แนะรัฐทบทวน '10ปัจจัย' ก่อนเปิดโต๊ะพูดคุยดับไฟใต้

แนะรัฐทบทวน '10ปัจจัย' ก่อนเปิดโต๊ะพูดคุยดับไฟใต้

(รายงาน) แนะรัฐทบทวน "10ปัจจัย" ก่อนเปิดโต๊ะพูดคุยดับไฟใต้

เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานเลขานุการคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุขจัดประชุมร่วมกับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่าง 6 กลุ่ม ประกอบด้วย ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (บีอาร์เอ็น), องค์การกู้เอกราชสหปาตานี (พูโล) 3 กลุ่มย่อย, ขบวนการอิสลามปลดปล่อยปาตานี (บีไอพีพี) และขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี (จีเอ็มไอพี) ในนาม สภาพันธะแห่งประชาชนปาตานี หรือ MARA Patani (Majlis Amanah Rakyat Patani)


สาระสำคัญในการหารือของ สภาพันธะแห่งประชาชนปาตานี คือการตกลงตั้งองค์กรเพื่อให้ความเห็นของกลุ่มผู้เห็นต่างมีความเป็นเอกภาพ แต่ก็นับว่าเป็นการปรากฏตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกซึ่งทำให้เห็นเค้าลางที่จะนำไปสู่การพูดคุยกับรัฐบาลไทยในอนาคต


นับเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากในพื้นที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์รุนแรงมากว่า 11 ปี


กระนั้นก็ตามในงานประชุมระดมความคิดเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีข้อเสนอแนะจากนักวิชาการต่อการเจรจาพูดคุยดับไฟใต้ที่กำลังจะเกิดขึ้น


ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต และประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งบรรยายพิเศษเรื่อง ทัศนะในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างสันติสุข มองว่า สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นปัญหาซ้อนปัญหา


เขาเปรียบเทียบปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนกับฝีที่เท้าทำให้กระทบกับองคาพยพร่างกายทั้งหมด ฝีนี้ต้องได้รับการแก้ไขมิฉะนั้นร่างกายมนุษย์ผู้นั้นจะไม่มีทางมีความสุข และจะแก้ลำบากมากถ้าข้างบนเป็นโรคหัวใจซ้ำ กล่าวคือ ถ้าระบบการเมืองระดับชาติมีปัญหา ปัญหาทางใต้อย่าหวังว่าจะแก้ได้


“เป็นปัญหาซ้อนปัญหา ข้างบนมีปัญหา ข้างล่างก็มีปัญหา อย่าปฏิเสธความจริงถ้าเราต้องการหาคำตอบที่ถูกต้อง”


เขาบอกว่า ในทางวิชาการมีวิธีแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อย 4 วิธี คือ 1.ระบบผสมผสานกลมกลืน คือ ทำให้คนกลุ่มน้อยรับวัฒนธรรมคนกลุ่มใหญ่ และจูงใจด้วยประโยชน์ในระบบ เช่น ได้รับราชการไปถึงสูงสุด มีการศึกษา มีความร่ำรวย ซึ่งไทยประสบความสำเร็จในกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน


2.การบูรณาการ คือ ยอมรับบางส่วนของคนกลุ่มใหญ่ซึ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรใช้นโยบายนี้ แต่ในความเป็นจริงค่านิยมบางอย่างในพื้นที่หากกระทบสิ่งหนึ่งก็จะกระทบทั้งระบบ


3.สหพันธรัฐ คือ ต่างคนต่างอยู่มีการปกครองตนเอง มีเขตปกครองพิเศษแต่อยู่ภายใต้ประเทศเดียวกัน ซึ่งประเทศไทยเป็นแบบรวมศูนย์ และรับไม่ได้กับการให้มีเขตปกครองตนเอง ทั้งๆ ที่การปกครองตนเองไม่ได้แยกตัวไปจากประเทศนั้นๆ เพียงแต่ทำไม่ได้ 4 เรื่อง คือ ห้ามมีกองทัพ ห้ามมีธนบัตร ห้ามมีกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ และห้ามดำเนินนโยบายต่างประเทศ และ4.การใช้กำลังควบคุมบังคับปราบปรามเพื่อรักษาไว้แต่ในขณะเดียวกันฝีไม่มีทางหาย


“ไทยกำลังใช้นโยบายข้อสี่หรือไม่ หรือใช้นโยบายข้อสองผสมข้อสี่ แต่ถ้าสุดท้ายถ้าตกลงกันไม่ได้ มีการแทรกแซงจากต่างชาติจะเกิดก็จะเกิดการแยกตัว มีให้เห็นแล้วที่ซูดาน ซึ่งไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้น”

สำหรับ “ทางออก” ของปัญหา อาจารย์ลิขิต บอกว่า ถ้าในกรณีต้องมีการเจรจรก็มีคำถามสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องตอบ เนื่องจากยังมีปัญหาและอุปสรรคที่ต้องเผชิญด้วยกัน 10 ข้อ คือ


1.รัฐเห็นพ้องต้องกันหรือไม่ในแนวทางแก้ปัญหายุติความขัดแย้งด้วยการเจรจา ถ้าไม่เป็นฉันทานุมัติการเจรจาลำบาก


2.รัฐพร้อมรับข้อเสนอหรือเงื่อนไขสูงสุดได้แค่ไหน และข้อเรียกร้องเป็นที่พอใจของกลุ่มผู้ที่ต้องการเจรจามากน้อยเพียงใด 3.มีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่กับการยุติความขัดแย้ง อยากให้มีต่อไป เช่น ยาเสพติด มีอิทธิพลมากพอหรือไม่


4.กลุ่มผลประโยชน์จากธุรกิจผิดกฎหมายแต่อาศัยสถานการณ์เป็นตัวขวางการเจรจามากน้อยเพียงใด 5.กลุ่มที่ต้องการเจรจามีการเห็นพ้องในพวกเดียวกันหรือไม่ และมีการช่วงชิงการเป็นแกนนำในทางการเมืองหรือไม่อย่างไร


6.กลุ่มที่ทำหน้าที่เจรจามีอำนาจที่แท้จริงหรือไม่ ถ้ามีข้อตกลงเกิดขึ้นจะดำเนินการได้หรือไม่ โดยไม่ถูกขัดขวางจากกลุ่มตรงข้ามที่อาจมีมากกว่าหนึ่งกลุ่ม ที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้


7.ทั้งสองฝ่ายเงื่อนไขสูงสุดคืออะไร ลดทอนได้เพียงใด แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือการแยกตัวโดยเป็นรัฐต่างหากรับไม่ได้เด็ดขาด 8.มีการแทรกแซงจากต่างชาติทั้งใกล้และไกลหรือไม่ ถ้ามีตัวแปรดังกล่าวก็ยิ่งซับซ้อน และยากต่อการจัดการ


9.ขณะที่มีปัญหาเกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ สภาพการเมืองของไทยไม่มีเสถียรภาพดังนั้นการคาดหวังจะมีการเจรจาแก้ปัญหาย่อมยากจะเกิดขึ้น ในเมื่อส่วนบนร่างกายยังไม่หายจะหวังให้ฝีหายขาดคงยาก


10.ทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกันแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ หลากความคิด หลากจุดยืน ตลอดจนตัวแปรภายนอก ทำให้ยากที่จะเกิดความมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะแก้ปัญหา ผลคือ จากปัญหาชนกลุ่มน้อยกลายเป็นปัญหาทางการเมืองระดับชาติและระหว่างประเทศ


อีกทั้งเกี่ยวพันกับผลประโยชน์การประกอบอาชีพทั้งภายในและต่างประเทศทำให้ความขัดแย้งขยายวางกว้างหลายมิติ ส่งผลต่อความยากลำบากยิ่งของการแก้ปัญหาด้วยการเจรจา


เขาบอกว่า ไทยไม่สามารถปล่อยให้มีปัญหาอย่างนี้ได้เพราะสิ้นปีนี้จะเข้าประชาคมอาเซียน (เออีซี) เมื่อรวมกับกลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือ บริคซ์ (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน) กับเออีซี มีประชากรเป็นสองในสามของโลก ซึ่งทุกอย่างวิ่งมาที่เอเซีย ถ้าเรามีปัญหาก็จะไม่มีอำนาจต่อรองก็จะเติบโตในบริคซ์ยากมาก


“เราไม่มีทางเลือก เราต้องแก้ปัญหาข้างในของเรา จัดบ้านให้เรียบร้อยเพื่อยืนหยัดอย่างสง่าในเออีซี และจัดการกับบริคซ์และโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่จะต้องต่อสู้กับมหาอำนาจได้ อย่าปล่อยให้ฝีทำให่ร่างกายอ่อนแอจนกระทบร่างกายส่วนบน”

...................................................................


เสธ.ทบ.เผยสถิติเหยื่อรุนแรง บ่งชี้ทางเลือกกลุ่มก่อความไม่สงบ


พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก และเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) บรรยายในหัวข้อ “แนวคิดในการแก้ปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ในการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ใจความว่า ถึงวันนี้คิดว่าได้ทำเกือบทุกแนวทางแล้ว ส่วนแนวทางที่ทำไม่ได้เพราะเกี่ยวกับกฎหมายหรือติดขัดเรื่องอื่นๆ


ทว่าสิ่งที่เกิดในอดีตที่เจ้าหน้าที่รัฐทำผิด ผู้ใหญ่ก็ขอโทษและจะไม่ทำอีก แต่ที่ยังมีเกิดขึ้นก็ต้องบอกว่าไม่ได้เจตนา เพราะการปฏิบัติทุกครั้งเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปอาจเกิดความเครียด แต่เราก็ยอมรับเพราะเจ้าหน้าที่ถืออาวุธต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม


ส่วนขั้นตอนการแก้ปัญหาในพื้นที่มี 3 ขั้น ขั้นแรก ควบคุมสถานการณ์นั้นมีการส่งกำลังจากนอกพื้นที่เข้าไปดูแล ช่วงแรกเจ้าหน้าที่ยังเข้าไปในพื้นที่ไม่ได้ มีการปลุกระดม แต่ก็ใช้การเมืองนำการทหารแก้ปัญหา และนำกำลังต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่ก็ยอมรับว่าแรกๆ ไม่รู้ขนบธรรมเนียมประเพณี แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็ปรับตัวได้
ต่อมามีการตั้งทหารพราน รับสมัครคนในพื้นที่มาดูแลพื้นที่ตัวเอง อาสาสมัครของกรมการปกครองก็มีการฝึกเพิ่มเติมให้ดูแลความปลอดภัยทุกคน จึงมีการปรับลดกำลังทหารลง


“ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่ระยะที่สอง คือ ปฏิบัติเชิงรุกและพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ซึ่งใกล้เสร็จระยะที่สองแล้ว ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็จะค่อยๆ สลับกำลังที่มาจากนอกพื้นที่ออกไป”


เขาบอกด้วยว่า สถิติการก่อเหตุในพื้นที่ลดลง จำนวนครั้งลดลง แม้จะมีเหตุรุนแรงอยู่แต่ก็ถือว่าเป็นเหตุพิเศษมีวาระแอบแฝง


สิ่งบ่งชี้ว่าสถานการณ์ดีขึ้นคือ ทหารได้รับการต้อนรับ ไม่มีหมู่บ้านไหนที่เราเข้าไม่ได้ ไม่มีจุดไหนที่เข้าไม่ได้ วันนี้เราไม่เห็นการเดินขบวนประท้วงเจ้าหน้าที่ ส่วนเจ้าหน้าที่ทำผิดก็สอบสวนทันทีเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย ส่วนผู้เสียหายเยียวยาให้


“สถิติการเสียชีวิต การสังหารของเหยื่อปี 2547-2549 ส่วนใหญ่เป็นคนไทยพุทธ มุสลิมก็มีแต่ค่อนข้างน้อย แต่หลังจากนั้นมาปี 2550 ถึงปัจจุบัน สถิติพบว่ามีคนมุสลิมเสียชีวิตมากกว่าคนไทยพุทธ บางส่วนอาจเป็นคดีอาชญากรรมธรรม แต่ก็มีบางส่วนที่เราทราบว่าเป็นผู้ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐ สถิตินี้ชี้ให้เห็นว่าหากผู้ก่อเหตุร้ายมุ่งสังหารผู้ที่ปลุกระดมว่าเป็นพวกเดียวกันก็แสดงว่าไปผิดทางแล้ว ทางเลือกกลุ่มผู้ก่อเหตุเหลือน้อย”


สำหรับความคืบหน้าการพูดคุยเพื่อยุติปัญหาในพื้นที่นั้น เขาบอกว่า มีความคืบหน้าไปตามสมควร มีการเจรจากันอย่างสันติวิธีซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์ในอนาคตข้างหน้าจะดีขึ้น