ปลดอดีต'ผู้ว่าฯ-นอภ.-ขรก.'บึงกาฬยกเข่งเอี่ยวโกงยาฆ่าเพลี้ย

ปลดอดีต'ผู้ว่าฯ-นอภ.-ขรก.'บึงกาฬยกเข่งเอี่ยวโกงยาฆ่าเพลี้ย

"อนุพงษ์" รับมติอกพ.มหาดไทยให้ปลดอดีต"ผู้ว่าฯ-นอภ." บึงกาฬยกเข่งเอี่ยวโกงยาฆ่าเพลี้ย คาดเล็งใช้ ม.44 สำเร็จโทษ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน(อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มีมติปลดนายสมพงษ์ อรุณโรจน์ปัญญา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ และนายอำเภอทุกอำเภอจำนวน 8 อำเภอ กรณีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างสารป้องกันเชื้อรา หรือเพลี้ย (คาร์เบนดาซิมหรือแมนโดแซน) ในปี2554ว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เมื่อมีการสอบสวนไปถึงผู้ใด ก็ต้องลงโทษทางวินัย ตามกฎหมาย ส่วนขั้นตอนหลังจากปลดอดีตผู้ว่าฯที่เกี่ยวข้องคนดังกล่าวนั้น ต้องอยู่ที่ที่ประชุมอ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย ภายหลังที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ชี้ว่ามีความผิดในลักษณะที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบทำให้เกิดความเสียหายหรือมีการทุจริตหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมอ.ก.พ.มีมติออกมาแล้ว

"ผมได้รับรายงานแล้วในเบื้องต้น ในแง่ของกฎหมาย เขาจะขอทำเป็นลายลักษณ์อักษร คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน2-3วัน ก็จะสรุปขึ้นมา เพราะเขาบอกว่าใครที่ถูกลงโทษไปนั้น มีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องได้ เราก็อยากทำให้รัดกุม เกิดความเรียบร้อยตามกฏหมาย อย่าให้ช่องโหว่ที่จะทำให้เกิดการฟ้องร้องขึ้นมา"รมว.มหาดไทย กล่าว

ต่อข้อถามว่า ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) ได้ส่งรายชื่อข้าราชการทุจริต 152 ราย ล็อต 2 ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยมาหรือยัง รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ยังไม่ได้รับ คราวที่แล้วก็ไม่ได้ส่งมายังกระทรวงมหาดไทย แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยื่นซองส่งด้วยมือตนเองมาให้ตน แต่ครั้งนี้ตนยังไม่ได้พบ

ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนของกระทรวงมหาดไทยยังไม่รู้จำนวนที่แน่ชัดหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า "มันคงไม่รู้มั้ง เพราะยังไม่ได้ส่ง"

ส่วนรายชื่อข้าราชการทุจริตของกระทรวงมหาดไทย จะต้องอิงตามมาตรา 44 เลย หรือทางกระทรวงสามารถที่จะดำเนินการได้เลยหรือไม่นั้น รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ถ้าล็อตที่ 1 ใช้มาตรา 44 ไป ตนคาดว่า ชุดต่อไปก็คงเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งคราวที่แล้วท่านนายกฯ เป็นผู้พิจารณาขอให้ไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม โดยใช้มาตรา 44 ในทุกกระทรวง หรือหน่วยงานที่เกี่วข้อง      

ผู้สื่อข่าวถามย้ำอีกว่า ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยจะเกี่ยวข้องประมาณกี่ราย รมว.มหาดไทย กล่าวว่า “จะรู้ไหมล่ะ ผมเคยเรียนหลายครั้งแล้วว่าเรื่องนี้มันตั้งแต่ปี55 ทราบว่ามีเยอะจังหวัด หลายจังหวัดที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แล้วในส่วนเกี่ยวข้องหมายความว่าแต่ละกรณีก็จะมีส่วนเกี่ยวข้องเยอะ ยกตัวอย่างว่า ซื้อยาฆ่าแมลง เรื่องอะไร เรื่องข้าว เรื่องยาง แล้วมันก็จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจรับ ก็จะโดนเป็นชุดๆ ไป เพราะมันเยอะ ผมตอบได้ว่ามันคงหลายคน หลายส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องมีการสอบสวน"

นอกจากนี้พล.อ.อนุพงษ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม ในกรณีดังล่าวจะมีบ้างหรือไม่ที่เหลือกจากล็อตที่1 มาล็อตที่2 โดยกล่าวว่า ให้ไปถามทางสตง.จะดีกว่า เพราะว่าเขาเป็นคนสอบสวน ตนรู้เพียงคร่าวๆ ตนพูดผ่านสื่อมาหลายครั้งแล้ว และสื่อก็นำไปลงตั้งหลายครั้ง 

นอกจากนี้พล.อ.อนุพงษ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในส่วนของกระทรวงมหาดไทย หลังจากรายชื่อข้าราชการทุจริตล็อตที่ 1 ประกาศออกไปแล้วว่า ถ้าการสอบสวนจบแล้วเราก็จะดำเนินการทางวินัยทันที แต่ถ้ายังไม่จบเราต้องตั้งกรรมการสอบสวนจากข้อเท็จจริงที่มีตามลำดับ โดยอิงจากระเบียบที่มี หากตั้งคณะกรรมการสอบสวนจนเสร็จสิ้น เราก็จะมาดำเนินการทางวินัย ขณะที่จะต้องใช้ระยะเวลานานหรือไม่นั้น ในครั้งนี้ถือว่า เร็ว เพราะว่าเรามีการเร่งรัด

"ประเด็นที่มันยุ่งยากก็คือ ในบางกรณีมันเป็นข้าราชการจากกระทรวงอื่นมาเกี่ยวข้อง กรณียาฆ่าแมลงมันมีกระทรวงอื่นเป็นเจ้าหน้าเซ็นรับ ถือว่า ไปเกี่ยวข้องด้วย ในเรื่องนี้ไม่ใช่กระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องเพียงกระทรวงเดียว มันมีหลายกระทรวงและหลายกรมเข้ามาเกี่ยวข้อง" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวและว่า

เรื่องดังกล่าวท่านนายกฯ มีนโยบายเร่งรัดไปตามกฏหมายและข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน โดยกรอบเวลาในการทำงานคือ ต้องทำทันที เพียงแต่ติดปัญหาที่ว่ามีหลายกระทรวงเกี่ยวข้อง ทำให้ติดขัดในเรื่องการสอบสวนและประสานงานอยู่เล็กน้อย ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ดำเนินการในการสอบสวนตามขั้นตอน ตนเพียงแต่กำกับดูแล ในด้านนโยบายเรื่องดังกล่าวก็ต้องเร่ง ปล่อยนิ่งเฉยไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกสารคณะกรรมการ ป.ป.ช.คำสั่งที่ 571/ 2557 ระบุฐานความผิดถึงกรณีทุจริตจัดซื้อจัดจ้างสารป้องกันเชื้อรา หรือเพลี้ย (คาร์เบนดาซิมหรือแมนโดแซน) ในปี2554ว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 สำหรับในกรณีดังกล่าวมีข้าราชการเกี่ยวข้องทั้งหมด 37 คน โดยมีข้าราชการระดับสูงอย่าง ผู้ว่าฯ-ปลัดจังหวัด รวมถึงนายอำเภอ และปลัดอำเภอหลายแห่ง ขณะที่มีเอกชนผู้เกี่ยวข้อง 4 แห่ง

โดยนายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ได้มีประกาศจังหวัดบึงกาฬ เรื่อง ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (โรคระบาดในนาข้าว) ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 และวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 โดยประกาศแยกเป็นรายอำเภอ ทั้งที่มิได้เกิดโรคระบาด หรือเกิดความเสียหายรุนแรงจนเกษตรกรต้องการความช่วยเหลือหรือมีภัยพิบัติฉุกเฉินจริง

ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 นายสมพงศ์ แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง สารเคมีคาร์เบนดาซิม ประกอบด้วย นายอรรถนนท์ โนสุวรรณ ปลัดจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานกรรมการ นายเฉลิมพล เขตบุรี รักษาการเกษตรจังหวัดบึงกาฬ เป็นกรรมการ และนายปริญญา สายสุพรรณ์ รักษาการป้องกันจังหวัดบึงกาฬ เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการกำหนดราคากลางดังกล่าว กำหนดราคากลางที่ควรจัดซื้อผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช (คาร์เบนดาซิมหรือแมนโคเซน) 50% ระหว่าง 400-500 บาท/250 ซีซี หรือ 1,600-2,000 บาท/1,000 ซีซี ซึ่งมีนายสมพงศ์ เห็นชอบตามราคาที่เสนอ ทั้งที่ราคาดังกล่าวสูงเกินจริง  

แหล่งข่าวในที่ประชุมอนุกรรมการข้าราชพลเรือน (อ.กพ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในที่ประชุมวานนี้ ( 27 พ.ค.) มีมติให้ลงโทษ (วินัยร้ายแรง) ปลดออกจากราชการ ดังนี้อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ปลัดจังหวัดและป้องกันจังหวัด รวมถึงนายอำเภอ 8 อำเภอ ขณะที่โทษลดเงินเดือน ( วินัยไม่ร้ายแรง ) ได้แก่ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และเสมียนตราอำเภอ 8 เภอ อย่างไรก็ตามที่ประชุม อ.กพ.มท. ยังได้ ระบุอีกว่า เมื่อผู้ถูกลงโทษไม่เห็นด้วยกับโทษดังกล่าวสามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม (ก.พ.ค.) ภายใน 30 วัน หากมีผลวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วไม่เห็นด้วยสามารถนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกรณีการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว ได้มีข้าราชการหลายกระทรวงในระดับสูงและระดับรอง ๆ ลงมาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตมีจำนวนเกือบ 4,000 คน โดยบางส่วนยังคงรอผลการสอบสวนจากองค์กรอิสระ 

อาทิ สตง. และป.ป.ช.ดำเนินการสอบสวนอยู่ หากผลการดำเนินการแล้วเสร็จเร็วจะทำให้มีข้าราชการถูกดำเนินการลงโทษเป็นจำนวนมากในประวัติศาสตร์