ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 25-29 พ.ค. 58

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 25-29 พ.ค. 58

ราคาน้ำมันดิบผันผวน จับตาตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ และการเจรจาแก้ไขปัญหาหนี้กรีซ

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 55 - 61 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 62 - 68 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (25 - 29 พ.ค. 58)

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ยังคงเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยมีสาเหตุจากการที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐ ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นในสหรัฐ กลับมาดำเนินการอีกครั้งหลังเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุง ขณะที่ความไม่สงบในตะวันออกกลางยังคงสร้างความกังวลต่อนักลงทุนว่าอุปทานน้ำมันดิบในภูมิภาคดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบด้วย อย่างไรก็ดี ตลาดเฝ้าจับตาการเจรจาแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะของกรีซ หลังมีแนวโน้มว่ากรีซอาจไม่สามารถชำระหนี้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในงวดถัดไปได้

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดมองว่าอุปทานน้ำมันดิบสหรัฐ มีแนวโน้มปรับลดลง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) รายงานว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่สี่ติดต่อกัน โดยปรับลดลงสู่ระดับ 482.2 ล้านบาร์เรล หลังโรงกลั่นในสหรัฐ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นหลังเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุง และส่งสัญญาณถึงอุปสงค์ที่ปรับเพิ่มขึ้นก่อนเข้าสู่ฤดูกาลขับขี่ฤดูร้อนของสหรัฐ (มิ.ย. - ส.ค.) อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่ระดับปัจจุบัน ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับระดับเฉลี่ยของปีก่อนหน้า

- การเจรจาแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้กรีซว่าจะเป็นไปในทิศทางใด โดยล่าสุดกรีซได้มีการชำระหนี้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ไปแล้วส่วนหนึ่งจำนวน 750 ล้านยูโร เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี กรีซมีนัดชำระหนี้กับ IMF งวดถัดไป จำนวน 1.5 พันล้านยูโร ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ซึ่งหลายฝ่ายยังคงกังวลว่ากรีซมีแนวโน้มที่จะขาดสภาพคล่องและไม่สามารถชำระหนี้ IMF ทันกำหนด เนื่องจากปัจจุบันกรีซยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับทางกลุ่มเจ้าหนี้ได้ และอาจเป็นเหตุให้กรีซไม่ได้รับเงินช่วยเหลือรอบใหม่จากยูโรโซนมูลค่าราว 7 พันล้านยูโร ในวันที่ 3 มิ.ย.

- ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อทั้งใน เยเมน อิรัก และลิเบีย เป็นต้น ยังคงสร้างความกังวลถึงผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบของภูมิภาคและยังคงส่งแรงหนุนต่อราคาน้ำมันดิบโลกในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี ตลาดยังเฝ้าจับตากระแสตอบรับก่อนการประชุมโอเปคที่จะจัดขึ้น ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในวันที่ 5 มิ.ย. นี้ ว่าจะมีการตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิตเพื่อหนุนราคาน้ำมันดิบหรือไม่ หลังนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าโอเปคจะไม่ลดกำลังการผลิตลง และจะยังคงโควต้าการผลิตของกลุ่มที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันต่อไป

- นอกจากนี้ จับตาซาอุดิอาระเบียว่าจะยังคงเดินหน้าผลิตและส่งออกน้ำมันดิบในระดับสูงต่อไปหรือไม่ เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ โดยในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาซาอุฯ ผลิตน้ำมันดิบแตะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 10.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่การส่งออกก็เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ที่ระดับ 7.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ความเชื่อมันผู้บริโภค จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน จีดีพี ไตรมาส1/2558 และดัชนีภาคการผลิต (Chicago PMI) ของสหรัฐ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 - 22 พ.ค. 58)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 0.03 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 59.72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.44 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดที่ 65.37 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 63 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปทานล้นตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ผลิตในกลุ่มโอเปค อย่างซาอุดิอาระเบียที่เดินหน้าผลิตน้ำมันดิบสูงเป็นประวัติการณ์เหนือระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแผนส่งออกน้ำมันดิบที่สูงสุดในรอบ 10 ปี เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่าสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยังคงปะทุต่อเนื่อง โดยซาอุดิอาระเบียกลับมาปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเพื่อสู้รบกับกลุ่มกบฏฮูติในเยเมนอีกครั้ง หลังจากการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมชั่วคราว 5 วันได้สิ้นสุดลงในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

                                         -----------------------------------------------------
ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.02-797-2999