เปิด!ระเบียบ สตช. ถอดยศ 'พ.ต.ท.ทักษิณ'

เปิด!ระเบียบ สตช. ถอดยศ 'พ.ต.ท.ทักษิณ'

เปิดระเบียบ สตช. ถอดยศ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ปมกรณีถูกศาลพิพากษาจำคุกและคดีถึงที่สุดแล้ว

กระบวนการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2552 หลังจากที่ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ โดยเมื่อวันที่ 8 มกราคา 2552 ผู้บังคับการกองวินัยในขณะนั้น ได้ระบุว่า ทางกองวินัยในฐานะต้นเรื่องได้ทำการตรวจสอบตามข้อมูลที่ปรากฏ พบว่า กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าเงื่อนไของค์ประกอบตามระเบียบสำนักงานตำารวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. 2547 เนื่องจากถูกศาลพิพากษาจำคุกและคดีถึงที่สุดแล้ว จึงส่งเรื่องเสนอไปยังกองกำพล ซึ่งกระบวนการขั้นต่อไปทางกองกำลังพลจะต้องประมวลเรื่องเสนอไปยัง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ในสมัยนั้นคือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ) เพื่อพิจารณาดำเนินการถอดยศต่อไป

แต่ปรากฏว่า ในขณะนั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดึงเรื่องเอาไว้หรือไม่ ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ อ้างถึงเงื่อนไขในแง่ทางกฎหมาย พร้อมกับมีการส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ โดยครั้งแรกช่วงเดือนกันยายาม 2552 ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัยเป็นครั้งแรก โดยมีการวินิจฉัยเสร็จในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน สรุปว่า “การกำหนดเหตุแห่งการถอดยศมุ่งหมายถึงผลที่ผู้นั้นได้รับจากคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเท่านั้น โดยไม่ได้มุ่งหมายถึงสถานะของบุคคล กระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีหรือฐานความผิดว่า จะต้องเป็นไปตามกฎหมายใด ดังนั้น ถ้าข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าเป็นคำพิพากษาของศาลใด ย่อมอยู่ในหลักเกณฑ์แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. 2547”

แต่ปรากฎว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อ้างว่า มีส.ส. และข้าราชการบำนาญ มีหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร้องขอให้ยกเลิกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจฯ ในส่วนที่ใช้บังคับกับอดีตข้าราชการำตรวจหรือบุคคลภายนอกเพราะเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ส่งเรื่องหารือกับทางคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งเมื่อเดือนเมษายน 2554 อีกครั้ง ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งคำวินิจฉัยยืนยันอีกครั้งในวันที่ 27 มิถุนายน 2554 ว่า “การออกระเบียบว่าด้วยการถอดยศฯ ไม่ถือเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

สำหรับการถอดยศตำรวจมีการบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 28 โดยระบุแต่เพียงว่า “การถอดหรือการออกจากยศตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้ทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ” โดยระเบียบดังกล่าวไม่ได้จำกัดตำรวจที่จะถูกถอดยศไว้เฉพาะตำรวจที่รับราชการเท่านั้น โดยในระเบียบข้อ 1 ระบุว่า “การเสนอขอถอดยศตำรวจทั้งแก่ผู้ที่อยู่ในราชการตำรวจและที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว”

เนื้อหาสำคัญมาตรา 11 (4) มาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 วางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ 1.การเสนอขอถอดยศตำรวจทั้งที่อยู่ในราชการตำรวจและที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว ให้กระทำเมื่อมีเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1.ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ว่าทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แม้ศาลจะพิพากษารอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ตาม
2.ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
3.ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลย เพราะก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นโดยทุจริต
4.กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
5.ประพฤติชั่วร้ายแรง สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
6.ผู้ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิอยู่ในราชการหรือหน่วยงานรัฐ
7.ถูกสั่งให้ออกจากราชการ เพราะขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ

สำหรับพ.ต.ท.ทักษิณ เข้าข่าย 2 กรณี ข้อ (2) และข้อ(6) ขั้นตอนการดำเนินการถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณนั้น คือ 1.ในส่วนที่พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกนั้น ให้กองวินัย หรือผู้บังคับบัญชาที่ได้รับมอบอำนาจในการดำเนินการทางวินัยมีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาว่า ผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศแล้วแจ้งผลการพิจารณาพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ให้กองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาถอดยศ

2. ในส่วนที่พ.ต.ท.ทักษิณหลบหนีคดีอาญาไปอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษนั้นให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รับทราบข้อมูลการต้องหาคดีอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา ของผู้ที่ดำรงยศตำรวจทั้งในส่วนของผู้ที่พ้นจากราชการไปแล้ว หาข้อมูลเบื้องต้นให้แน่ชัดแล้วส่งเรื่องให้กองวินัยพิจารณา หากเห็นว่าผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศก็ให้ส่งเรื่องไปยังกองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา ถอดยศต่อไป