เมื่อต้องรับมือ'พายุอารมณ์'

เมื่อต้องรับมือ'พายุอารมณ์'

เด็กวัย 4 ขวบเริ่มแสดงความฉลาด ความแข็งแรง รู้สึกความเป็นใหญ่ในครอบครัว จึงยิ่งเอาแต่ใจมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญมีคำแนะนำถึงวิธีรับมือเด็กวัยนี้

จากเมื่ออายุ 2 ขวบจนเมื่อลูกเข้าสู่ขวบปีที่ 3 นางฟ้าหรือเทวดาตัวน้อยก็กลายเป็นยักษ์น้อยได้โดยบัดดล พ่อแม่หลายท่านได้ฟังคำแนะนำจากแพทย์บ้างแล้วว่า ให้เตรียมรับมือพายุอารมณ์ที่ดูเหมือนจะมีแต่เพิ่ม นั่นก็เป็นเพราะลูกเริ่มรู้วิธีที่จะบอกความต้องการผ่านทางคำพูดได้มากขึ้น รวมถึงพวกเขากำลังยุ่งกับการสร้างตัวตนและพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ ขึ้นมานั่นเอง

ครอบครัวที่มีลูกวัย 3 ขวบคงจะยังไม่วุ่นวายใจเท่ากับครอบครัวที่มีลูกวัย 4 ขวบ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเด็กวัย 4 ขวบจะเริ่มแสดงความฉลาด ความแข็งแรง การต่อรองซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขในการเพิ่มระดับอารมณ์ของพ่อแม่ เด็กวัยนี้เริ่มรู้สึกถึงตัวตนของเขาในครอบครัว เช่น การเป็นลูกคนเดียวหรือเป็นศูนย์กลางของครอบครัว จะยิ่งทำให้เอาแต่ใจมากขึ้น พ่อแม่ไม่ควรจะตื่นเต้นตกใจและอารมณ์เสียกับพฤติกรรมเหล่านี้มากจนเกินไป

หนึ่งสิ่งที่มักเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ความอดทนของพ่อแม่น้อยลงแทบจะทันทีคือ การที่ลูกกรี๊ด พ่อแม่ที่ทนการร้องไห้โยเยมาก่อนหน้านี้อาจจะถึงกับทนไม่ได้ ต้องเดินไปตีหรือลงโทษทางร่างกายรูปแบบอื่นๆ เรื่องนี้ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์จาก University of North Carolina แนะนำว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่พ่อแม่คิดว่าจะทนไม่ไหว ให้หายใจเข้าลึกๆ และอย่าถือสาการที่เด็กกรี๊ดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ให้มองว่า เป็นเรื่องของการแสดงออกทางภาษาที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ ถ้าพ่อแม่เดินเข้ามาในเกมอารมณ์ของลูกแล้ว ก็คงยากมากที่จะไม่แสดงอารมณ์ตอบโต้

ดังนั้น วิธีที่ดีในการป้องกันไม่ให้ลูกกรี๊ดในที่สาธารณะ เริ่มจากการบอกลูกตั้งแต่อยู่ที่บ้านว่า “ลูกจะกรี๊ดได้กับต้นหญ้าเท่านั้น และเราจะไม่กรี๊ดใส่คนอื่นๆ” การที่พ่อแม่ไม่เข้าไปในเกม โดยมองว่า เมื่อลูกกรี๊ดได้ก็หยุดกรี๊ดได้ และไม่เอาใจใส่กับการกรี๊ดนั้น จะทำให้ลูกเริ่มรู้ตัวว่า เมื่อไหร่ควรจะหยุด (เพราะไม่ได้ตามที่ตัวเองเรียกร้อง)นั่นเอง

ส่งสัญญาณในแง่บวก การพูดกันให้ชัดเจนก่อนการทำกิจกรรมอะไรบางอย่างถึงความคาดหวังอย่างชัดเจน จะช่วยลดพฤติกรรมอารมณ์ร้ายได้ดี เช่น แทนที่แม่จะพูดว่า “เดี๋ยวไปบ้านคุณยาย ทำตัวให้มันดี อย่าให้ต้องตี” ให้เปลี่ยนเป็น “เดี๋ยวไปบ้านคุณยาย แม่อยากให้ลูกโชว์หนังสือเล่มใหม่ให้คุณยายดู คุณยายอาจจะอ่านให้ฟังหรืออาจจะไม่อ่าน แต่แม่อยากให้ลูกไม่เสียใจถ้าคุณยายไม่อ่านให้ฟัง เพราะพอเราเยี่ยมคุณยายเสร็จแล้ว เราจะกลับบ้าน แล้วแม่จะอ่านให้ลูกฟังคืนนี้” อย่าลืมว่า พ่อแม่ไม่สามารถจะพูดเรื่องเหตุผลได้ในขณะที่พายุอารมณ์กำลังเกิดขึ้น เพราะมีแนวโน้มว่าลูกจะไม่เอามาใส่ใจค่ะ

เคยมีคำถามว่า ถ้าอย่างนั้นการที่ไม่ให้ลูกแสดงออกทางอารมณ์ร้ายบ้างจะสร้างความเก็บกดหรือไม่ ประเด็นสำคัญเพื่อป้องกันการเก็บกดในเด็กคือ การหาช่องทางออกไว้ให้ ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ควรที่จะใช้เป็นคำพูดมากกว่าการแสดงออกของร่างกาย เช่น การเดินปรี่เข้าไปตีทันทีที่ลูกร้องกรี๊ด จะไม่สามารถแก้ปัญหาอารมณ์ร้ายของลูกได้ในระยะยาว

พ่อแม่อาจเริ่มกิจกรรม “เมื่อลูกโกรธ” ขึ้นมาก็ได้ เช่น การเปลี่ยนกิจกรรมหรือเดินออกจากสถานการณ์นั้นๆ โดยอาจพูดว่า “เราไปเดินเล่นกันก่อนดีไหม ให้ลูกอารมณ์ดีแล้วค่อยคุยกัน” ข้อพึงสังเกตอีกอย่างคือ การที่พ่อแม่จะรู้สึกอายเมื่อลูกกรี๊ดนอกบ้าน ซึ่งก็คงต้องขอให้พ่อแม่ใจเย็นและแสดงให้ลูกเห็นว่า พฤติกรรมอารมณ์ร้ายนั้นไม่ได้ทำให้พ่อแม่รู้สึกอะไรเลย (ทั้งๆ ที่ในใจคิดว่าอายจนแทบจะแทรกแผ่นดินหนีก็ตาม)

อย่ากระตุ้นอารมณ์ การกระตุ้นให้เกิดพายุอารมณ์ทำได้หลายทาง และส่วนใหญ่พ่อแม่มักไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำจะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ลูกแสดงพฤติกรรมนั้นหรือไม่ เช่น เมื่อไปที่ซื้อของแล้วลูกอยากซื้อขนม ลูกอาจจะหยิบเอามาใส่ในรถเข็น เมื่อแม่เห็นก็จะเริ่มพูดจาว่าพร้อมกับเอาขนมออก ส่วนลูกก็แสดงอาการโวยวาย ร้องไห้ กรีดร้องจนแม่อาจจะทนความอายไม่ไหวแล้วตัดสินใจซื้อให้ เหตุการณ์ลักษณะนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีกเมื่อออกไปซื้อของครั้งต่อไป

ดังนั้น แทนที่จะปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้น แม่อาจจะเลือกพูดกับลูกว่า “วันนี้จะไม่ซื้อขนมนะครับ แต่ลูกจะช่วยแม่เอาของออกจากรถเข็นไปจ่ายเงิน แล้วเราจะกลับบ้านไปทานโยเกริ์ตที่ลูกชอบกันครับ” รวมถึงไม่พยายามเดินผ่านชั้นวางขนมเมื่อเวลาไปซื้อของ อย่าลืมว่า ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ค่ะ

คำถามคือควรเพิกเฉยดีหรือไม่? พ่อแม่บางคนบอกว่าเมื่อลูกแสดงอารมณ์ก็แค่ไม่สนใจ จริงๆ ความคิดนี้ไม่เชิงถูกหรือผิดเสียทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่าสาเหตุที่ลูกแสดงอารมณ์คืออะไร ถ้าพ่อแม่มองว่าลูกทำเพื่อเรียกร้องความสนใจ จะแสดงอาการเพิกเฉยก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกรู้สึกว่า พ่อแม่ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือความสนใจกับการแสดงอารมณ์ที่เกรี้ยวกราดนั้น เขาจะค่อยๆ ลดพฤติกรรมนั้นลงเอง

ในบางกรณีพ่อแม่อาจจะเลือกใช้วิธี time-in (ไทม์อิน) คือแทนที่จะให้ลูกไปสงบสติอารมณ์นอกห้องหรือที่อื่น กลับให้ลูกอยู่ที่ห้องและพ่อแม่ก็อยู่กับลูกด้วย แสดงให้ลูกรู้ว่าเขายังมีพ่อแม่อยู่ด้วยใกล้ๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การที่เขาแสดงอารมณ์จะเป็นที่สนใจ แม่อาจจะเลือกที่จะพูดว่า “แม่อยู่นี่ เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกพร้อมจะพูดครับ”

เมื่อครั้งที่ลูกอายุ 2 ขวบ พ่อแม่อาจจะมองได้ว่าเมื่อลูกมีปัญหาแล้วกรีดร้อง ก็ควรเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะเข้าไปสอดส่องดูว่าเกิดอะไรขึ้น แต่นั่นไม่ใช่สำหรับเด็ก 4 ขวบหรือโตกว่านี้ เพราะเขาโตมากพอที่จะเรียนรู้และเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผล เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกทำลายของเล่นของตัวเอง หรือทำลายข้าวของอื่นๆ การบอกลูกว่า แม่จะไม่ซื้อของเล่นแบบนี้ให้ลูกอีกแล้ว หรือลูกจะต้องโดนหักค่าขนมเพื่อที่จะเอาเงินมาซื้อของทดแทน จะทำให้เขาเริ่มเรียนรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้น ส่งผลกระทบต่อตัวเองและคนอื่นๆ อย่างไรนั่นเอง

ในท้ายที่สุด การจัดการกับพายุอารมณ์ของลูกไม่ใช่เรื่องยาก แต่พ่อแม่ต้องใจเย็นและรู้บทบาทของตนเองว่าควรทำอย่างไรในเวลาไหน และเมื่อเลือกที่จะทำอย่างถูกวิธีแล้ว ปัญหาเรื่องอารมณ์ที่แก้ไขได้ยากของลูกก็จะค่อยๆ หายไปเองค่ะ

*บทความโดย ดร.ปรียาสิริ มานะสันต์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ (กายใจ) วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน 2558