ภาคปชช.จี้คุมค่ารักษารพ.เอกชนทั้งยวง

ภาคปชช.จี้คุมค่ารักษารพ.เอกชนทั้งยวง

ภาคประชาชนชี้คุมราคารพ.เอกชน ชงแนวทางคุมค่ายา-ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ กำหนดราคาทุนบวกเพดานค่าปัจจัยเสริมเท่ากันทุกแห่ง

ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเข้าหารือร่วมกับคณะกรรมการดำเนินการแก้ปัญหารพ.เอกชนเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงที่มีนพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์เป็นประธานว่า ในการเข้าพบเครือข่ายได้นำเสนอแนวทางแก้ปัญหารพ.เอกชนเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงใน 5 ข้อ ได้แก่ 1.ให้มีผู้แทนภาคประชาชนในคณะกรรมการแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลรพ.เอกชนชุดต่างๆ จำนวนชุดละ 3-5 คน 2.มาตรการแก้ปัญหาต้องมีการควบ คุมค่ายา มาตรการควบคุมและกำหนดราคายาให้โปร่งใส โดยเป็นราคาที่ปิดฉลากมาจากโรงงานและค่าบริหารจัดการด้านยาที่คงที่ทุกโรงพยาบาล ส่วนในระยะต่อไปให้จัดทำโครงสร้างต้นทุนและผูกติดกับเรื่องการขึ้นทะเบียนระบบต้นทุน โดยให้พัฒนาระบบการกำกับควบคุมค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่นอกเหนือจากยาให้เหมาะสมและเป็นธรรม

3.ส่งเสริมให้โรงพยาบาลให้ใช้การรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพและไม่ให้การรักษาเกินความจำเป็น 4.ในส่วนของระบบการแพทย์ฉุกเฉินเห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ก่อนหน้านี้แต่ขอเพิ่มเติมให้สธ.กำหนดแบบใบยินยอมการรักษาของผู้ป่วยให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยระบุเฉพาะการยินยอมให้การรักษาเท่านั้น และในกรณีที่ผู้ป่วยมีสิทธิประกันสุขภาพเอกชนและอื่นๆให้กำหนดแนวปฏิบัติให้ชัดเจน และ5.การจัดทำเว็บไซต์กลาง ต้องกำหนดค่ารักษาพยาบาลให้มีทั้งสถานพยาบาลรัฐส่วนต่างๆเพิ่มจากที่ประกาศเฉพาะในภาคเอกชน และเพิ่มภาคประชาชนในอนุกรรมการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน

นพ.ประทีป สัจจะมิตร อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ในฐานะเครือข่ายฯ กล่าวว่า ไม่อยากให้ค่ารักษาพยาบาลเป็นเรื่องของการค้า เพราะผลสุกท้ายภาระจะตกกับประชาชน จึงต้องมีการพิจารณาแนวทางแก้ไขในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลในรพ.เอกชน โดยในส่วนของค่ารักษาทั้งที่เป็นค่ายาและค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล จะต้องพิจารณาราคาต้นทุนแล้ววิเคราะห์ราคาที่เหมาะสม คือ ราคาต้นทุนเท่าไหร่ แล้วสามารถบวกเพิ่มค่าปัจจัยอื่นๆได้เท่าไหร่ ซึ่งค่าปัจจัยอื่นๆที่บวกเพิ่มขึ้นนั้นต้องเป็นอัตราเดียวกันทั้งหมดทุกโรงพยาบาลเอกชน แต่จะแตกต่างกันระหว่างรพ.รัฐกับเอกชน เพื่อให้ประชาชนรับรู้ได้ว่าจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าไหร่ ทั้งนี้ การกำหนดอัตราการบวกเพิ่มจากราคาต้นทุนจะต้องดำเนินการโดยองค์กรกลางที่เป็นหน่วยงานกลางจริงๆ

“การแก้ปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาลรพ.เอกชนแพง ไม่ใช่เฉพาะแก้ปัญหาค่ายาเท่านั้น แต่จะต้องรวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์อื่นๆที่ถือเป็นค่ารักษาพยาบาลด้วย โดยจะต้องระบุราคาต้นทุนแล้วกำหนดอัตราการบวกเพิ่มเติม เพราะรพ.เอกชนก็ต้องมีการดำเนินการทางธุรกิจจะให้ใช้ราคาต้นทุนอย่างเดียวคงไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ค่ายาเมื่อทราบว่ามีต้นทุนเท่านี้ ต้องกำหนดเลยว่ารพ.เอกชนบวกเพิ่มจากราคาต้นทุนได้เท่าไหร่ และรพ.รัฐบวกเพิ่มได้เท่าไหร่ เป็นต้น ส่วนค่าอื่นๆของรพ.เอกชนที่ไม่ใช่ค่ารักษาพยาบาล แต่เป็นค่าบริการความหรูหราหรือค่าการอำนวยความสะดวกต่างๆ ภาคประชาชนไม่ได้ไปเรียกร้องให้มีการควบคุม เพราะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของการดำเนินธุรกิจ จึงขอเฉพาะในส่วนราคาที่เป็นค่ารักษาพยาบาลเท่านั้นที่ต้องมีการควบคุม”นพ.ประทีปกล่าว

ด้านนพ.ศุภชัย กล่าวว่า ข้อเสนอที่เครือข่ายภาคประชาชนเสนอมานั้นยินดีรับฟังและจะนำไปเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการดำเนินการฯและบางส่วนจะเสนอให้ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)รับทราบและให้ความคิดเห็นต่อไป ซึ่งทุกฝ่ายล้วนเข้าใจและหวังดีในการพัฒนาระบบสาธารณสุขสร้างสิ่งดีต่อประชาชน