อริยะ พนมยงค์ ชี้เทรนด์ฮิตแห่งปี 'วิดีโอ' โตเร็วและแรง

อริยะ พนมยงค์ ชี้เทรนด์ฮิตแห่งปี 'วิดีโอ' โตเร็วและแรง

"ประชากร 2 ใน 3 ของไทย หรือราว 45 ล้านคนใช้โมบายอินเทอร์เน็ต และชมวิดีโอบนโทรศัพท์มือถือ"

“ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เราได้นำเสนอประสบการณ์ที่สอดรับกับวิถีชีวิตของคนไทยอย่างแท้จริงผ่านทางยูทูบ ประเทศไทย (youtube.co.th) และวันนี้ผู้ชมชาวไทยได้ผลักดันให้ยูทูบติดอันดับ ท็อปเท็นในแง่ของ (จำนวน) เวลาที่คนไทยใช้ชมวิดีโอ เป็นผลมาจากการที่ยูทูบ ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตสูงถึง 110% ในแง่ของระยะเวลาการรับชมนับตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งเร็วกว่ามากเมื่อเทียบกับอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย”

นายอริยะ พนมยงค์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย กล่าว พร้อมระบุว่า หากต้องการรู้ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างในโลกอินเทอร์เน็ตช่วงปีที่ผ่านมา ยูทูบ ประเทศไทย นับเป็นบทเรียนที่เกือบจะสมบูรณ์แบบในการแสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ และนักการตลาดควรจะปรับตัวอย่างไรในยุคดิจิทัล

“วาระครบรอบหนึ่งปี นับเป็นช่วงเวลาดีที่เราจะเริ่มสำรวจนักสร้างสรรค์คอนเทนท์ชาวไทยว่า ได้ทำอะไรบ้างเพื่อดึงดูดผู้ชม และเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวโน้มสำหรับช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้”

ออนไลน์วิดีโอคือโมบายวิดีโอ
นายอริยะ กล่าวว่า เทรนด์แรกสุด คือ เทรนด์ของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งกลายเป็นหน้าจอหลักสำหรับการรับชมวิดีโอคอนเทนท์ภายในเวลาอันรวดเร็ว ปัจจุบันประชากร 2 ใน 3 ของไทย หรือราว 45 ล้านคน ใช้โมบายอินเทอร์เน็ต และชอบที่จะรับชมวิดีโอบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งตัวเลขวันนี้ พบว่า 50% ของระยะเวลาการรับชมบนยูทูบมาจากโทรศัพท์มือถือ

“ในช่วงสุดสัปดาห์ จะมีสักกี่คนที่นั่งอยู่บ้านเพื่อดูละครเรื่องโปรดหรือรายการเรียลลิตี้ทางทีวี เพราะเรามักจะออกไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ หรือใช้เวลาร่วมกับคนในครอบครัวเพื่อทำสิ่งต่างๆ ที่เราชื่นชอบ เพราะเรารู้ว่าเราสามารถรับชมรายการต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา ทุกวันนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนไทยก็คือ เนื้อหาคอนเทนท์ ไม่ใช่ขนาดหน้าจอหรือช่วงเวลาสำหรับการรับชม”

ไม่มีอีกแล้วที่ผู้ชมจะนั่งเฉยๆ เพื่อรับชมสิ่งต่างๆ ซึ่งนับเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับแบรนด์ต่างๆ เราได้เห็นผลงานการสร้างสรรค์มากมายจากแบรนด์ทุกขนาด เช่น ลาซาด้า (Lazada) ซึ่งตระหนักถึงศักยภาพของยูทูบ ในการส่งข้อความสู่กลุ่มแฟนคลับจำนวนมาก “แฟนคลับ” ที่ว่านี้เป็นคำเรียกที่เหมาะสม เพราะผู้ชมบนยูทูบ มีหลงใหล จงรักภักดี และพร้อมที่จะแสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกับแฟนกีฬาหรือแฟนคลับศิลปิน

โดยบางครั้งอาจเสนอไอเดียดีๆ สำหรับคอนเทนท์ใหม่ๆ และอาจบอกให้คุณรู้ถึงข้อผิดพลาด หรือข้อเสนอแนะบางอย่าง แต่ยูทูบมีพลังมากกว่าเพียงแค่การรวบรวมผู้ชม กล่าวคือ แฟนคลับผู้คลั่งไคล้แต่ละคนมีความกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมกับวิดีโอบนยูทูบ และด้วยเหตุนี้ คุณค่าที่แท้จริงของช่วงเวลาที่ผู้ใช้อยู่บนยูทูบก็คือ การมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นและจริงจัง

แนะแบรนด์ดึงผู้ชมด้วยโมบายวิดีโอ
นายอริยะ กล่าวต่อว่า แบรนด์ต่างๆ อาจสงสัยว่าเคล็ดลับความสำเร็จ คืออะไร ซึ่งคำตอบนั้นทั้งเรียบง่ายและซับซ้อนในเวลาเดียวกัน นั่นคือ คุณต้องสร้างสรรค์โฆษณาดีๆ ที่ดูไม่เหมือนโฆษณา กล่าวคือ เป็นโฆษณาที่ดูน่าสนใจเหมือนกับวิดีโอคอนเทนท์ทั่วไป โดยมีการบอกเล่าเรื่องราวที่ดี เพื่อให้ผู้ชมตัดสินใจที่จะรับชม และผู้ชมประเภทนี้เองคือสิ่งที่มีความหมายอย่างแท้จริงสำหรับแบรนด์ต่างๆ

ตัวอย่างเช่น ไทยประกันชีวิต ซึ่งติดอันดับใน YouTube Ads Leaderboard ประจำปี 2557 และไตรมาสแรกของปี 2558 พบว่า พลังของการเล่าเรื่องจะดึงดูดให้ผู้ชมเลือกที่จะรับชมโฆษณา ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก จึงอาจกล่าวได้ว่ายูทูบเป็นช่องทางสำหรับการส่งออกวัฒนธรรมไทยสู่ทั่วทุกมุมโลก

“ไม่มีสูตรที่ตายตัวสำหรับความสำเร็จบนยูทูบ แต่จากที่เราได้พบเห็นช่วงปีที่ผ่านมาในไทย และในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาตามประวัติของยูทูบ แบรนด์ที่ครองใจผู้ชมได้แท้จริง คือ แบรนด์ที่คิดและดำเนินการเหมือนกับผู้สร้างสรรค์เนื้อหาคอนเทนท์บน ยูทูบ แนวทางการเสนอขายแบบตรงไปตรงมา หรือฮาร์ดเซลล์ กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว ทุกวันนี้แบรนด์ต่างๆ พยายามบอกเล่าเรื่องราวที่น่าประทับใจในลักษณะที่จริงใจ โดยอาจอาศัยผู้สร้างสรรค์วิดีโอคอนเทนท์บนยูทูบจริงๆ เช่น เนสท์เล่ ซึ่งทำงานร่วมกับ VRZO แบรนด์ที่ตอบสนองต่อคำติชม ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอล้อเลียน คำติชมจากแฟนๆ หรือคำร้องขอข้อมูลเพิ่มเติม จะสามารถเข้าถึงผู้ชมยูทูบได้แท้จริง ถ้าหากแบรนด์หนึ่งๆ เข้าไปอยู่ในยูทูบ ผู้ชมก็คาดหวังว่าแบรนด์ดังกล่าวจะดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับผู้สร้างสรรค์คอนเทนท์รายอื่นๆ เมื่อแบรนด์ตอบสนองความคาดหวังดังกล่าวได้ สิ่งดีๆ ก็จะตามมา”

เผยเคล็ดความสำเร็จบนยูทูบ
นายอริยะ กล่าวว่า วันนี้มีผู้ชมบนยูทูบสำหรับแบรนด์ทุกประเภท และกฎเกณฑ์เก่าๆ ไม่สามารถใช้ได้กับแบรนด์บนแพลตฟอร์มใหม่นี้ สำหรับยูทูบ มีข้อจำกัดอยู่เพียงอย่างเดียว คือ ความคิดสร้างสรรค์ของคุณ ถ้าคุณมีเรื่องราวที่ใช้เวลาบอกเล่านานกว่า 30 วินาที คุณก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวดังกล่าวได้

“บริษัทที่ติดอันดับใน YouTube Ads Leaderboard ล่าสุดแสดงให้เห็นแล้วว่าผู้ชมพร้อมที่จะรับชมวิดีโอความยาว 3-4 นาทีโดยเฉลี่ย และคุณไม่จำเป็นต้องคาดเดาว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณมีแนวโน้มที่จะรับชมในช่วงเวลาใด เพียงแค่กำหนดว่าโฆษณาของคุณจะเชื่อมโยงกับเนื้อหาคอนเทนต์ประเภทใด ซึ่งคุณรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายชอบที่จะรับชมคอนเทนต์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคุณแม่ วัยรุ่น คนทำงานรุ่นใหม่ หรือใครก็ตาม ถ้าหากแบรนด์นำเสนอผลงานอย่างสร้างสรรค์บนยูทูบ ก็จะได้รับรางวัลตอบแทนจากแฟนคลับผู้ภักดี ซึ่งเลือกที่จะรับชมโฆษณาและดำเนินการบางอย่าง” นายอริยะ กล่าว