเด็กอ่านภาษาไทยไม่ออก ใส่วรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง ไม่รู้จักอักษรสูง กลาง ต่ำ เขียนคำอะไรก็ไม่ได้ คนก็เอาภาษาไทยไปเล่นตลก หรือการออกเสียงควบกล้ำก็หายไป อาทิ คำว่า "ครู" ก็เป็น"คู" เวลาออกเสียงผิด เขียนก็ผิดอีก ทำให้ไม่เกิดความเข้าใจที่ถ่องแท้" ดร. กาญจนา กล่าว
“แม้เด็กๆ วัยรุ่นจะใช้คำแปลกๆ มันก็เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภาษาที่เกิดขึ้นตามปกติ แต่การเขียนให้ถูกต้องตามเสียงและอักขระวิธีตามความหมายเป็นเรื่องสำคัญ อย่างคำว่า การงาน ใช้ "ร" สะกด หรือ กาลเวลา ใช้ "ล" สะกด ทำให้อ่านออก เข้าใจความหมายเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเขียนว่า "กลาบกาล" แบบนี้วิบัติแน่ ไม่ใช่แล้ว ความหมายของภาษามีหลายกรณี "

โลกแห่งภาษา
ถ้าจะทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่เบื่อภาษา ครูภาษาไทยก็ต้องมีวิธีการสอนให้สนุก และได้ความรู้ เหมือนเช่นที่ ครูลิลลี่-กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ และครูทอม จักรกฤต โยมพยอม สอนภาษาไทย จนเด็กเข้าใจและสนุกกับการเรียนภาษา ยกตัวอย่างครูทอม ซึ่งเป็นติวเตอร์ภาษาไทยที่พยายามนำเกร็ดความรู้ภาษาไทยมาสอนให้เด็กๆ ทำข้อสอบ ซึ่งเด็กๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจภาษามากขึ้น

ครูทอมเคยให้ข้อมูลไว้ว่า "ภาษาวิบัติไม่มีอยู่จริง อย่างคำว่า บ่องตง จุงเบย นะครัช นะครัส ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงทางภาษา เป็นกลวิธีการสร้างคำอีกอย่างหนึ่ง การใช้คำเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ควรจะรู้ว่าต้นแบบคือคำอะไร ต้องใช้ให้ถูกต้องตามกาลเทศะ เมื่อไหร่ควรใช้ เมื่อไหร่ไม่ควรใช้ "

เรื่องนี้ อาจารย์กาญจนา บอกว่า รู้สึกเป็นห่วงคำภาษาไทยที่มีมาแต่เดิม มีความหมายดี แต่ค่อยๆ หายไป เพราะเด็กไม่รู้จักแล้ว ยกตัวอย่างชื่อเรียกขนมไทยๆ หรือคำเรียกเครื่องเรือนในบ้าน เด็กๆ ไม่ได้เรียน ก็เลยไม่รู้ และพวกเขาก็สนใจแต่สิ่งของใหม่ๆ

"การเรียนรู้ของใหม่เป็นสิ่งดี แต่ไม่ควรลืมของเก่า อย่างขนมไทย ขนมหม้อแกง แกงบวด หรือจ่ามงกุฎ เด็กๆ ไม่รู้จัก และเรียกผิดบ่อยมาก ขนมไทยดั้งเดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 บางคนเรียก"ทองเอก" ว่า "จ่ามงกุฎ" เพราะรูปร่างหน้าตาคล้ายกัน ก็เลยเรียกผิด"

ภาษาไทยผิดเพี๊ยน เพราะศัพท์แสลงจากวัยรุ่น หรือความไม่รู้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของภาษาที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
ส่วนกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อมีการเปลี่ยนคำเรียก โรฮิงยา เป็น โรฮีนจา โดยกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาพม่า ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิทั้งไทยและพม่าที่เชี่ยวชาญหลักการออกเสียงคำในภาษาพม่าได้ปรึกษากันและเห็นว่า ควรใช้ โรฮีนจา

กรณีนี้ อาจารย์กาญจนา บอกว่า คนชาตินี้ ถ้าเขาเรียกตัวเองว่า โรฮิงยา ก็ควรเรียกอย่างนั้น ไม่ควรเอาคำที่ชาติอื่นเรียกมาใช้ เหมือนคนเกาหลี เรียกตัวเองว่า ฮันบก แต่เรามักจะเอาคำเรียกตามแบบภาษาอังกฤษมาใช้ และครั้งนี้ก็ใช้ตามภาษาพม่า

"การใช้ภาษาตามชาติอังกฤษ มันหมดสมัยแล้ว เราไม่จำเป็นต้องตาม ราสามารถติดต่อกับเจ้าของภาษาได้เลย เราควรใช้คำเรียกให้ถูกต้องตามต้นตำรับมากกว่าการเรียกผ่านภาษาอื่น อย่างคำว่า โรฮีนจา จริงๆ เจ้าของภาษาไม่ได้เรียกตัวเองอย่างนั้น "

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ภาษา เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ แต่รากของภาษาก็ควรที่จะอนุรักษ์ไว้ และมีหลายทัศนะเห็นว่า ไม่ควรเอาภาษาวัยรุ่นที่พูดติดปากกันตามเวลามาพิมพ์ลงไปในหนังสือ หรือใส่ในดีวีดี ที่มีลิขสิทธิ์ หลายคนเชื่อว่า วิวัฒนาการทางภาษา ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพียงแต่ใช้ให้ถูกกาลเทศะ

.....................
ภาษาไทยมาจากไหน

ยอร์ช เซเดส์ (George Coedès) ศาตราจารย์ชาวฝรั่งเศส ได้ศึกษาถึงความเป็นมาของภาษาเขียนในภาษาไทยไว้ว่า
"การใช้ภาษาเขียนในภาษาไทยนั้นมีมาก่อนที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชจะทรงประดิษฐ์อักษรไทย (ลายสือไทย ) มานานแล้ว
โดยภาษาเขียนของไทยได้รับอิทธิพลมาจากภาษาเขียนของมอญโบราณ ดังจะเห็นได้จากลักษณะของอักษรอาหม ลื้อ ผู้ไทยเมืองสิบสองปันนา ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ไทย

ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว ภาษาเขียนในภาษาไทยมีลักษณะคล้ายอักษรของพวกมอญเก่า จึงกล่าวได้ว่าคนไทยในยุคก่อนกรุงสุโขทัยมีความใกล้ชิดกับชนชาติมอญ และได้นำอักษรมอญโบราญ มาดัดแปลงเป็นตัวเขียนในภาษาไทย

ศาตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ เรียกว่า อักษรไทยเดิม และเมื่อขอมได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในหมู่ชนชาติไทย คนไทยในยุคสมัยนั้น จึงได้นำอักษรขอมหวัด มาใช้ในภาษาเขียนของตนเองบ้าง

จนปี พ.ศ.1826 พ่อขุนรามคำแหงมหาราช จึงได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมาใช้ใหม่ โดยดัดแปลงมาจากอักษรขอมหวัด เพื่อให้สามารถเขียนได้สะดวกขึ้นกว่าอักษรขอมหวัด ด้วยการตัดหนามเตยทิ้ง หรือบางตัวก็ดัดแปลงหนามเตยรวมกับพยัญชนะ ทำให้ไม่ต้องยกมือกลางคันระหว่างเขียนพยัญชนะตัวนั้น