กฤษดา ศิรามพุช คุณหมอหัวใจหลงยุค

กฤษดา ศิรามพุช คุณหมอหัวใจหลงยุค

นอกจากจะเชี่ยวชาญด้าน AntiAging นพ.กฤษดา ศิรามพุช ยังเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ทั้งในไทยและสากล แถมยังโยง 2 ศาสตร์มาช่วยงานแพทย์ในปัจจุบัน

หากคุณเป็นตัวจริงเสียงจริงในแวดวงคนรักสุขภาพ จะต้องคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับชื่อของ นายแพทย์กฤษดา ศิรามพุช หรือหมอต้น ผ่านผลงานเขียนทั้งรายวัน รายสัปดาห์และรายเดือนในนิตยสาร หนังสือพิมพ์และพอกเกตบุ๊คอีกหลายเล่ม ขณะเดียวกันยังจัดรายการทางวิทยุและช่องทีวีอีก 2 ช่อง รวมถึงการขึ้นเวทีบรรยายให้ความรู้ประชาชนในงานประชุมสัมมนาและอีเว้นต์ต่างๆ
ไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรักสุขภาพในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรวัฒน์ หรือ AntiAging แต่ยังเป็นที่รู้จักดีเช่นกันในกลุ่มคนที่สนใจเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ในฐานะนักค้นคว้าประวัติศาสตร์และโบราณคดี ยังเป็นสมาชิกสถาบันโบราณคดีแห่งสหรัฐอเมริกาและสถาบันสมิทโซเนียน ที่ขยันเขียนหนังสือด้านประวัติศาสตร์ออกมาให้อ่านกัน
"สำหรับผมแล้วประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่ชอบ แต่เรียกได้ว่าถึงขั้นรักหลงใหล เป็น more than love เป็น passion" ยืนยันถึงความเป็นคุณหมอหัวใจหลงยุคได้อย่างชัดเจน

๐ แรงบันดาลใจที่ทำให้สนใจเรื่องราวในอดีต?
ส่วนหนึ่งอาจเป็นพราะคุณแม่มาจากคณะอักษรศาสตร์ เห็นท่านอยู่กับกองหนังสือมากมาย ส่วนคุณยายเป็นข้าหลวงในวังของพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมรุพงษ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ผมได้เห็นและสัมผัสตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ผ่านทางคุณยายและคุณแม่ จึงซึมซับเรื่องราวได้มากกว่าตำราตัวหนังสือ รู้สึกว่าประวัติศาสตร์มันกระโดดโลดเต้นมาอยู่ตรงหน้าผมจากท่านเหล่านี้
ตั้งแต่สมัยเด็กๆ แล้ว ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่ต้องจำ ผมหลับตามองเห็นภาพได้เป็นฉากๆ เช่น ปีที่พระพุทธเจ้าหลวงสวรรคต 2453 หรือ ค.ศ.1910 อีก 7 ปีให้หลังก็เป็นปีที่พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียและครอบครัวถูกปลงพระชนม์อย่างโหดเหี้ยม เรื่องราวเหล่านี้มันอยู่ในหัว จดจำได้เอง ไม่ต้องท่องทำ
ผมเป็นเด็กประเภทชอบหนุนตักคุณยายคุณแม่ แล้วก็คุยและถาม ยกตัวอย่างตอนเด็กๆ คุณยายชอบทำข้าวต้มมัด ผมก็ถามว่าทำไมท่านทำเป็น ทำไมต้องกรีดใบตอง ทำไมสานปลาตะเพียนจากใยมะพร้าว ท่านก็เล่าให้ฟังโดยท้าวความถึงเรื่องราวในอดีต เรื่องราวในวัง เกร็ดความรู้ต่างๆ เหล่านี้ก็เข้ามาอยู่ในหัวได้โดยอัตโนมัติ

๐ ทำไมไม่เลือกเรียนด้านประวัติศาสตร์?
สิ่งที่รักกับสิ่งที่ประกอบเป็นอาชีพแยกกันคนละส่วน ผมก็เหมือนกับคนทั่วไปที่มีสิ่งที่รักกับสิ่งที่ทำเป็นอาชีพ เพียงแต่สิ่งที่ผมรักคือเรื่องราวในอดีต ส่วนอาชีพคือการรักษาผู้ป่วย เช่นเดียวกับงานเขียนก็เป็นสิ่งที่รักและอยากทำ แต่ไม่รู้สึกว่าเป็นงานอาชีพ
ผมเป็นนักค้นคว้าประวัติศาสตร์อิสระมากกว่า ผมไม่เคยเทคคอร์สหรือลงเรียนด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี แต่สมัครเป็นสมาชิกสถาบันต่างๆ เช่น สถาบันโบราณคดีในอเมริกา เป็นสมาชิกแมกกาซีนด้านประวัติศาสตร์ หากมีโอกาสได้คุยหรือสัมภาษณ์ผู้ที่เก่งด้านนี้ก็จะขอความรู้ หรือได้คุยกับคนที่เราชอบ ในเรื่องที่ชอบ ผมชอบไปเดินในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นี่คือความสุขของผม
ความฝันของผมคือ อยากให้มีคนที่เหมือนกับคุยเรื่องประวัติศาสตร์แบบที่เข้าใจง่ายๆ เอามาผสมเรื่องของสุขภาพเรื่องของอายุวัฒน์ได้อย่างเข้ากัน เพราะอายุรวัฒน์ในมุมประวัติศาสตร์จะทำให้คนไทยใช้อาหารไทย อะไรที่เป็นไทยๆ ดูแลตัวเองได้


๐ เป็นคนที่หลงใหลเรื่องในอดีตแล้วสะสมสิ่งของโบราณอะไรบ้าง?
คุณยายได้มอบเหรียญหนึ่งบาทสมัยรัชกาลที่ 6 ด้านหลังเป็นช้างสามเศียร ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 6 นับจากนั้นมาผมจึงเริ่มสะสมเหรียญ แล้วก็จะนึกย้อนถึงยุคสมัยนั้นที่คุณยายอยู่ในวัง พระองค์ทรงประกาศสงครามร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็จะทำให้เห็นภาพต่างๆ ที่เป็นยุคสมัยที่บ้านดีเมืองดี หลังจากนั้นผมก็พยายามหาเหรียญต่างๆ ที่จะเล่าย้อนเรื่องราวได้
สมัยก่อนเคยไปจ้องหาแถวตลาดจตุจักร รอคนที่งมหาของเก่านำมาขาย เคยได้เหรียญสตางค์มีรู มีคราบเกาะอยู่ คราบเก่าๆ นี้ก็ทำให้ผมมีความสุขแล้ว เหรียญนี้อยู่มาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนคุณยายเกิด เคยผ่านคุ้งน้ำ ผ่านเรือ ผ่านห่อชายพกของใครต่อใครมาบ้าง
เหรียญกษาปณ์ของเมืองนอกก็มีมาให้สะสมเหมือนกัน มีเหรียญของอังกฤษที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีเมื่อ 50 ปีก่อน หลังพิธีพระบรมราชาภิเษกไม่นาน ก็นึกย้อนไปว่าสมัยนั้นมีผู้แทนจากชาติไทยเข้าร่วมด้วย แค่เห็นเหรียญก็เห็นภาพตระการตาของพระราชพิธีนั้นได้

๐ มีบุคคลในความประทับใจไหม?
ผมชอบคนที่เป็นพหูสูตร ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่ได้เก่งด้านเดียว แต่เก่งรอบด้านในหลายๆ เรื่อง เช่น เลโอนาร์โด ดา วินชี เป็นทั้ง สถาปนิกแบบเรอเนซองส์ นักดนตรี นักกายวิภาคศาสตร์ นักประดิษฐ์ วิศวกร ประติมากร นักวาดภาพ นักดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ แล้วก็อาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นทั้งนักปราชญ์ นักประพันธ์ นักแสดง ศิลปินแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี คนที่มีความรู้ความสามารถระดับพหูสูตรนี้ไม่ได้มีมาบ่อยๆ ร้อยปีจะมีมาสักคน

๐ เรื่องราวในอดีตนำมาใช้กับอาชีพแพทย์ได้ไหม?
ประวัติศาสตร์คือขุมพลังของผม ทำให้มีแรงและกำลังใจในการทำงานทุกอย่าง ทั้งงานตรวจคนไข้ งานสื่อทั้งวิทยุ ทีวีและงานเขียน เช่น เวลาผมจัดรายการวิทยุ มีผู้ฟังโทรมาสอบถามว่า โรครองช้ำรักษาอย่างไร คนส่วนใหญ่ก็จะงงว่าคือโรคอะไร โรคนี้ภาษาวิชาการคือ พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ อาจให้ภาพระดับหนึ่ง แต่ถ้าใช้คำว่ารองช้ำซึ่งเป็นคำของคนสมัยก่อนก็จะเข้าใจได้ชัดขึ้น ผมก็จะเล่าไปว่า คนสมัยก่อนก็มีอาการแบบนี้นะในรายที่รองเท้าไม่เข้ากับสรีระเท้า หรือเดินเยอะเกินไป
อีกกรณีคือมีผู้ฟังถามว่า ปัสสาวะบ่อยๆ จะเป็นช้ำรั่วไหม ซึ่งก็เป็นคำในสมัยก่อน ช้ำรั่วก็คล้ายกับกระเพาะปัสสาวะรั่ว พอมีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ นี้เข้ามาเสริมจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกสนุกขึ้นมา และที่สำคัญคือฟังแล้วก็จะจดจำเนื้อหาได้ดีขึ้น หรือถามว่า น้ำมันปลากับน้ำมันตับปลาเหมือนกันไหม
ผมอาจจะเล่าให้ฟังว่า น้ำมันปลามีอยู่ในปลาเนื้อมันและกระดูกอ่อนปลาฉลามแต่ก็กินปลากระเบนแทนก็ได้ แล้วก็เล่าโยงเรื่องเมนูฉู่ฉี่เนื้อปลาฉลามกับซอยแปลงนามย่านเจริญกรุง สมัยก่อนโน้นมีชื่อว่า ตรอกหมาเน่า เล่าโยงเรื่องราวให้เห็นเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ใช่เรื่องน้ำมันปลาในมุมแพทย์มุมวิชาการ
สำหรับผมแล้วเรื่องราวในอดีตคือประวัติศาสตร์หน้าใหญ่ ถ้าเรารู้ประวัติศาสตร์ด้วยและรู้วิชาหมอด้วย ก็จะมารวมกันต่อกันให้เติมเต็มขึ้น

๐ เหตุใดจึงสนใจด้านอายุรวัฒน์?
ผมเชื่อว่ามนุษย์เราไม่สามารถหลีกหนีความแก่ได้พ้น จึงอยากรู้ว่ามีอะไรที่ช่วยชะลอความเสื่อมทั้งหลายให้ไกลจากเราที่สุด ทำอย่างไรให้ชีวิตคนเราเป็นนาทีทองที่ไกลจากโรค ไกลจากความเจ็บป่วย ให้มีแอคทีฟไลฟ์หรือมีชีวิตที่สูงวัยแต่ไม่แก่ชราได้นานที่สุด

๐ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชะลอวัยแล้วจะหยุดอายุไว้ที่เท่าไหร่?
ผมอยากจะหยุดอายุของหัวใจตัวเองมากกว่า ขอให้มีหัวใจที่ยังเป็นเด็กช่างฝันที่อายุไม่เกิน 18 ปี ให้ยังเห็นภาพฝันที่ยังสวยงามแบบนี้เอาไว้ตลอดไป ผมขอแค่หัวใจ ไม่ขอรูปร่างหน้าตา เมื่อไหร่ที่หัวใจยังเป็นแบบนี้ ผมก็ยังมีแรงที่จะคิดสิ่งใหม่ๆ เสมอ หัวใจเป็นน้ำทิพย์หล่อเลี้ยง
และผมรู้สึกเสมอว่าขอบคุณพ่อคุณแม่คุณยาย ที่ให้ผมอยู่ในครอบครัวที่มีความเป็นคนไทยวัฒนธรรมไทย ทำให้เห็นภาพฝันต่างๆ ได้ แม้จะเติบเป็นวัยผู้ใหญ่ขนาดนี้แต่สมองเหมือนเด็กอายุ 7 ขวบในร่างกายผู้ใหญ่ เป็นอย่างไรเหรอก็นึกถึงผู้เขียนเจ้าชายน้อย อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี ที่ยังเห็นภาพฝันของเด็ก
ผมอย่างเดียวไม่ขอล็อควัยไม่ขอล็อคหน้าตา แต่ขอล็อคหัวใจ ให้เป็นหัวใจที่สามารถปลุกความเด็กได้ทุกเมื่อทุกครั้งทุกเวลา