ผู้ประกอบการเชื่อครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะทรงตัว

ผู้ประกอบการเชื่อครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะทรงตัว

ส.อ.ท. จับมือนิด้าโพล เผย ผลสำรวจผู้ประกอบการเชื่อครึ่งปีหลังเศรษฐกิจทรงตัว หวั่นศก-การเมืองในประเทศ แนะรัฐทบทวนการปรับขึ้นค่าแรง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการทั่วประเทศ เรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของปี 2558” นายกำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ นิด้า กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการเชื่อว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.68 เห็นว่า จะทรงตัว รองลงมาร้อยละ 23.42 ระบุว่าจะแย่ลง ขณะที่ร้อยละ 22.06 จะปรับตัวดีขึ้น และร้อยละ 3.84 ระบุว่า ไม่แน่ใจ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลในการดำเนินกิจการในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ได้แก่ เศรษฐกิจภายในประเทศ ร้อยละ 50.92 การเมืองภายในประเทศ ร้อยละ 37.49 ภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 36.93 ราคาน้ำมัน ร้อยละ 24.70 อัตราแลกเปลี่ยน ร้อยละ 16.55 ส่วนแนวทางการรับมือของผู้ประกอบการในกรณีที่ค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค พบว่าผู้ประกอบการไม่มีการเตรียมพร้อม ร้อยละ 51.16 มีการเตรียมพร้อม ร้อยละ 48.84 ได้วางแผนประมาณการ การสั่งซื้อ การผลิต การจำหน่ายล่วงหน้า ร้อยละ 49.10 วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อกำหนดทิศทางราคาสินค้า ร้อยละ 38.79 ศึกษาตลาด และติดตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ด้านแนวทางการรับมือกรณีค่าเงินบาท พบว่าผู้ประกอบการ ไม่มีการเตรียมพร้อม ร้อยละ 52.92 มีการเตรียมพร้อม ร้อยละ 47.08 วางแผนประมาณการ การสั่งซื้อ การผลิต การจำหน่ายล่วงหน้า ร้อยละ 41.77 วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อกำหนดทิศทางราคาสินค้า สำหรับความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่มีต่อค่าเงินบาทที่เหมาะสมส่วนใหญ่เห็นว่าร้อยละ 28.38 อยู่ที่ 31 – 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 21.42 น้อยกว่า 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ17.83 อยู่ที่ 32 – 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 8.87 อยู่ที่ 33 – 34 บาทต่อดอลลาร์

การสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่มีต่อการเอื้อต่อการดำเนินกิจการในกรณีราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เห็นว่า เอื้อต่อการดำเนินกิจการมากที่สุด​ ร้อยละ 48.04 ค่อนข้างเอื้อต่อการดำเนินกิจการ​ ร้อยละ 32.38 ไม่ค่อยเอื้อต่อการดำเนินกิจการ ร้อยละ 12.47 และไม่เอื้อต่อการดำเนินกิจการเลย ร้อยละ 7.11 ด้านความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่มีต่อ การเอื้อต่อการดำเนินกิจการในกรณีราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการเห็นว่าเอื้อต่อการดำเนินกิจการมากที่สุด ร้อยละ 13.19 ค่อนข้างเอื้อต่อการดำเนินกิจการ ร้อยละ 16.63 ไม่ค่อยเอื้อต่อการดำเนินกิจการร้อยละ 29.33 และไม่เอื้อต่อการดำเนินกิจการเลย ร้อยละ 40.85

ส่วนความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่มีต่อความผันผวนตลาดเงิน ตลาดทุนจากการที่ทางการสหรัฐ ออกมาส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ผู้ประกอบการเห็นว่าจะสร้างความผันผวน ให้ตลาดเงิน ตลาดทุน มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 7.35 มากคิดเป็นร้อยละ 30.38 ปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 36.21 น้อยคิดเป็นร้อยละ 11.99 น้อยที่สุดคิดเป็นร้อยละ 8.55 และไม่แน่ใจ คิดเป็นร้อยละ 5.52

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมนั้น จากการสำรวจพบว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการ เสนอแนะมากที่สุด คือ รัฐบาลควรพิจารณาทบทวนเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงเนื่องจากส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เร่งแก้ไขปัญหาราคาวัตถุดิบที่เป็นสินค้านำเข้า เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทางด้านเงินทุน/สินเชื่อ อัตราภาษี เป็นต้น