“เหยื่อ”

ความจริง เรื่องจริง ชีวิตจริงๆ ที่ไม่ต้องใช้หลักการทฤษฎีไหนมาวิเคราะห์ ขอเพียงมี “หัวใจ” ก็น่าจะเห็นได้ว่า ชีวิตมันไม่ง่ายเลย

จากป้อมตระหง่าน มองเห็นยอดไม้ไหวๆ ยามลมพัดพลิ้วกลางป่าอุดมสมบูรณ์ของ “เทือกเขาแก้ว” เมื่อละสายตามองต่ำยังเบื้องล่าง พลันพบแคมป์ขนาดใหญ่นับเพิงพักได้ราว 20 หลังเรียงรายตามไหล่เขา

เข้าใจตรงกันนะ ที่นี่แหละ... สถานที่ค้าโรฮิงญา

เมื่อเรื่องราวของ “โรฮิงญา” หรือ “โรฮินจา” เรียกแบบไหนได้ตามสะดวก (ปาก) เรียกเรตติ้งดังกระฉ่อนโลกได้อีกระลอก ด้วยมุมมองนานาทัศนะที่ไม่อาจสงบนิ่งได้ในเวลาอันรวดเร็ว ว่ากันด้วยเรื่องเส้นทางชีวิตที่ดิ้นรนหนีตายจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ลงเรือประมงรอนแรม ลอยลำกลางนาวาคืนแล้วคืนเล่า รอการหลบขึ้นฝั่งแวะพักจังหวัดระนอง เดินหน้าต่อจังหวัดสตูล และสงขลายึดเส้นทางเดินเท้าลัดเลาะสันเขาแห่งเทือกเขาแก้ว

แม้จะเหน็ดเหนื่อยเพียงใดใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความหวังไปยังปลายทางประเทศที่ 3 มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

เดิน.. เดิน.. เดิน.. เข้าสู่แคมป์ “คอกพัก” สถานที่สุดท้ายเฝ้ารอสัญญาณข้ามไปสู่ “โลกใหม่” ในความเข้าใจของ “โรฮิงญา”

 

................................

ยอดเขาสูงชัน ธรรมชาติสมบูรณ์ และใกล้แหล่งน้ำ คือ “พิกัด” การตั้งแคมป์โรฮิงญาที่ซุกซ่อนกระจายตัวตามพื้นที่เทือกเขาแก้ว ภูเขาที่เป็นดั่งสันปันน้ำขวางกั้นเป็นขอบเขตพรมแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย

และนั่นคือทำเลทองของทำเนียบซื้อขายชีวิตในธุรกิจ “ค้าคน”

สถานการณ์วันนี้ แคมป์พักโรฮิงญามีให้เห็นอยู่หลายแห่ง ทั้งแคมป์ใหม่ และเก่าปะปนกันไป

ณ แคมป์หนึ่งใช้ผ้าใบผืนใหญ่ถูกนำมาปูตามกรอบสี่เหลี่ยมให้เป็นบ่อรองรับน้ำไว้ใช้สอย ขณะที่อีกหลายๆ แคมป์ใหญ่มีก็อกน้ำให้ใช้ได้อย่างไม่ต้องกังวล

“น้ำ” ที่ถูกต่อท่อพีวีซีสีฟ้าพาดผ่านแนวร่องน้ำลำห้วยน้อยใหญ่คือปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อการปักหมุดสร้างแคมป์ใหญ่ที่มั่นคงและใช้ประโยชน์ได้นานหลายปี

“ไม้” ต้นไม้เล็กขนาดเหมาะมือถูกตัดหั่นยอดให้เหลือเพียงลำต้น ขนาดสั้นยาวต่างกันนับพันๆ ท่อน ถูกตอกตะปูยึดโครง เพื่อสร้าง “คอก” ด้านบนขึงผ้าใบเป็นหลังคา ข้างใต้โล่งไร้การใช้สอยอย่างอื่นนอกจากให้นั่ง และนอนรวมกัน

แตกต่างจากเรือนพักผู้คุมแคมป์ที่นอกจากทำเลดี วิวสวยและสูง ถูกสร้างสไตล์สถานที่พักผ่อนที่ตัวเรือนยกระดับพื้นแบ่งสัดส่วนที่นั่งเล่นและที่นอน

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า สถานที่เหล่านี้มีอยู่จริง

  ระยะทาง 2 กิโลเมตรนับจากพื้นที่ราบชายป่าสลับกันไปมากับแนวร่องสวนยางพาราที่ปลูกแซมผืนป่าใหญ่เริ่มสิ้นสุดเส้นทางยานพาหนะ ทางเดียวที่ไปได้คือการเดินลัดเลาะปีนป่าย ควนเขาลูกหนึ่ง สอง และสาม จนนับไม่ไหว

นี่คือเส้นทางสายปกติที่คนหลบหนีเข้าเมืองนิยมใช้สัญจรมานานร่วม 10 ขวบปี

..กล่องนม เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ฯลฯ ที่ถูกทิ้งไว้ตลอดเส้นทางเดินเขา คือ ร่องรอยติดตามชีวิต “ผู้ผ่านมา” ได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายในการเข้าถึงพื้นที่สำหรับคนทั่วไปที่ใช้ชีวิตในสังคมเมือง

แม้ในห้วงระยะ 10 ปีมานี้ ชาวบ้านจะพบเห็นคนต่างด้าวหน้าตาแปลกไป ไม่ว่าจะ แขก, พม่า หรือจะเป็นมาเลเซีย ก็ไม่มีใครอยากยุ่ง เพราะรู้ดีว่า ไม่อาจเอาชีวิตเข้าไปยุ่งหรือ “เสี่ยง” กับผู้มีอิทธิพลที่ชาวบ้านรู้ดีว่าเป็น “ใคร” แค่ไม่อยากบอก

 

................................

ข้าวสวยร้อนๆ ในจานยกเสิร์ฟวางลงตรงหน้า ชายฉกรรจ์ตัวผอมดำคล้ำเกรียมที่นั่งอยู่แถวหน้าสุดจากจำนวนอีกหลายสิบแถว

นั่นคือ “คืนแรก” ของ “เขา” หนึ่งในชาวโรฮิงญา และบังคลาเทศจำนวนกว่า 300 ชีวิตที่หนีตายลงจากยอดดอยสูง และถูกจัดให้พักแรมใต้ชายคาศาลาประชาคมที่ว่าการอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลาที่ถูกแปรสภาพให้เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว

..รอยยิ้มที่มุมปากผุดขึ้น ขณะนั่งจ้องมองจานข้าว ขณะที่หยดน้ำใสไหลหยดลงบนจานโดยไม่รู้ตัว

มูคาซัค ในวัย 25 ปี ชาวโรฮิงญาเปลี่ยนอิริยาบถหลังอิ่มแปล้กับเมนูไม่คุ้นลิ้นแต่อิ่มท้อง ขณะที่มือคว้าหาถุงพลาสติกใบเขื่องที่ซุกเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวซึ่งได้รับแจกมาวางไว้ใกล้ตัว ก่อนบอกเล่าเรื่องราวความขมขื่นใจผ่านล่ามชาวบ้านที่สื่อสารโต้ตอบกันแบบไม่ถนัดนัก ต่างงัดภาษากายมาสื่อสารกันอย่างทุลักทุเล

ทุกการเคลื่อนไหวจึงมีเสียงหัวเราะเบาๆ เล็ดลอดออกมาเป็นระยะ โดยเฉพาะเมื่อถามถึงอาหารที่รับประทาน

“ข้าวที่นี่สีขาวสวยอร่อย ขณะชี้นิ้วไปยังจานที่ก่อนหน้านี้มีข้าวอยู่ ไม่เหมือนข้าวบนเขาที่สีเหลืองและแข็ง” เขาบอกพลางส่ายหน้าไปมา และกระซิบเบาๆ ด้วยว่า “ทุกมื้อมีแค่ปลาเค็มตัวเล็ก”

แม้ “มาเลเซีย” จะเป็นคำตอบของมูคาซัค ที่บอกอย่างไม่ลังเล เมื่อถูกถามว่า อยากไปไหน

3 เดือนที่ต้องทนอด

3 เดือนที่ต้องอดทน

3 เดือนที่อยู่ด้วยความหวัง

..แต่สุดท้ายกลับเป็นได้แค่ “เหยื่อ”

 

................................

เสียงดังเอะอะโวยวายลั่นมาจากมุมหนึ่งของอาคารที่ถูกกั้นเป็นโซนห้องน้ำ ชะโงกหน้าส่องดู เห็นภาพการจับกลุ่มใหญ่ล้อมรอบชายวัยกลางคนที่ตะโกนส่งเสียงดังพร้อมส่งสัญญาณมือเชิงขับไล่ให้ไปพ้นๆ

ต่างด้าวกลุ่มแล้ว กลุ่มเล่า ที่เดินผลัดกันวนไปวนมามุงดูอย่างหาเรื่อง

ขณะที่ในมือถือแปรงฟัน ยาสีฟัน และสบู่เหลว ที่เพิ่งฉีกออกจากซองที่แพ็กมาเป็นหมวดหมู่ถูกจ้องมองอย่างสนใจ

เมื่อชายผู้อยู่กลางวงชูมือขึ้นสูง บีบยาสีฟันลงบนแปรง พร้อมทำท่าสาธิต “การแปรงฟัน” ลีลานี้ผ่านได้ด้วยดี แต่เมื่อมาถึงการสาธิต “วิธีอาบน้ำ” ที่ส่วนใหญ่ผงกศีรษะทำท่าเข้าใจ แต่กลับเทสบู่เหลวลงบนฝ่ามือก่อนประโคมทั่วเรือนกายที่แห้งสนิท!!

นั่นคือที่มาของการตะเบ็งเสียงขับไล่ ชี้ให้เข้าไปในห้องน้ำ

วินาทีที่พื้นเจิ่งนองด้วยน้ำไหลทะลักล้นพ้นอาณาเขตไปยังต่างด้าวอีกกลุ่ม ยื้อแย่งกันจ้วงตักน้ำจากถังใบใหญ่ บ้างก็ฉุดกระชากลากสายยางสีเขียวพ่นน้ำกระเซ็นไปทั่วพื้นที่

ถัดมาไม่ไกล ต่างด้าวล็อตใหม่กลุ่มใหญ่รุมยื้อกองเสื้อผ้าหลากสีสันที่เหล่าผู้ใจบุญหอบหิ้วติดมือมาแจกจายหลังทราบชะตากรรมเหล่าโรฮิงญาที่หนีตายลงจากเขาเทือกเขาสูง

บ้างก็ว่า กลุ่มนี้หนีจากแคมป์ที่เจ้าหน้าที่เข้าบุกยึดและทำลาย บ้างก็เล่าเพิ่งลงเรือหวังขึ้นเขาไปสมทบกลุ่มเพื่อนร่วมชาติ ณ จุดพักใกล้พรมแดนมาเลเซีย

เรื่องราวปะปนวกวน เรื่องใดจริง เรื่องใดเท็จ ไม่มีใครยืนยันได้ หลายคนพูด บางคนเงียบ ขณะที่อีกหลายคนไม่เข้าใจ และอีกมากมายที่ไม่ให้ความร่วมมือ

เสื้อผ้ากองใหญ่กับผู้คนที่สาละวนกับการรื้อแล้วรื้ออีกให้ได้ขนาดพอดี

“เสื้อผู้หญิง!!” เสียงตะโกนบอกแต่ไร้การตอบสนองจากชายตัวคล้ำดำ หลังจากตั้งใจหยิบออกจากกองเทียบอกก่อนสะบัดสวมทันที

...นาทีนี้เสียงหัวเราะระงมลั่น ขณะที่คนสวมใส่หาได้แคร์

 

................................

ณ อีกมุมหนึ่งของศูนย์พักพิงชั่วคราว เหล่าสตรีประมาณ 15 ชีวิตที่มีลูกน้อยบนตัก กวาดสายตามองพื้นที่รอบๆ ตัวด้วยสายตาละห้อย คอยการช่วยเหลืออยู่อย่างเงียบๆ

30 นาทีก่อนหน้านี้ “เธอ” และเพื่อนร่วมชาติชาวพม่าและโรฮิงญาเพิ่งระหกระเหินเดินอยู่กลางป่าสวนยางพาราพื้นที่เขตรอยต่ออำเภอรัตภูมิ และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในช่วงใกล้เวลายามพลบค่ำ

โชคดีหรือโชคร้ายยังคงหาคำตอบไม่ได้ที่มีชาวบ้านและเจ้าหน้าที่พบตัวเข้า จากนั้นจึงถูกนำตัวขึ้นรถกระบะเพียงแค่อึดใจเดียวก็มาอยู่ ณ จุดนี้

ความตื่นกลัว หวาดผวา ไม่ไว้ใจ ถูกฉาบอยู่บนใบหน้าที่พยายามฝืนยิ้มจ้องมองไปยังกลุ่มเพื่อนร่วมชะตากรรม

ความเหน็ดเหนื่อย หิวโหย และห่วงลูกน้อยที่เริ่มงอแงตามประสา ทำให้คนเป็นแม่เร่งหยิบจับหาของให้ออกจากถุงที่ได้รับแจกมาหมาดๆ เสี้ยวนาทีมือฉีก และดึงของสิ่งนั้นเข้าปากหวังป้อนลูกน้อย ต้องชะงักผิดหวัง เมื่อสิ่งที่อยู่ในมือคือ "ผ้าอนามัย”

ความฉงนฉายผ่านแววตาของแม่ผู้ไม่รู้ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ใจดีรายหนึ่งเข้ามากระซิบบอก ก่อนออกอุบายแก้เก้อ ล้วงส่งขนมปังในปี๊บให้เด็กน้อยประทังท้อง หยุดเสียงร้องได้ชั่วคราว

..ขณะที่สารพัดทฤษฎีเกี่ยวกับ “พวกเขา” ยังไม่อาจมีข้อสรุป

..ขณะที่หลายฝ่ายพยายามทุ่มถกเถียง ถึงแนวทางแก้ปัญหา

..แต่ถ้ามีใครลองถามพวกเขา ที่ได้กลับมา อาจเป็นคำถามแสนสามัญเพียงว่า

"ใต้ฝ่าตีน จะมีดินให้ฉันยืนไหม???"