'ประยุทธ์'นำประกาศเจตนารมณ์ต้านโกง8มิ.ย.นี้

'ประยุทธ์'นำประกาศเจตนารมณ์ต้านโกง8มิ.ย.นี้

“พล.อ.ประยุทธ์” นำประกาศเจตนารมณ์ต้านโกง8มิ.ย.นี้ ด้านมติคตช.เคาะใช้ระบบจัดซื้อ “อี-บิดดิ้ง” แท “อี-อ็อกชั่น” เริ่ม1ต.ค.นี้

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(คตช.) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยใช้เวลาในการประชุมนานเกือบ 3 ชั่วโมง  

โดยภายหลังการประชุมประธานคณะอนุกรรมการชุดต่างๆของคตช.ได้แถลงมติในที่ประชุม โดยนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ คตช. กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 8 มิ.ย. เวลา 09.00น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในการนำประกาศเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริต ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และจะประกาศพร้อมกับหน้าศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่าพันธกิจของรัฐบาลคืออะไรในการต่อต้านการคอรัปชั่น โดยมีการเชิญ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรต่างประเทศ สถานทูตและสื่อมวลชนร่วมงาน    

“โดยในงานนายกจะพูดถึงการคอรัปชั่นตั้งแต่ก่อนยึดอำนาจว่ามองเรื่องทุจริตอย่างไร และเล่าให้ฟังว่าเมื่อมาเป็นนายกแล้วพบปัญหาอะไรและแก้ไขอย่างไร”นายสังศิต กล่าว 

โดยนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม กล่าวว่า ในส่วนของข้อตกลงคุณธรรมที่จะเริ่มใช้นำร่องในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันของขสมก. ขณะนี้มีผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมเข้าไปดำเนินงานแล้ว โดยในส่วนของรถเมล์เอ็นจีวีมีการประกวดราคาเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งการที่มีผู้สังเกตุทำให้ได้ราคาที่ประหยัดลงคันละประมาณได้ 1ล้านบาท จากคันละ 4 ล้านบาททำให้ประหยัดงบประมาณจำนวนมาก อย่างไรก็ตามอนุกรรมการฯเห็นว่าควรขยายข้อตกลงคุณธรรมให้มากขึ้น โดยมีการทำหนังสือไปยัง20กระทรวงในการคัดเลือกโครงการใหญ่เข้ามา และขณะนี้มีการเสนอกลับมา36โครงการที่จะนำเสนอคณะอนุกรรมการเพื่อจัดให้มีผู้สังเกตการณ์ในโครงการต่อไป

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้ใช้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐด้วยระบบ “อี-บิดดิ้ง(E-Bidding)”มาแทนระบบ “อี-อ็อคชั่น” ซึ่งจะเริ่มใช้พร้อมกันทั้งประเทศในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งระบบอี-บิดดิ้ง ได้ทดลองเริ่มใช้กับกระทรวงการคลังในการโรงพยาบาล 3 แห่งและ9กรม ซึ่งระบบอี-บิดดิ้งต่างกับระบบอี-อ็อกชั่น คือไม่ต้องมีการประกวดราคา แต่สามารถซื้อของในสเปคที่แน่นอน เพราะกรมบัญชีกลางจะมีลิสต์รายการสินค้าให้หน่วยงานต่างๆเข้ามาใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นฐานราคากลางเท่านั้น  

“โดยผู้ขายอยากจะขายของก็จะนำข้อมูลสินค้าของตัวเองมาใส่ในระบบของกรมบัญชีกลาง สมมติว่า จะมีการจัดซื้อกระดาษA4 ก็จะมีข้อมูลสเปคและราคาของบริษัทต่างๆอยู่ในระบบและจะเก็บฐานข้อมูลเอาไว้ เพื่อป้องกันการซื้อของแพง”นายมนัส กล่าวและว่า ขณะอารยประเทศที่มีความเจริญหลายประเทศได้เลิกใช้ระบบอี-อ็อกชั่นมาใช้ระบบอี-บิดดิ้งหมดแล้ว และวันที่ 1 ต.ค. นี้เป็นต้นไปประเทศไทยก็จะเลิกใช้ระบบอี-อ็อกชั่นแล้ว  

ด้านนางจุรี วิจิตรวาทการ ประธานอนุกรรมการปลูกจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ กล่าวว่า มติที่ประชุมคตช.ให้เปิดอบรมหลักสูตร“โตไปไม่โกง” ให้กับครูในโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยช่วงแรกจะมี3รุ่น รุ่นแรกจะเริ่มวันที่ 29-30มิ.ย. และรุ่นที่สองและสามในเดือนก.ค. และส.ค. เพื่อให้ครูนำไปใช้ในโรงเรียนของตัวเอง นอกจากนี้จะมีการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกทางสื่อ โดยจะเป็นคลิปสั้นออกทางทีวี ทำให้รับผิดชอบสังคมส่วนรวมให้เด็กเตือนพ่อแม่ให้เคารพสิ่งแวดล้อม ไม่ให้แซงคิวคน โดยใช้งบประมาณ 3ล้านบาท ที่ไม่ใช่งบประมาณแผ่นดิน แต่มีมูลนิธิ2มูลนิธิขอบริจาคเข้ามา

ขณะที่นายต่อตระกูล ยมนาค ประธานอนุด้านการป้องกันการทุจริต กล่าวว่าในส่วนอนุฯของตนไม่มีวิธีใดดีกว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่ง นายกฯจะสั่งการตามพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ โดยจะ เร่งรัดให้หน่วยราชการแสดงขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆ และต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเพิ่มขึ้น และให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็คทรอนิกส์ ที่รวบรวมข้อมูลของรัฐบาลที่ทุกฝ่ายสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้เปิดเผยข้อมูล เพราะการเปิดเผยข้อมูลจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และนอกจากนี้นายกฯยังสั่งการให้ประเทศไทยสมัครเป็นสมาชิกองค์กรตอ่ต้านการคอรัปชั่นนานาชาติด้วยซึ่งขณะนี้มีการดำเนินการอยู่ 

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการป.ป.ท. ในฐานะเลขาอนุด้านการปราบปราม กล่าวว่า การทำงานของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในการปฏิบัติงานภาครัฐยึดธรรมาภิบาลมากขึ้น เพราะการนำมาตรการของฝ่ายบริหารมาใช้ การสร้างกลไกของศอตช. และมีคำสั่งคสช.ที่ 69 ทำให้การแก้ไขปัญหาคล่องตัว ซึ่งพลเอกประยุทธ์จึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้ใช้เครื่องมือนี้ในยามปกติได้ จึงมีมติว่าให้นำกลไกดังกล่าวไปใส่ร่างพรบ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐที่เสนอให้มีการแก้ไขและอยู่ในชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแล้วและคาดว่าจะเข้าครม.สัปดาห์หน้า