ส่องคำขอแก้ร่างรธน. ของสปช. 'ปิดทาง-เปิดทาง' นายกฯคนนอก

ส่องคำขอแก้ร่างรธน. ของสปช. 'ปิดทาง-เปิดทาง' นายกฯคนนอก

(รายงาน) ส่องคำขอแก้ร่างรธน.ของ สปช. "ปิดทาง-เปิดทาง" นายกฯคนนอก

ในการยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 8 กลุ่มคำขอ ประกอบด้วย 1.กลุ่มสังคมและพลเมือง นำโดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป 2.กลุ่มยุทธศาสตร์ชาติ นำโดยนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ 3.กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม นำโดยนายมนูญ ศิริวรรณ 4.กลุ่มเศรษฐกิจ นำโดยนายสมชัย ฤชุพันธุ์ 5.กลุ่มพันธมิตร นำโดยนายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ 6.กลุ่มการเมืองและกระบวนการยุติธรรม นำโดยนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ 7.กลุ่มสื่อมวลชนและการคุ้มครองผู้บริโภค นำโดยนายประสาร มฤคพิทักษ์ และ 8.กลุ่มการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น นำโดย นายพงศ์โพยม วาศภูติ
สำหรับรายละเอียดขอแก้ไขประเด็น “การเมือง” และ “องค์กรตรวจสอบ” มีดังนี้

1.ที่มานายกรัฐมนตรี
“กลุ่มการเมืองฯ” เสนอให้บัญญัติ นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ผ่านความเห็นชอบในสภา ไม่ห้ามนายกฯ เป็นส.ส.ขณะเดียวกัน
“กลุ่มพันธมิตร” เสนอกรณีนายกฯ คนนอก โดยกำหนดให้บุคคลที่ไม่เป็นส.ส.จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ เฉพาะกรณีที่การเลือกนายกฯ คราวแรก ไม่มีผู้ได้คะแนนเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาเท่านั้น โดยในการลงคะแนนของคนนอก ให้ใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนส.ส.

2.ประเด็นเกี่ยวกับรัฐมนตรี
“กลุ่มการเมืองฯ” เสนอให้ ส.ส.เป็นรัฐมนตรีได้ และในขณะเดียวกัน “กลุ่มสังคมและพลเมือง” เสนอเพิ่มคุณสมบัติให้เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพสุจริตมีรายได้อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีเงินได้มาไม่น้อยกว่า 5 ปี
“กลุ่มพันธมิตร” เสนอเพิ่มหลักเกณฑ์กรณีที่รัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง เมื่อร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยงบประมาณประจำปี ไม่ผ่านการพิจารณาของสภา
“กลุ่มสื่อมวลชนและผู้บริโภค” เสนอให้ ส.ส.เป็นรัฐมนตรีได้ เพื่อให้รัฐมนตรีมีความรับผิดชอบ และผ่านการตรวจสอบโดยการเลือกตั้งก่อนเข้ารับตำแหน่ง

3.ที่มาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
คำขอส่วนใหญ่เสนอตัดประเด็น “กลุ่มการเมือง” ที่ระบุไว้ในทุกมาตราออก เพราะมองว่ากลุ่มการเมืองไม่มีความเป็นสถาบัน และกังวลว่าจะเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองและสร้างปัญหาในระบบการเมืองได้
“กลุ่มการเมืองฯ” เสนอให้ส.ส.มี 500 คน แบ่งเป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 400 คน โดยรูปแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ กำหนดให้มีส.ส.เขตละ 2 คนแต่ไม่เกิน 3 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง และให้ลงคะแนนในบัญชีรายชื่อของพรรคเพียงพรรคเดียว


“กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม” ให้ยกเลิกการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งระบุชื่อผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อให้เป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. (โอเพ่นลิสต์) สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. ให้เปิดเผยรายการภาษีเงินได้ย้อนหลัง 5 ปี ต่อสาธารณะ ขณะที่การให้เอกสิทธิคุ้มครองส.ส ได้ตัดในประเด็นบทบัญญัติที่ห้ามจับกุม คุมขัง หรือหมายเรียกตัว ส.ส. และส.ว. ระหว่างสมัยประชุมออก


“กลุ่มพันธมิตร” เสนอให้ส.ส. มี 450 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 คน และมาจากบัญชีรายชื่อจำนวน 100 คนโดยใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ขณะที่คุณสมบัติของผู้สมัครเป็น ส.ส. ได้เพิ่มข้อห้ามไม่ให้ผู้ที่หลบหนีคดีระหว่างพิจารณา หรือหลบหนีโทษตามคำพิพากษา จนหมดอายุความดำเนินคดี หรืออายุความลงโทษ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. พร้อมกำหนดให้ส.ส.มีวาระ 3 ปี และห้ามเป็น ส.ส.ติดต่อกันเกินสองวาระ เพื่อทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงลดลง

4.ที่มา-อำนาจหน้าที่วุฒิสภา
“กลุ่มการเมืองฯ” เสนอให้มีส.ว.154 คนมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดๆ ละ 2 คน
“กลุ่มสังคมและพลเมือง” เสนอให้ส.ว.มี 200 คน มาจากการสรรหาใน 4 ประเภท คือ 1.อดีตข้าราชการระดับสูง 2.สภาวิชาชีพ 3.ผู้แทนองค์กรด้านเกษตรกรรม, แรงงาน, วิชาการ, ชุมชน, ท้องถิ่น และ 4.ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านต่างๆ


“กลุ่มยุทธศาสตร์ชาติ” และ “กลุ่มกระจายอำนาจ” เสนอตัดคณะกรรมการกลั่นกรองส.ว.เลือกตั้ง 77 จังหวัด โดยให้ส.ว.จังหวัดมาจากเลือกตั้งตรงจากประชาชน


“กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม” ปรับให้ส.ว.มี 150 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงจาก 77 จังหวัดๆ ละ 1 คน และมาจากการเลือกกันเองและสรรหาตามประเภทวิชาชีพ 73 คน แต่ลดจำนวนลง เช่น อดีตข้าราชการระดับสูง 8 คน, ผู้แทนวิชาชีพ 2 คน, ผู้แทนด้านอาชีพต่างๆ จ 20 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านต่างๆ 33 คน


"กลุ่มเศรษฐกิจ” เสนอคงสัดส่วนส.ว.ไว้ 200 คน มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัดๆ ละ 1 คน โดยให้ประชาชนเลือกตั้งโดยตรง ไม่ต้องมีกรรมการกลั่นกรองก่อน ในส่วนของการสรรหา 123 คน ได้คงสัดส่วนในแต่ประเภทไว้ แต่ปรับจากให้บุคคลในประเภทต่างๆ คัดเลือกกันเอง ไปเป็นให้มีการสรรหาเพื่อป้องกันการจัดกลุ่มของตนเองและการซื้อเสียงหรือบล็อกโหวตในกลุ่มที่กำหนดไว้ ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญ ใน 26 ด้านให้มาจากการสรรหา


“กลุ่มพันธมิตร” ปรับรายละเอียด ส.ว.ที่มี 200 คน แบ่งเป็นมาจากการเลือกตั้งใน 77 จังหวัดๆ ละ 1 คน โดยตัดส่วนกรรมการกลั่นกรองผู้สมัคร ส.ว.จังหวัดออก และมาจากการสรรหา จำนวน 123 คน
และ “กลุ่มสื่อมวลชนและผู้บริโภค” เสนอปรับส.ว.มีไม่เกิน 200 คน มาจากการเลือกตั้งทางตรงผ่านกลุ่มฐานอาชีพ และสายอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดอาชีพ และใช้เขตกลุ่มจังหวัด 6 กลุ่มเป็นเขตเลือกตั้ง

5.องค์กรและหน่วยงานตามรัฐธรรมนูญ
“กลุ่มการเมือง” เสนอให้มีการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภายใต้ชื่อเรียก ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน


“กลุ่มสังคมและพลเมือง” เสนอให้แยกผู้ตรวจการแผ่นดินและกรรมการสิทธิฯ ออกจากกัน


“กลุ่มยุทธศาสตร์ชาติ” เสนอให้ปรับสภาตรวจสอบภาคพลเมืองประจำจังหวัด เป็นประชาคมภาคพลเมือง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการดำเนินงานระดับท้องถิ่น, ให้แยกผู้ตรวจฯและกรรมการสิทธิฯ ออกจากกัน และให้มีคณะกรรมการขับเคลือนการปฏิรูป 35 คน โดยเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ซึ่งรายละเอียดที่มาให้ไปกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ


“กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม” เสนอให้องค์กรอัยการ ประกอบด้วยคณะกรรมการอัยการ อัยการสูงสุดและพนักงานอัยการ ในการสอบสวนคดีอาญาที่สำคัญ และห้ามไม่ให้อัยการดำรงตำแหน่งกรรมการ, ผู้จัดการ หรือที่ปรึกษากฎหมายของห้างหุ้นส่วนบริษัท, ขอคงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย และตัดคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ออก


“กลุ่มพันธมิตร” เสนอตัดสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ออก


“กลุ่มสื่อมวลชนและผู้บริโภค” เสนอให้แยกผู้ตรวจฯ และกรรมการสิทธิฯ ออกจากกัน และเพิ่มให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอิสระ โดยให้มีกรรมการ 6 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี และเป็นได้เพียงวาระเดียว เพื่อลดการแทรกแซงทางการเมือง และเสนอให้ปรับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทำหน้าที่สานต่องานปฏิรูปเท่านั้น โดยตัดส่วนคณะกรรมการยุทธศาตร์การปฏิรูปประเทศแห่งชาติออก


“กลุ่มการกระจายอำนาจฯ” เสนอให้แยกผู้ตรวจการแผ่นดินและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกจากกัน และตัดคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติรวมถึงการทำหน้าที่ทั้งหมด ออก เนื่องจากมองว่าจะทำให้ไม่ก้าวข้าวปัญหาเดิม

..............................................

เสนอจัดระเบียบรักษาความมั่นคง


ในส่วนของการดำเนินการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น สปช.มีข้อเสนอ อาทิ
“กลุ่มการเมืองฯ” เสนอให้สิทธิ ส.ส. จำนวน 1 ใน 10 ของสมาชิกที่มียื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อตั้งกรรมการไต่สวนอิสระ ทำหน้าที่ตรวจสอบความประพฤติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะที่กรณีที่นายกฯ รัฐมนตรี, ส.ส., ส.ว. หรือข้าราชการการเมืองอื่นที่ร่ำรวยผิดปกติ ทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือกฎหมาย ให้ศาลอุทธรณ์และศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาพิพากษา


“กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม” เสนอให้การลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ กระทำโดยการลับ
นอกจากนั้นยังมีประเด็นที่เสนอให้บัญญัติขึ้นใหม่ ที่น่าสนใจ อาทิ กลุ่มการเมืองฯ เสนอให้จัดระเบียบหน่วยราชการกลาโหม หน่วยงานทหาร และหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์รักษาเอกราชและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทย รักษา ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และผลประโยชน์ชาติ ขณะที่การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานตำรวจ


“กลุ่มสังคมและพลเมือง” เสนอเพิ่มสิทธิบุคคลในการฟ้องร้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ให้รับผิดชอบเนื่องจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญ 2550


“กลุ่มยุทธศาสตร์ชาติ” เสนอให้มีองค์กรยุทธศาสตร์ชาติเป็นองค์กรของรัฐที่มีอิสระ เพื่อทำหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ในการดำเนินการบริหารราชการแผ่นดิน


“กลุ่มพลังงานฯ” เสนอเพิ่มมาตรา 308 ว่าด้วยการทำประชามติหลังจากที่รัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ เพื่อให้ประชาชนออกเสียงว่าจะดำเนินการปฏิรูปประเทศให้มีความยั่งยืนให้เสร็จสิ้นก่อนจะจัดการเลือกตั้งหรือไม่


“กลุ่มเศรษฐกิจ” เสนอเพิ่มบทบัญญัติให้รัฐบาลกำหนดกรอบวินัยการคลัง โดยจัดทำงบประมาณระยะปานกลาง (3-5 ปี) ซึ่งครอบคลุมรายรับและรายจ่ายทั้งหมดของภาครัฐโดยรวม ประเมินความเสี่ยงทางการคลังและกำหนดเงื่อนไขสำหรับความยั่งยืนทางการคลัง


เสนอให้มีการจัดตั้งศาลคดีทุจริตให้เป็นศาลชำนัญพิเศษ มีอำนาจในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ การทำผิดต่อตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และความผิดต่อตำแหน่งราชการ ความผิดกฎหมายเกี่ยวกับพนักกงานในองค์กรของรัฐ, ความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ และคดีที่จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ


“กลุ่มสื่อมวลชนและผู้บริโภค” เสนอบัญญัติให้ปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรของปวงชนชาวไทย และให้มีบริษัทพลังงานแห่งชาติทำหน้าที่บริหารจัดการและดูแลสิทธิในทรัพยากรปิโตเลียมแทนปวงชนชาวไทย โดยได้สิทธิสำรวจ และผลิต รวมถึงกำหนดให้พลเมืองมีสิทธิเข้าถึงสาธารสมบัติของแผ่นดินเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้พลเมืองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือองค์กรนิติบุคคลย่อมมีสิทธิเรียกร้องติดตามสาธารณสมบัติของแผ่นดิน คืนจากบุคคลผู้ครอบครอง หรือใช้สิทธิในทางมิชอบ ผ่านศาล