แบงก์ชาติยันไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด

แบงก์ชาติยันไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด

แบงก์ชาติ ยืนยัน เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แม้กำลังซื้อชะลอตัว-เงินเฟ้อจะติดลบเป็นเดือนที่ 5

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. และ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน พฤษภาคม ที่ติดลบ 1.27% เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 นั้น ยังไม่ได้ถือว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แม้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคจะชะลอตัวลงบ้าง แต่ราคาสินค้าที่ปรับลดลงส่วนใหญ่เป็นราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลง แต่เชื่อว่าในระยะข้างหน้า เมื่อราคาน้ำมันเริ่มที่จะขยับขึ้น และความต้องการของผู้บริโภค ที่จะเริ่มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้ ดังนั้น จึงยังไม่น่ากังวลเกี่ยวกับเรื่องของภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ต้องการสื่อสารให้สาธารณะเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท และนโยบายการเงินในปัจจุบัน ว่า กนง. ให้ความสนใจต่ออัตราแลกเปลี่ยน ไม่ได้ชอบให้เงินบาทแข็งค่า และพร้อมจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวส่งผ่านนโยบายการเงิน แต่เครื่องมือหลัก ยังคงให้น้ำหนักกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการดูแลเสถียรภาพการเงิน โดยก็ยอมรับว่า ให้น้ำหนักกับอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มมากขึ้น เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสองครั้งล่าสุด ประกอบกับมาตรการผ่อนคลาย การไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ มีผลต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงค่อนข้างเร็วและมาก ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ส่งออก ทำให้มีรายรับในสกุลเงินบาทเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านราคากับสินค้าส่งออกบางกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะทำให้การส่งออกกลับมาขยายตัวดี ดังนั้น ผู้ส่งออกจะต้องศักยภาพการผลิตและพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า กนง. ไม่ได้ละเลยและติดตามดูความผันผวนของค่าเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายอยู่ตลอด ซึ่งพบว่า ยังไม่มีการเก็งกำไรค่าเงินบาทแต่การที่บาทอ่อนลงเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากที่ตลาดคาดการณ์ไปในทิศทางที่ว่าเงินบาทจะอ่อนค่า ซึ่งเป็นผลกระทบเชิงจิตวิทยา แม้ว่ากระแสเงินทุนต่างชาติ จะไหลออกไม่มากก็ตาม