'ไพบูลย์'ปราบกลุ่มสปช.ขู่คว่ำร่างรธน.อย่าลุอำนาจ

'ไพบูลย์'ปราบกลุ่มสปช.ขู่คว่ำร่างรธน.อย่าลุอำนาจ

"ไพบูลย์"ปราบกลุ่มสปช.ขู่คว่ำร่างรธน.อย่าลุอำนาจ เหตุประชาชนผู้ตัดสินใจชะตารัฐธรรมนูญใหม่ ไม่เชื่อ"ประยุทธ์"ไฟเขียวแก้รธน.57ให้คงสปช.ไว้

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการ (กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จะมีประเด็นที่แก้ไขจำนวนมาก โดยเฉพาะการแก้ไขให้สปช.ปฏิบัติหน้าที่ต่อ แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสปช.เพราะถือเป็นการแก้ไขในหลักการสำคัญที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันว่าเมื่อสปช.ลงมติไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและสปช.สิ้นสุดลงไปพร้อมกัน ดังนั้นตนเชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะไม่เห็นด้วยและยอมให้แก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เกินกว่าหลักการเดิม เพราะหากแก้ไขอาจเกิดแรงกระเพื่อมได้ ดังนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จะเป็นเพียงการแก้ให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และแนวทางหลังการทำประชามติแล้วเสร็จ โดยส่วนตัวมองว่าหากประชามติไม่ผ่านควรเข้าสู่แนวทางตามมาตรา 37 และ มาตรา 38 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่กำหนดให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และสปช.สิ้นสุดลง จากนั้นเข้าสู่กระบวนการเลือก สปช.และกมธ.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อเริ่มต้นเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นายไพบูลย์ กล่าวดัวยว่ากรณีที่มี กลุ่มสปช. ออกมาเคลื่อนไหว ให้ความเห็นว่าจะไม่ให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญจะถูกปรับปรุงและแก้ไขตามที่มีข้อเสนอ อาจถูกมองได้ว่าพยายามเคลื่อนไหวเพื่อให้สปช.อยู่ต่อแม้จะลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นการปักธงล้มร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่อยู่บนพื้นฐานการพิจารณาตามเหตุผล ดังนั้นในวันที่จะมีการประชุมสปช. เพื่อให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องใช้การลงคะแนนโดยเปิดเผยด้วยการขานชื่อ ตามที่ข้อบังคับการประชุม สปช. ข้อ120 กำหนด สปช.เหล่านั้นต้องตอบคำถามกับสังคมให้ได้ด้วยว่าไม่เห็นชอบเพราะอะไร

"ผมมองว่าเมื่อเปิดให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การตัดสินใจจะอยู่ที่ประชาชนทั้งแผ่นดิน ส่วน สปช. เป็นเพียงผู้กลั่นกรองเท่านั้น ดังนั้นสปช.ไม่ควรลุแก่อำนาจ พึงตระหนักในการทำหน้าที่และใช้ดุลยพินิจ ก่อนส่งต่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ สำหรับการทำประชามติที่ต้องรับฟังความเห็นทุกฝ่ายนั้น ผมมองว่าควรใช้พื้นที่หรือรายการโทรทัศน์เป็นเวทีดีเบตคนทุกฝ่าย" นายไพบูลย์ กล่าว