ไร้ระบบคุม 'เรือทัวร์-ซีแมนบุ๊ค' ปมทับซ้อนฉุดแก้ค้ามนุษย์

ไร้ระบบคุม 'เรือทัวร์-ซีแมนบุ๊ค' ปมทับซ้อนฉุดแก้ค้ามนุษย์

(รายงาน) ไร้ระบบคุม "เรือทัวร์-ซีแมนบุ๊ค" ปมทับซ้อนฉุดแก้ไอยูยู-ค้ามนุษย์

ในงานเสวนาเรื่อง “ทางออกประมงทะเลไทยกับปัญหาการค้ามนุษย์” ที่ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้นั้น วิทยากรผู้เข้าร่วมเสวนาได้เสนอแนะต่อภาครัฐนำไปปรับใช้กับมาตรการทางกฎหมายและการปฏิบัติที่กำลังดำเนินการอยู่เพื่อให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น


ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุภางค์ จันทรวานิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า การแก้ปัญหาค้ามนุษย์ภาคประมงหลายๆ เรื่องภาครัฐได้กำลังดำเนินการอยู่ เช่น สถานะภาพทางกฎหมาย การพิสูจน์สัญชาติ สัญญาจ้างที่เป็นธรรม การจดทะเบียนแรงงาน เรือประมง ซีแมนบุ๊ค (หนังสือคนประจำเรือ :Seaman Book) เป็นต้น


ทว่าที่อยากให้เน้นย้ำคือ ควรออกตรวจสอบแรงงานประมงควบคู่กับการตรวจเรือประมงขณะเรืออยู่ในทะเลด้วย ซึ่งขณะนี้ภาครัฐขาดบุคลากรภาคปฏิบัติ ขาดอุปกรณ์การตรวจ ส่วนมาตรการควบคุมการลักลอบจับปลานอกน่านน้ำยังไม่ครอบคลุม


“เราเสนอให้ออกกฎระเบียบจัดระบบข้อมูลเรือประมง ถ้าเราไม่มีฐานข้อมูลติดระบบติดตามเรือ (วีเอ็มเอส) ไปก็ไม่มีประโยชน์ ต้องมีฐานข้อมูลควบคู่กันเพื่อจะได้รู้ว่าจะไปไหน จะจับปลาอะไร”


เธอเสนอให้มีกฎหมายลูกควบคุมขนาดอุปกรณ์จับสัตว์น้ำและห้ามจับสัตว์น้ำบางประเภท เช่น ปลาเป็ด ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าถูกจับสูงถึง 28% ปลาชนิดนี้มีผลต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล และเพิ่มบทลงโทษทางกฎหมายเพราะเรื่องท่าเรือเข้าออกหากกระทำผิดมีโทษแค่ปรับ รวมถึงเวลาการทำงานประมงนอกน่านน้ำไม่ควรเกิน 6 เดือน แต่ของไทยมีการนำเรือทัวร์ไปรับถ่ายสินค้าและแรงงาน ทำให้เรือบางลำอยู่ในทะเลนานถึง 6 ปี​


นอกจากนี้ต้องเพิ่มการตรวจสอบ“เรือขนาดเล็ก”ที่ได้รับอนุญาตให้จับสัตว์น้ำในน่านน้ำ แต่อาจหลุดรอดไปจับสัตว์นอกน่านน้ำได้ โดยใช้ระบบติดตามควบคู่กับการออกลาดตระเวนร่วม


“ที่่ผ่านไม่มีการรายงานการจับสัตว์น้ำอย่างจริงจัง เรือทัวร์ยังไปรับสินค้ากลางทะเลอยู่ พวกนี้ไม่ต้องรายงาน ไม่ต้องติดระบบติดตาม ซึ่งผิดกฎหมายโดยสิ้นเชิง”


ส่วนของ “ไต้ก๋ง” ซึ่งมีความสำคัญบนเรือ ต้องมีการควบคุม มีการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ โดยจัดสอบใบประกาศนียบัตร และต้องได้รับการอนุญาตแบบมีกำหนดระยะเวลา รวมทั้งเร่งรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้แรงงานรู้เท่าทันกลลวงขบวนการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะตามจุดเสี่ยง เช่น หัวลำโพง หมอชิต ซึ่งมีการพูดถึงมานานแต่ยังไม่ดำเนินการเป็นรูปธรรม


ส่วนข้อเสนอในการคุ้มครองผู้เสียหาย อาจารย์สุภางค์ บอกว่า ควรหาวิธีเพิ่มช่องทางรับการร้องเรียนให้แรงงานประมงที่อยู่กลางทะเลด้วย เพราะการศึกษาพบว่ามีแรงงานประมงที่มีปัญหาแต่ไม่ร้องเรียนกว่า 60% และควรตรวจสอบอาชีวอนามัยบนเรือน โดยเฉพาะส้วม เพราะสำรวจพบว่า เรือประมงไทยส่วนใหญ่ไม่มีส้วม แต่ขณะนี้ก็เริ่มมีการออกแบบเรือให้มีส้วมบ้างแล้ว รวมทั้งการประกันสุขภาพเพราะลูกเรือเป็นโรคขาดสารอาหารเมื่อกลับขึ้นฝั่งพ.ต.ท.คมวิชช์ พัฒนรัฐ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันปราบปราม 1 ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ถอดบทเรียนจากประสบการณ์การทำคดีค้ามนุษย์แรงงานประมงที่ประเทศอินโดนีเซีย


เขาเผยว่า รูปแบบการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์นั้นมีการกระทำผิดย่อยๆ มากมาย ทั้งการหลอกลวงทำงาน บังคับทำงานใช้หนี้ สวมชื่อเรือ สวมสิทธิใบสัมปทาน ทำประมงไม่ตรงกับที่ขออนุญาต เช่น จดทะเบียนปาปัวนิวกินีแต่ไปทำประมงที่อินโดนีเซีย โดยไปสวมชื่อเรืออินโดนีเซีย หรือเรือหลายลำมีชื่อซ้ำกัน รวมทั้งเรือทัวร์ลักลอบขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำ ลักลอบขนแรงงาน หรือข้าราชการมีส่วนร่วมกระทำผิด


“เรื่องระบบฐานข้อมูลบริหารจัดการแย่มาก เราพบเด็กอายุ 13ปี กับ 15 ปี ถือซีแมนบุ๊คประเทศกัมพูชาของคนอายุ 19 ปี กับ 20 ปี แรงงานต่างด้าวถือซีแมนบุ๊คปลอมเป็นคนสัญชาติไทย นอกจากนั้นยังมีซีแมนบุ๊คอีกจำนวนมากที่เป็นของปลอมโดยสวมชื่อคนไทยแต่ไม่ใช่คนไทย”


เขาเผยอีกว่า ส่วนข้อมูลเรือบอกว่าลูกเรือประมงเป็นคนไทยทั้งหมด แต่ตรวจเข้าจริงๆ พบคนไทยแค่ 3 คน และบางคนขอดูเอกสารก็ปรากฏว่าเป็นคนต่างด้าวอีก


เขาบอกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นการกระทำของคนไม่ดีไม่กี่คนแต่ทำให้เสียทั้งระบบ และทำให้การสืบสวนสอบสวนยากลำบากมาก แต่ก็เชื่อว่าหลังจากนี้จะดีขึ้นเพราะมีการพัฒนา พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ ซึ่งจะมีการเพิ่มมาตรการตรวจเรือ บังคับ ยึดเรือ ด้วย ถ้าผู้ประกอบการปล่อยปละละเลยนอกจากถูกดำเนินคดีแล้วจะถูกยึดเรือ อีกทั้งใน เดือนมิ.ย.นี้จะมีการหารือร่วมในเวทีระหว่างประเทศเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายค้ามนุษย์


“ค่าจ้างค่าแรง 300บาทไม่พอ สวัสดิการ การจ้างต้องจูงใจ การทำถูกกฎหมายไม่ต้องจ่ายใต้โต๊ะ เอาเงินมาจ่ายแรงงาน ซีแมนบุ๊คต้องมีระบบการดำเนินการให้ได้มาตรฐานและถูกต้องและไม่อนุญาตให้ใช้แทนหนังสือเดินทาง”


ด้าน นายบัณฑิต โชคสงวน หัวหน้าแผนกข้อมูลข่าวสารและการฝึกอบรม ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นว่า การป้องกันการทำประมงผิดกฎหมายนั้นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการทำฐานข้อมูลทะเบียนเรือประมงในภูมิภาค


“ศูนย์ฯ ทำข้อมูลเรือประมงขนาด 24 เมตรขึ้นไป หรือประมาณ 100 ตันขึ้นไป ออกเผยแพร่ไปแล้วเมื่อเมษายนที่ผ่านมา มีข้อมูลเรือทั้งหมด 7 ประเทศ ไทยได้รับแจ้ง 200 กว่าลำแต่กำลังรอการตรวจสอบยืนยัน อินโดฯ มีเป็นพันลำ ข้อมูลนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ ส่วนเดือนมิ.ย.นี้กำลังหารือการเรื่องทำข้อมูลเรือขนาด 50 ตันขึ้นไปแต่ไม่เกิน 100 ตัน”