'นพ.เจตน์'เชื่อคุมค่ารักษารพ.เอกชนยาก

'นพ.เจตน์'เชื่อคุมค่ารักษารพ.เอกชนยาก

"นพ.เจตน์" เชื่อคุมค่ารักษารพ.เอกชนยาก ระบุเป็นทางเลือกคนหนีจากรพ.รัฐแออัด แนะมุ่งพัฒนารพ.รัฐ จัดสรรงบฯให้เพียงพอ

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข(กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึงปัญหาค่ารักษาพยาบาลในรพ.เอกชนแพงว่า ค่ารักษาพยาบาลในภาคเอกชนแพงขึ้นเรื่อยๆเร็วและจำนวนมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เป็นห่วงในเรื่องนี้ โดยได้พูดในการประชุมสภาฯว่าข้อได้เปรียบของประเทศในการดึงคนเข้ามารักษาพยาบาลช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศอาจกลายเป็นข้อเสียเปรียบจากการที่เก็บค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น ซึ่งแต่ละปีมีชาวต่างชาติเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยราว 1 ล้านคน ขณะที่คนไทยเข้ารักษาพยาบาลในรพ.เอกชนเป็นทางเลือกที่หนีจากรพ.รัฐที่มีความแออัดเพราะมีคนมาใช้บริการรพ.รัฐมากขึ้นเมื่อเจ็บป่วย ทั้งนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกมีการกำหนดไว้ว่ากรณีเป็นเศรษฐกิจการตลาดให้รัฐดูแลค่ารักษา ค่ายาให้เป็นธรรมต่อผู้ไปใช้บริการ ซึ่งการจะเข้าไปควบคุมมากจะกลายเป็นผลลบโดยรพ.เอกชนอาจจะหนีไปตั้งสำนักงานในประเทศอื่น

“ผลการศึกษาของอนุกรรมการศึกษาค่ารักษาพยาบาลในรพ.เอกชนในกมธ.สธ.สนช.เมื่อแล้วเสร็จ ก็จะนำเข้ากมธ.สธ.พิจารณาและรายงานต่อสนช.ให้เห็นชอบ จากนั้นจะแจกจ่ายผลการศึกษาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งในการคุมค่ารักษาพยาบาลในรพ.เอกชนก็สามารถดำเนินการได้ตามที่กฎหมายมีอยู่ คือ การให้แสดงอัตราค่ารักษาพยาบาลที่เห็นได้เด่นชัด และอยู่ที่คณะทำงานแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลรพ.เอกชนที่รัฐมนตรีว่ากากระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)จะพิจารณา”นพ.เจตน์กล่าว

นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า รัฐต้องคุ้มครองปกป้องผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองที่มีราว 48 ล้านคน ประกันสังคม ประมาณ 10 ล้านคนและสวัสดิการข้าราชการราว 5 ล้านคน ให้ได้รับคุณภาพการให้บริการในภาพรวมดีขึ้นสอดคล้องกับพันธกิจของรัฐด้านสุขภาพ โดยจะต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ แต่เมื่อรัฐมีงบประมาณที่จำกัดไม่สามารถเพิ่มงบประมาณให้รพ.รัฐได้ เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการให้ประชาชนที่อยู่ในสิทธิบัตรทองร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพื่อเป็นการเติมเงินเข้าระบบสุขภาพของประเทศให้เพียงพอ แต่จะต้องไม่ให้คนที่มีรายได้น้อยเดือดร้อนและต้องไม่ใช่การร่วมจ่าย ณ จุดให้บริการ เพราะหากงบประมาณโตไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงจะกระทบคุณภาพการให้บริการ เช่น กรณีมียาตัวใหม่ๆ ผู้ป่วยรพ.รัฐก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ใช้ เป็นต้น

“ที่ผ่านมารพ.แต่ละแห่งจะแก้ปัญหางบฯไม่เพียงพอด้วยการนำงบในส่วนของสิทธิสวัสดิการข้าราชการมาชดเชยเกลี่ยกับงบบัตรทองที่ไม่เพียงพอ ก็พอทำให้รพ.อยู่รอด แต่เมื่อปี 2550 รัฐบาลมีนโยบายไม่เพิ่มงบค่ารักษาพยาบาลข้าราชการมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว ปัจจุบันรพ.รัฐไม่สามารถใช้เงินส่วนนี้ชดเชยได้แล้ว ทำให้รพ.รัฐมีเงินน้อยลง จึงกลัวอย่างมากว่าจะกระทบคุณภาพการให้บริการ ซึ่งกมธ.สธ.สนช.จะทำการศึกษาคุณภาพการให้บริการในรพ.โดยเบื้องต้นจะศึกษาในส่วนของรพ.รัฐก่อน”นพ.เจตน์กล่าว