‘ไลน์’เผย1ปีครีเอเตอร์ดัน รายได้สติกเกอร์โต100%

‘ไลน์’เผย1ปีครีเอเตอร์ดัน รายได้สติกเกอร์โต100%

“ไลน์” โชว์ความสำเร็จ 1 ปี ครีเอเตอร์มาเก็ต นักออกแบบไทยขึ้นแท่นท็อป 2 ลงทะเบียนเกิน 4 หมื่น สร้างรายได้กว่า 145 ล้านบาท

นายเอก อัครประเสริฐกุล หัวหน้าฝ่ายออกแบบ ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า หลังเปิดตัวไลน์ครีเอเตอร์มาร์เก็ตอย่างเป็นทางการ 1 ปี บริษัทได้รับผลตอบรับที่ดีมาก เฉพาะในประเทศไทยปัจจุบันมีนักออกแบบกว่า 4 หมื่นคน สร้างรายได้มูลค่ากว่า 145 ล้านบาท

“เทียบกับก่อนหน้านี้ที่ยังไม่เริ่มโครงการ ครีเอเตอร์มาร์เก็ตทำให้รายได้ที่มีจากการขายสติ๊กเกอร์ของเราเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 100% เหตุผลสำคัญมาจากครีเอเตอร์มาร์เก็ตช่วยผลักดันให้การสื่อสารทางการตลาดดีขึ้น แพร่หลายมากขึ้น ขณะเดียวกันโลคอนคอนเทนท์ยังช่วยเพิ่มการใช้งานและเข้าถึง”

ทั้งนี้ นักออกแบบจากไทยคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 10% ของทั่วโลกที่มี 393,000 ราย ครองอันดับ 2 เป็นรองเพียงตลาดญี่ปุ่น รวมทั้งหมดมีจำนวนสติ๊กเกอร์ 1.2 แสนชุด ทำรายได้ไปกว่า 2,475 ล้านบาท

แนวโน้มยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่ผ่านมานักออกแบบที่ติดอันดับท็อป 10 แต่ละคนสามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 27 ล้านบาท จากจำนวนดังกล่าวมีคนไทยติดอันดับอยู่ด้วย

ปัจจุบันในประเทศไทย มีผู้ลงทะเบียนใช้แอพพลิเคชั่นแชทไลน์มากกว่า 33 ล้านราย

“ทุกวันนี้ทั้งขนาดตลาดและการส่งสติ๊กเกอร์เติบโตมากขึ้นทุกๆ วัน เป็นการสื่อสารการตลาดที่แพร่หลายด้วยหลากหลายช่องทางทั้งส่ง แชร์ต่อ และนำไปสู่การซื้อ”

ดังนั้น ปีนี้เตรียมสานต่อความสำเร็จโดยจัดการประกวดออกแบบสติ๊กเกอร์ คอนเซ็ปต์ “แฮปปี้ ทู บี ไทย(Happy to be Thai)” แสดงออกถึงความเป็นไทย แฝงด้วยความสนุก ร่าเริง เริ่มส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.-24 ก.ค. 2558 ผู้เข้ารอบ 10 คน มีโอกาสร่วมท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ชมสำนักงานไลน์ พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์นักออกแบบสติ๊กเกอร์ชื่อดัง รวมเงินรางวัลมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ประกาศผล 17 ส.ค. 2558

เขาเผยว่า เป้าหมายหลักเปิดโอกาสให้นักออกแบบชาวไทยทั้งหน้าเก่าและใหม่ร่วมสร้างสรรค์ผลงาน อีกทางหนึ่งจากขณะนี้การทำตลาดเชิงท้องถิ่นทำได้ดีแล้ว งานสำคัญคือเพิ่มความเข้าใจให้มากขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาความล่าช้าการตรวจผลงานซึ่งบางช่วงที่เข้ามาจำนวนมากใช้เวลากว่า 5 เดือน ขณะนี้บริษัทพยายามปรับปรุง ทำให้กระบวนการเร็วขึ้น หากส่งเข้ามาอย่างถูกต้องตามระเบียบจะใช้เวลา 2-3 เดือน

โดยกระบวนการตรวจผลงาน หลังผ่านตรวจสอบเบื้องต้น ทีมงานในไทยจะเป็นผู้ตรวจสอบภาษาที่ใช้อีกครั้ง จากนั้นส่งไปที่ญี่ปุ่น หากได้รับการพิจารณาสามารถนำขึ้นขายได้ทันที ช่องทางมีทั้งบนไลน์สโตร์ รวมถึงแอพสโตร์ของระบบปฏิบัติการไอโอเอส และแอนดรอยด์

“นอกจากสติ๊กเกอร์ นักออกแบบสามารถนำผลงานไปต่อยอดสู่การ์ตูน ผ่านไลน์เว็บตูนได้ด้วย ส่วนธีมสำหรับใช้งานยังไม่มีแผนเปิดให้ส่งผลงานเข้ามาในขณะนี้”
นายเอกกล่าวต่อว่า โมเดลรายได้ หลังหักค่าบริการเกตเวย์จากแอพสโตร์ ที่เหลือผู้ออกแบบและไลน์จะแบ่งรายได้กันคนละครึ่ง ส่วนราคาขายเฉลี่ยสติกเตอร์อยู่ที่ 30 บาท

พร้อมกับแนะว่า การจะประสบความสำเร็จได้นั้นไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่ละประเทศมีความชอบต่างกัน เช่นไทยชอบคาแรคเตอร์ผู้หญิง ตัวเล็กๆ กุ๊กกิ๊ก ตลาดญี่ปุ่นเน้นตัวการ์ตูนน่ารักๆ งานที่จะได้รับการพิจารณาเป็นอันดับแรกๆ ชัดเจนว่าต้องมีคาแรคเตอร์เป็นเอกลักษณ์ แสดงอารมณ์ ความรู้สึกชัดเจน

นายนาโอโตโมะ วาตานาเบะ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนสติ๊กเกอร์ ไลน์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เสริมว่า สติ๊กเกอร์ที่ได้รับความนิยมต้องสื่อสารได้ง่ายในชีวิตประจำวัน แสดงสีหน้า อารมณ์ชัดเจน ส่วนเทรนด์ที่มาแรงอย่างมากในไทยคือสติ๊กเกอร์ที่ใช้ภาษาท้องถิ่น ทั้งอีสาน เหนือ แฝงด้วยอารมณ์ขัน แสดงเอกลักษณ์ของนักออกแบบ

“คนซื้อไม่ได้สนใจว่าลำดับความนิยมในสโตร์เป็นอย่างไร แต่มาจากการเห็นเพื่อนใช้งานแล้วซื้อตาม คนที่จะสำเร็จนอกจากใช้งานสะดวก ชัดเจน เข้าใจง่าย ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย”