'กระจายความเสี่ยง' โจทย์ใหญ่ LST

'กระจายความเสี่ยง' โจทย์ใหญ่ LST

หลังสารพัดความเสี่ยงในธุรกิจน้ำมันปาล์ม 'กดดันกำไร' 'อัญชลี สืบจันทศิริ' บอสใหญ่ บมจ.ล่ำสูง (ประเทศไทย) เล็งซื้อกิจการอาหารเพิ่มเติม

ความผันผวนของราคาน้ำมันปาล์ม , การแทรกแซงจากภาครัฐ , น้ำมันปาล์มขาดตลาด และผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มบรรจุขวดและผลปาล์มสดเป็นสินค้าควบคุม ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการของ บมจ.ล่ำสูง (ประเทศไทย) หรือ LST ผู้ดำเนินธุรกิจโรงสกัด (CRUSHING MILL) และโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม (REFINERY) ขยายตัวอย่างเชื่องช้า

ปัจจัยดังกล่าว ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทหมดเวลาไปกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ ด้วยการกระจายความเสี่ยงออกไปสู่ธุรกิจอาหารใหม่ๆ ซึ่งเมื่อปี 2557 บริษัทได้ขยายธุรกิจตลาดกลุ่มเบเกอรี่ โดยได้วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ช๊อคโกแลตอเนกประสงค์ ตราเดซี่ สำหรับทำขนมและเคลือบหน้าขนม

ขณะเดียวกันบริษัทยังเดินหน้าทำตลาดน้ำมันปาล์มหยก ขนาดบรรจุ 5 ลิตร และน้ำมันคาโนล่า ขนาด 13.75 ลิตร เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคารขนาดเล็ก และธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น รวมถึงยังปรับปรุงแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ สำหรับสินค้าน้ำมัน ผลไม้ ภายใต้แบรนด์ UFC ในกล่อง UHT ให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น และได้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายน้ำมะพร้าว 100% ในธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส

ปัจจุบันเจ้าของวิสัยทัศน์ 'บริษัทชั้นนำในธุรกิจอาหารที่มีการเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน' จำหน่ายผลิตภัณฑ์หลัก 6 ประเภท ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์ม ยี่ห้อหยก ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันพืชชนิดอื่น เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันถั่วเหลือง เป็น ต้น ผลิตภัณฑ์ไขมันพืชผสมและเนยเทียม ซึ่งดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัทในเครือ บมจ.สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม หรือ UPOIC

นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้บรรจุกระป๋อง ถุง Pouch และขวดแก้ว ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ กาแฟ เครื่องดื่มต่างๆ และผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรส ซึ่งดำเนินการผ่านบริษัทในเครือ บมจ.อาหารสากล หรือ UFC ปัจจุบัน 'ล่ำสูง' มีกำลังการผลิตของโรงกลั่นที่ 1,000 ตันต่อวัน หรือ 365,000 ตันต่อปี ถือเป็นโรงกลั่นน้ำมันปาล์มขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของ เมืองไทย

'อัญชลี สืบจันทศิริ' กรรมการผู้จัดการ บมจ.ล่ำสูง (ประเทศไทย) เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' ฟังว่า บริษัทยังคงมองหาธุรกิจอาหารใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เมื่อปีก่อนได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาธุรกิจอาหารประมาณ 4-5 แห่ง แต่สุดท้ายยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากบริษัทบางแห่งเสนอราคาขายค่อนข้างสูง ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรไม่เป็นไปตามที่บริษัทต้องการ

ตามแผนงานบริษัทจะพยายามลดสัดส่วน 'ธุรกิจกลุ่มน้ำมันพืช' ที่อยู่สูงถึงกว่า 60% และจะมองหาธุรกิจอาหารใหม่ๆ เพิ่มเติม เพราะเราอยากเห็นสัดส่วนรายได้จากกลุ่มน้ำ พืช และกล่มุอาหารฝั่งละ 50% ซึ่งการจะมีสัดส่วนเช่นนั้นได้ เราต้องมีธุรกิจอาหารที่มีขนาดเท่ากับ 'ยูเอฟซี' ประมาณ 2 บริษัท

'ธุรกิจอาหารเป็นกิจการยั่งยืนที่สุด เพราะทุกคนต้องกินต้องใช้' 'กรรมการผู้จัดการ' เชื่อเช่นนั้น เธอขยายความว่า เราซื้อหุ้น 'ยูเอฟซี' มาเมื่อปี 2547 แต่บริษัทเริ่มมีกำไรสุทธิในปี 2551 ประมาณ 10-20 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่ไม่สูง

แต่หลังยูเอฟซีออกผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าว 100% ในปี 2557 ทำให้มีกำไรสุทธิสูงถึง 600 ล้านบาท ปัจจุบันคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีเข้ามาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นเราเชื่อว่า ภายในปี 2558 ยูเอฟซีจะล้างขาดทุนสะสมหมด และสามารถจ่ายเงินปันผลได้ในปีหน้า

'จากนี้ 'ยูเอฟซี' จะกลายเป็น 'พระเอก' ของกลุ่มล่ำสูง ฉะนั้นความมีเสถียรภาพของผลประกอบการกำลังจะเกิดขึ้น ตัวเลขกำไรสุทธิของกลุ่มจะไม่ผันผวนอีกต่อไป'

เมื่อถามถึงทิศทางอุตสาหกรรมน้ำมันพืชในปี 2558 เธอ วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมยังคงมีการแข่งขันรุนแรง แต่คงไม่หนักเหมือนปีก่อน ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องปรับตัว ส่วนตัวมองว่า ผู้ที่จะอยู่รอดในธุรกิจนี้ ต้องเข้าใจทิศทางของราคาวัตถุดิบ

ที่สำคัญต้องบริหารสต็อกสินค้าให้ได้ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์น้ำมันปาล์มขาด ตลาดยังคงมีอยู่ แต่ไม่รุนแรง ซึ่งในส่วนของบริษัทจะสต็อกสินค้าไม่เกิน 3 เดือน เพราะน้ำมัน ในคลังของเราสต๊อกได้เต็มที่เพียง 45 วัน

'เราจะไม่แข่งขันในธุรกิจจนไม่มีกำไร' นายใหญ่ ยืนยัน

ส่วนตัวเชื่อว่า ผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2/58 ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2558 ที่มีกำไรสุทธิ 66.48 ล้านบาท หลังผลผลิตน้ำมันปาล์ม เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่งผลให้ราคาผลปาล์มปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว

จากกิโลกรัมละ 6 บาทกว่า ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. เหลือต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ราคาน้ำมันปาล์ม ดิบปรับลดลงจากกิโลกรัมละ 37 บาท เหลือกิโลกรัมละ 26-27 บาท ณ สิ้นเดือน มี.ค.ฉะนั้นต้นทุนผลปาล์มจะลดลง

'บริษัทมีแผนจะลงทุนในเครื่องจักร เพื่อปรับปรุงการผลิต รวมถึงลงทุนเครื่องจักรในส่วนที่จะมาทดแทนกำลังการผลิตเดิม ซึ่งคงใช้เม็ดเงินลงทุนไม่มาก'

'อัญชลี' ย้อนอดีตให้ฟังว่า เมื่อ 12 ปีก่อน 'สมชัย จงสวัสดิ์ชัย' อดีตกรรมการผู้จัดการ LST มองว่า ความเสี่ยงจากการทำธุรกิจน้ำมันปาล์มจ อาจส่งผลกระทบต่อผล ประกอบการของบริษัท ฉะนั้นคณะกรรมการจึงมีนโยบายให้กระจายความเสี่ยง ด้วยการหันไปรุกธุรกิจอาหาร

ทั้งนี้บริษัทได้ตัดสินใจซื้อกิจการบมจ.อาหารสากล หรือ ยูเอฟซี แม้บริษัทดังกล่าวจะมีผลประกอบการขาดทุนประมาณ 200 ล้านบาท แถมเครื่องจักรและโรงงานยังเก่ามาก แต่ทีมบริหารเชื่อว่า อนาคตบริษัทแห่งนี้จะสร้างกำไรให้กลุ่มล่ำสูง ปัจจุบันก็สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า เราคิดไม่ผิด แม้จะใช้เวลายาวนานก็ตาม

'ราคาหุ้น LST ไม่ค่อยเคลื่อนไหว อาจเป็นเพราะมีสภาพคล่องต่ำ เพราะหุ้นส่วน ใหญ่อยู่ในมือผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งหลายรายมักถือลงทุนระยะยาว เพื่อรอรับเงินปันผล ปัจจุบันบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ' 'อัญชลี' เล่าความสวย

                                                     'พื้นฐาน & ปันผล' หุ้นทำเงิน

'อัญชลี สืบจันทศิริ' เล่าเรื่องการลงทุนส่วนตัวให้ฟังว่า เริ่มลงทุนหุ้นในลักษณะ 'เก็งกำไร' ก่อนเมืองไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง พอร์ตหุ้นเสียหาย 'หลักล้านบาท' ทำให้ตัดสินใจหยุดลงทุนในที่สุด

หายจากหน้าจากตลาดหุ้นไป 10 กว่าปี ก็กลับมาซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพราะต้องการนำมาลดหย่อนภาษี ซึ่งผลการลงทุนใน LTF คือ ไม่เคยขาดทุน ทำให้หันกลับมามองการลงทุนในตลาดหุ้นใหม่อีกครั้ง คราวนี้ขอเน้นพื้นฐานดี ปันผลงาม ส่วนพวกเก็งกำไรขอโบกมือลา

เธอ บอกว่า มีโอกาสกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นจริงจังเมื่อ 2 ปีก่อน หลังพบว่า ลงทุนในหุ้นพื้นฐานได้กำไรดีกว่านำเงินไปฝากแบงก์ โดยผลตอบแทนในปี 2557 อยู่ระดับ 3-4% แม้ไม่สูงมากกว่า แต่ดีกว่าดอกเบี้ยแบงก์ ปัจจุบันมีหุ้นในพอร์ต 4-5 ตัว มูลค่าลงทุน 10 ล้านบาท

'ผลตอบแทนปีละ 10%' 'อัญชลี' บอกเป้าหมายการลงทุน พร้อมเล่าความสวยของหุ้นในพอร์ตว่า ปัจจุบันมีหุ้นกลุ่มสื่อสารอยู่ในมือ 2 ตัว คือ หุ้น แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC และ หุ้น โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC สาเหตุที่ชอบหุ้นสองตัวนี้ เพราะแนวโน้มธุรกิจมีโอกาสขยายตัว ฉะนั้นการที่ธุรกิจจะไม่เติบโตมีเพียงเรื่องเดียว คือ คนเลิกใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นไปได้ยาก

นอกจากนั้นยังมี หุ้น สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP ซื้อหุ้นตัวนี้แถว 100 กว่าบาท ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทมีปัญหาเรื่องการลงทุนในต่างประเทศ เรามองว่าอีกไม่นานราคาจะกลับมา ขณะเดียวกันยังมี หุ้น ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL เขาเป็นแบงก์ที่มีความแข็งแกร่งด้านการเงิน แถมยังมีคนที่ใช้บริการจำนวนมาก

ขณะเดียวกันยังมี หุ้น แลนด์แอนด์เฮ้าส์ หรือ LH โดยโครงการของ LH มีมาตรฐานที่ดี และบริษัทมีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งกลยุทธ์สร้างเสร็จก่อนขายของ LH ถือเป็นตัวดึงดูดเงินลงทุน เพราะกลยุทธ์ดังกล่าวกำลังบ่งบอกว่า บริษัทไม่ต้องการเงินของลูกค้ามาลงทุนก่อน นั่นแสดงว่า บริษัทต้องมั่นใจว่า บ้านสร้างเสร็จก่อนขายจะต้องขายได้อย่างแน่นอน

เธอ เล่าต่อว่า ตอนนี้กำลังศึกษาและรอจังหวะที่จะเข้าไปลงทุนใน หุ้น แสนสิริ หรือ SIRI ซึ่งมองว่าเป็นหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ดีอีกตัวหนึ่ง เพราะเป็นผู้ประกอบการที่สร้างบ้านเสร็จก่อนขายเหมือนกัน แถมราคาบ้านก็อยู่ระดับใกล้เคียง LH และราคาหุ้นยังไม่แพงมาก

นอกจากนั้นยังเล็งจะซื้อหุ้น 'กลุ่มโรงพยาบาล' แต่ติดอยู่ที่ว่า ราคาสูงมากเกินไป แต่ถ้ามองในแง่ของธุรกิจยังถือว่ามีโอกาสเติบโตอีกมาก ปัจจุบันประชาชนหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ประกอบกับประเทศไทยกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนมีเงิน และพร้อมที่จะเสียค่ารักษาพยาบาล

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้จะเน้นหุ้นที่อยู่ใน SET 50 โดยจะไม่เข้าไปซื้อหุ้นในช่วงที่ไล่ราคากัน แต่จะรอจังหวะที่ราคาปรับตัวลดลง และไม่วิ่งไปไหนนาน 3-4 เดือน ส่วนตัวมองว่า การลงทุนในหุ้นพื้นฐาน แม้ราคาจะลดลง แต่เมื่อพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยน อีกไม่นานหุ้นจะกลับมา