ปลดล็อคประมูล 4 จี

ปลดล็อคประมูล 4 จี

เสนอให้นายกฯใช้ม.44 สั่งการและดำเนินการจัดระเบียบคลื่นความถี่ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่ กสทช.จะเปิดประมูล 4 จี ขจัดความได้เปรียบ เสียเปรียบ

ดูเหมือนห้วงเวลานี้ การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จะเป็น "โอสถทิพย์"ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลคสช.ไปแล้ว 

แก้ปัญหาการขายสลากเกินราคา ขจัดเหลือบมาเฟียที่ฝังรากลึกหากินอยู่ในกองสลากไม่ได้ นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็งัด ม.44 ออกประกาศคุมราคาจำหน่ายสลากประกาศ งัดมาตรการขั้นเด็ดขาดทั้งจำทั้งปรับเอาผิดกับผู้ค้าสลากเกินราคา

แก้ปัญหา"ห่วยแตก"ของกรมการบินพลเรือน (บพ.) ที่แจกใบอนุญาตทางการบินไร้มาตรฐานจนถูกองค์การการบินระหว่างประเทศ(ไอซีเอโอ) ทิ้งบอมบ์จ่อจะเรียกแขกให้งานเข้า สายการบินของไทยจ่อจะถูกต่างประเทศบอยคอตห้ามบิน ก็ชงนายกฯใช้กฎหมายพิเศษ ม.44 รื้อโครงสร้างกรมการบินพลเรือน แยกหน่วยงานกำกับและหน่วยงานบริหารสนามบินออกจากกันเด็ดขาด

แก้ไขปัญหาการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศที่ "อืดเป็นเรือเกลือ" ไม่ได้ก็จ่อจะชงนายกฯใช้อำนาจตาม ม.44 ไล่บี้ให้หน่วยงานเร่งรัดการเบิกจ่ายและการประมูล หรือแม้แต่การใช้อำนาจพิเศษ ม.44 สั่งข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะพัวพันกรณีการทุจริต เป็นต้น

จนดูจะกลายเป็นโอสถทิพย์ที่แก้ไขปัญหาทุกอย่างได้อย่างเบ็ดเสร็จไปแล้วในเวลานี้ ทั้งที่ในข้อเท็จจริงนั้นบางปัญหาก็ใช่เรื่องที่จำเป็นจะต้องงัดโอสถทิพย์ ม.44 ที่ว่ามาใช้ เพราะแม้จะใช้ไปก็ใช่ว่าจะเป็นการแก้ไขของปัญหาอย่างแท้จริง อย่างเรื่องของมาเฟียกองสลากต้นตอของหวยแพงเป็นต้น

เห็นหลากหน่วยงานเอะอะก็จ้องชงนายกฯและหัวหน้าคสช.ให้งัดโอสถทิพย์ ม.44 แล้วก็อยากเสนอนายกฯให้งัด ม.44 ที่ว่ามาใช้กับการปลดล็อคประมูล 4 จีด้วยเสียเลย เพราะแม้หัวหน้าคสช.จะไฟเขียวให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)เร่งรัดเปิดประมูลคลื่นความถี่เพื่อออกใบอนุญาตมือถือ 4 จีในปลายปีนี้

แต่ดูเหมือนเส้นทางการเปิดประมูลมือถือระบบดังกล่าว จะไม่ได้จบลงด้วยประกาศิตของหัวหน้าคสช.เท่านั้น เพราะอย่างที่ทุกฝ่ายรู้แก่ใจกันดี เบื้องหลังการประวิงเวลาประมูลมือถือ 4 จีที่ว่านี้ มี"มือที่มองไม่เห็น Invisible Hand" ชักใยอยู่เบื้องหลังเพื่อหวังกินรวบระบบ 4 จีนั่นเอง

ไม่อย่างนั้นมีหรือที่จู่ ๆ คสช.จะกระตุกเบรกประมูลมือถือระบบ 4 จีได้หรือ ทั้งที่เป็นความจำเป็นของประเทศ และสุดท้ายก็ไม่เห็นจะให้กสทช.รื้อเกณฑ์การประมูลอะไรที่ใหม่ออกมา

น่าแปลกที่แม้วันนี้ กสทช.จะยังไม่ได้ประมูลออกใบอนุญาต 4 จีให้กับใคร แต่ไหงค่าย "ทรูมูฟ" กับช่วงชิงคลื่นความถี่ออกมาให้บริการเป็นเจ้าเดียวได้เป็นปี เรื่องอย่างนี้กลับไม่เห็นเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นอะไรที่ไหน หรือหน่วยงานไหนจะออกมาร้องแรกแหกกระเชอว่าทำได้อย่างไร มีกฎบัดกฎหมายหลักเกณฑ์อะไรที่ไหนรองรับ?

เพราะการเปิดให้เอกชนรายหนึ่งช่วงชิงความได้เปรียบเปิดให้บริการ 4 จีไปก่อนใครอื่นนั้น ไม่เพียงจะก่อให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบแล้วยังทำให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบจากการโขกสับค่าบริการที่ไร้คู่แข่ง

ที่สำคัญภาครัฐคือกสทช.เองก็ไม่ได้เม็ดเงินค่าต๋ง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เพราะเขาไปเอาคลื่นจากที่ไหนมาดำเนินการก็ไม่รู้ และยังคงมีความพยายามจะยื้อการประมูล 4 จีออกไปอีก

ถึงขนาดที่เลขาธิการกสทช."นายฐากร ตัณฑสิทธิ์" ที่เพิ่งตัดสินใจไขก๊อกยื่นใบลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 1 กันยายนศกนี้ ออกโรงเรียกร้องให้นายกฯและหัวหน้าคสช.ใช้ ม.44 ปลดล็อคจัดการกับการประมูล 4 จีที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้

โดยระบุว่าหากใช้อำนาจ กสทช.รียกคืนคลื่นความถี่ไม่ว่าจากหน่วยงานใดก็ไม่พ้นต้องถูกฟ้องอีรุงตุงนังกันให้วุ่น อย่างล่าสุดที่ไปเรียกคืนคลื่นความถี่ จากกรมประชาสัมพันธ์ก็ถูกฟ้องกราวรูดอีก หรือแม้แต่เดินหน้าเปิดประมูล 3 จี บนคลื่น 2100 เมกะเฮิตรซ์ เมื่อปี 53 ก็ยังถูกศาลปกครองตัดสินชี้ขาดว่ากสทช.ไม่มีอำนาจประมูล ทั้งๆที่ กสทช.ก็ได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา

ดังนั้นจึงเสนอให้นายกฯใช้มาตรา44 สั่งการและดำเนินการจัดระเบียบคลื่นความถี่ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เพื่อให้การใช้คลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชนฺ์สูงสุดต่อประเทศก่อนที่ กสทช.จะเปิดประมูล 4 จี

"วันนี้กสทช.ทะเลาะกับหน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจหลายแห่งเกี่ยวเรื่องคลื่นความถี่เมื่อกสทช.เรียกคืนคลื่น หน่วยงานเจ้าของคลื่นก็ฟ้องศาลปกครอง ซึ่งกสทช.ได้หารือกับหลายฝ่ายแล้วว่า ความเห็นหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้นไม่มีสิ้นสุด ทำให้กสทช.ต้องเสนอรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ให้ใช้มาตรา44 เพื่อความชัดเจน"