ส่งออกเม.ย.ติดลบ1.70%คงเป้าทั้งปีโต1.2%

ส่งออกเม.ย.ติดลบ1.70%คงเป้าทั้งปีโต1.2%

กระทรวงพาณิชย์ เผย ส่งออก เม.ย.58 ติดลบ 1.70% ส่วน 4 เดือนแรกติดลบ 3.99% พร้อมคงเป้าส่งออกทั้งปีโต 1.2%

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนเมษายน 2558 ว่า การส่งออกเดือนเมษายน 2558 มีมูลค่า 16,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 1.70% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน โดยชะลอตัวในอัตราที่ลดลงจากเดือนมีนาคมที่ ลดลง 4.45% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ส่วนช่วงเดือน 4 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกมีมูลค่า 70,265 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 3.99% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ในขณะที่การนำเข้าเดือนเมษายน 2558 มีมูลค่า 17,423 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 6.84% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ที่ลดลง 5.89% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ส่วนช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ การนำเข้ามีมูลค่า 69,359 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 6.53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนเมษายน 2558 ขาดดุล 523 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ ไทยเกินดุลการค้า 906 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

"การส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2558 สถานการณ์ในภาพรวมส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยชะลอตัวในอัตราที่ลดลงและยังคงรักษาส่วนแบ่งการตลาดในตลาดสำคัญไว้ได้ ประกอบกับการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรในกลุ่มสินค้าที่มีปัญหา หดตัวในอัตราที่ชะลอลง ในขณะที่การส่งออกกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมถึงแม้จะยังคงหดตัว แต่เป็นการหดตัวในอัตราที่ลดลงเช่นเดียวกัน " นายสมเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยที่ยังคงหดตัว เกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ชะลอตัว เนื่องจากกำลังซื้อในตลาดโลกยังคงลดลง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่นและอาเซียนที่มีมูลค่าการนำเข้ารวมจากทั่วโลกลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายนอกที่ส่งสัญญาณดีขึ้น ได้แก่ การนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่ง และมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากอุปทานในตลาดโลกที่เริ่มลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าการส่งออกทั้งปีโต1.2% ซึ่งหมายความว่าในแต่ละไตรมาสจะต้องเร่งผลักดันการส่งออกให้อยู่ที่ 60,000 ล้านเหรียญฯ หรือเฉลี่ยเดือนละ 20,000 ล้านเหรียญฯ โดยมองว่ามีความเป็นไปได้ เนื่องจากขณะนี้ค่าเงินบาทมีการปรับตัวอ่อนค่าลง มาอยู่ที่ประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมการส่งออก ประกอบกับราคาน้ำมันเริ่มปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยทั้งปี มองว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเฉลี่ยอยู่ที่ 60 เหรียญฯต่อบาร์เรล ซึ่งไทยมีการส่งออกในส่วนของน้ำมันดิบในบางส่วน จะส่งผลให้การส่งออกปรับตัวได้สูงขึ้น และคาดว่าตัวเลขส่งออกเดือน พ.ค.58 มีโอกาสพลิกกลับมาเป็นบวก

" เรายังคงมั่นใจว่าทั้งปี การส่งออกจะได้ตามเป้าหมายที่ 1.2% ขณะเดียวกันมองว่า ภายใน 1-2 เดือนนี้ มีโอกาสที่การส่งออกจะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ จากอานิสงส์การเร่งรัดผลักดันการส่งออก ตามนโยบายของรัฐบาล รวมไปถึงการลดดอกเบี้ย ที่ส่งผลให้ค่าเงนบาทมีการปรับตัวอ่อนค่าลง และราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น " นายสมเกียรติ กล่าว