'ไพบูลย์'เผยพิจารณาคำขอแก้รธน. ต้องไม่ขัดหลักการ

'ไพบูลย์'เผยพิจารณาคำขอแก้รธน. ต้องไม่ขัดหลักการ

"ไพบูลย์"เผยพิจารณาคำขอแก้รัฐธรรมนูญ ต้องไม่ขัดหลักการ ชี้มวลมหาประชาชนเคลื่อนไหว ต้องไม่เสียของ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง กรณีีมีหลายความเห็นเสนอให้ตัดกลุ่มการเมืองออกจากร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องนี้สามารถมองได้หลายความเห็น แต่หลักการที่ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้บัญญัติให้มีกลุ่มการเมืองนั้นมาจากเสียงเรียกร้อง ของภาคประชาชน ที่ต้องการให้มีการสมัคร ส.ส.โดยอิสระ ไม่สังกัดพรรค ซึ่งต่อมา ทาง กมธ.ยกร่างฯได้มีการบัญญัติเรื่องระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนขึ้น ทำให้การสมัครลงเลือกตั้ง ส.ส.โดยไม่สังกัดพรรคก็ทำไม่ได้ เพราะจะต้องมีการส่งบัญชีรายชื่อ ดังนั้นจะไม่ตรงกับความเห็นของประชาชน และไม่สามารถตอบโจทย์ของเหตุการณ์ก่อนวันที่ 22 พ.ค. ที่มองว่าพรรคการเมืองผูกขาดอำนาจซึ่งจะนำไปสู่ระบบการเมืองที่ล้มเหลวไม่ได้ ดังนั้นจึงมีการบัญญัติเรื่องกลุ่มการเมืองขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือก ส.ส.โดยไม่ต้องสังกัดพรรค ถ้าไม่เอากลุ่มการเมืองนั้น ตนคิดว่าต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าเราเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ปฏิรูปอะไรบ้างหรือไม่

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่ให้การปฏิรูปไม่เสียของคือต้องแก้ปัญหาของเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหารให้ได้ การปฏิรูปจะได้ไม่เสียของ สำหรับเรื่องที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)และหลายภาคส่วนนั้น ได้ส่งคำขอให้มีการปรับเรื่องของการเลือกตั้งใหม่นั้น ตนคิดว่าเป็นความคิดที่ดี ต้องรับฟัง เพราะสิ่งที่เป็นห่วงก็คือระบบเลือกตั้งที่กมธ.ยกร่างฯได้เสนอนั้นยังใหม่และมีข้อถกเถียงอยู่เยอะ แต่ทั้งนี้ ถ้าเอาระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนมาแล้วไปตัดเรื่องกลุ่มการเมืองออกไป ให้มีแต่พรรคการเมือง ถ้าเป็นแบบนี้ตนคงต้องขอท้วง เพราะว่าจะทำให้ระบบปาร์ตี้ลิสที่ตนคัดค้านนั้น มีแต่แบ่งเขต ทำให้มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มมากขึ้นไปอีก

เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับขณะนี้ที่ทางกมธ.ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้ตัดเรื่องของการมีนายกรัฐมนตรีคนนอกออกไปแม้ในยามวิกฤติ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ก็มีบางคำขอ แต่หลายคำขอนั้นไม่ได้ตัดประเด็นนี้ ตนมีจุดยืนว่าทำไมต้องไปเขียน แล้วยิ่งถ้าไปพูดถึงปัญหาเมือก่อนวันที่ 22 พ.ค.ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกเข้ามา เพื่อจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะกำหนดให้เป็นอย่างเก่าไม่ได้ ต้องให้ระบบมีความหยุ่นตัว

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลุ่มการเมือง เรื่องอะไรต่างๆ ถ้าจะต้องกลับไปสู่ระบบปาร์ตี้ลิส 100 คน แล้ว ส.ส.เขตเดียวเบอร์เดียว ตนแย้งแน่นอนเพราะมันไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย แต่ถ้าเป็นแบบแบ่งเขต แบบหลายเบอร์ หรือเขตทั้งจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครสามารถจะไม่สังกัดพรรคได้ด้วย อันนั้นอาจจะสามารถตอบโจทย์ของตนได้

เมื่อถามว่า มีความเห็นให้ตัดสภาตรวจสอบภาคพลเมืองออกไป นายไพบูลย์ กล่าวว่า สภาตรวจสอบภาคเมือง สมัชชาพลเมือง สมัชชาคุณธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ทาง กมธ.ยกร่างฯอยากให้ประชาชนมีบทบาทโดยตรง ไม่ใช่แค่ผ่าน ส.ส. เท่านั้น โดยรัฐจะต้องมีหน้าที่สนับสนุนในส่วนนี้ ทั้งนี้ ตนเข้าใจว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยนั้น อาจจะกลัวว่า จะเป็นการให้ประชาชนไปรวมกลุ่มกันทำอะไรมิดีมิร้ายขึ้นมา ซึ่งเรื่องนี้ตนเห็นว่าทาง กมธ.ยกร่างฯก็คงจะต้องไปปรับแก้ในมาตราให้มีความเหมาะสมและคงหลักการเดิมเอาไว้ แต่ถ้าตัดในส่วนนี้ออกไป ก็จะเป็นการไปทำลายหลักการของ กมธ.ยกร่างฯที่ได้วางไว้ว่าประชาชนต้องเป็นใหญ่ และเท่ากับว่าไม่ได้เห็นถึงเจตนารมของมวลมหาประชาชนที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเป็นล้านๆคนซึ่งเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเกิดขึ้น 

เมื่อถามถึง กรณีที่มีความเห็นว่า สภาตรวจสอบภาคประชาชนอาจจะเป็นแหล่งของนักการเมืองที่ไม่ได้รับการเลือกดตั้งนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า เรื่องนี้กมธ.ยกร่างฯได้มีการคุยกันแล้ว โดยมีการถกเถียงกันในอนุกมธ.ศึกษาการยกร่าง ว่าด้วยเรื่องสภาตรวจสอบภาคพลเมือง จนในที่สุดได้กำหนดคุณสมบัติ ผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสภาตรวจสอบว่า จะต้องไม่เคยเป็นผู้สมัครและผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในระดับท้องถิ่น หรือในระดับ ส.ส.และ ส.ว อีกทั้งวิธีเลือกนั้นก็ไม่ใช่การคัดสรรแต่เป็นการสุ่มผู้สมัครขึ้นมาเพื่อผลัดเปลี่ยนการทำหน้าที่ ขอยืนยันว่ากลไกของสภาตรวจสอบที่ว่านี้จะป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องออกมาชุมนุมอีก เพราะเขาจะได้ไปทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมืองตรงนี้แทน