ถอดสมการเติบโต TTA ผ่านวิชั่น 'เฉลิมชัย มหากิจศิริ'

ถอดสมการเติบโต TTA ผ่านวิชั่น 'เฉลิมชัย มหากิจศิริ'

หาจังหวะลงทุนช่วงอุตสาหกรรมเด้งกลับ สเต็ป 'เทิร์นอะราวด์' บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ 'เฉลิมชัย มหากิจศิริ' ผู้รับบทนายใหญ่

'เงินสดหมื่นกว่าล้าน' ของ 'เสี่ยเป้า-ประยุทธ มหากิจศิริ' หรือ เสี่ยเนสกาแฟ ที่ได้จากการขายหุ้น โพสโค-ไทยน๊อคซ์ หรือ INOX ชื่อเดิม บมจ.ไทยน๊อคซ์ สเตนเลส ให้กับ บริษัท โพสโค แห่งสาธารณรัฐเกาหลี ผู้ผลิตเหล็กอันดับ 4 ของโลก ในช่วงปี 2555 ส่วนหนึ่งได้ถูกกระจายออกไปสร้างมูลค่าเพิ่มในตลาดหุ้น ด้วยการลงทุนใน บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท

แต่ก่อนเจ้าของอาณาจักร พีเอ็ม กรุ๊ป จะขึ้นแท่นหุ้นใหญ่ใน TTA องค์กรแห่งนี้เคยตกอยู่ในเกมร้อน หลัง 'บี เตชะอุบล' ทายาทคนโต 'เสี่ยไมค์ สดาวุธ เตชะอุบล' เจ้าของ บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ CGH 'วิจิตร สุพินิจ' อดีตประธานกรรมการก.ล.ต.และ 'วีระ มานะคงตรีชีพ' อดีตผู้บริหาร บงล.ซิทก้า 1 ใน 56 ไฟแนนซ์ ที่ปิดตัวไปในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ

ได้ขอเข้าพบ 'หม่อมไอซ์-ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต' อดีตนายใหญ่ TTA เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ได้รวบรวมหุ้น TTA ได้แล้วกว่า 30% แต่สุดท้าย 'บี เตชะอุบล' ต้องยอมยกธงขาว หลังโดนกระแสสังคมกดดัน ระหว่างนั้น 'เสี่ยเนสกาแฟ' ก็ไล่เก็บหุ้น TTA จนขึ้นแท่นหุ้นใหญ่ในที่สุด

เส้นทางเงินต่อเงินในครานั้น 'เสี่ยเป้า' เลือกที่จะนั่งเบื้องหลังคอยทำหน้าที่กำกับดูแล และยกหน้าที่ผู้นำองค์กรให้ลูกชายคนเดียวของตระกูล 'กึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิร' และลูกสาวคนเล็ก 'ณา-อุษณา มหากิจศิริ' ปัจจุบันสองพี่น้องและมารดา 'สุวิมล มหากิจศิริ' ถือหุ้น TTA ในสัดส่วน 16.51% 3.89% และ 1.53% ตามลำดับ (ตัวเลขวันปิดสมุดทะเบียน ณ วันที่ 8 พ.ค.2558)

ก่อนจะเข้ามาทำงานใน TTA ตามคำขอของผู้เป็นพ่อ 'เฉลิมชัย' เคยถูกพ่อวางตัวให้ดูแลกิจการของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น สนามกอล์ฟ เลควูด คันทรี คลับ,บมจ.ไทยน๊อคซ์ สเตนเลส,บมจ.ไทยฟิล์ม อินดัสตรี่ และบริษัท โฟร์ วัน วัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจรับจัดคอนเสิร์ตเกาหลีเต็มรูปแบบในเมืองไทย ขณะเดียวกันยังเคยไปชิมลางงานการเมือง ด้วยการนั่งเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร

'ของดี-ราคาดี มักมาช่วงขาลง' 

'เฉลิมชัย มหากิจศิริ' กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ เล่าอนาคตให้ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' ฟังว่า ปัจจุบันเรามีเงินสดอยู่ในมือมากถึง 'หมื่นล้านบาท' หลังต้นปี 2558 บริษัทได้ขายหุ้นเพิ่มทุนได้เงินกลับมากว่า 8 พันล้านบาท บริษัทตั้งใจจะนำเงินก้อนนี้ไปต่อยอดกิจการ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจต่อไป

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนที่จะทำให้บริษัทขยายตัวอย่างรวดเร็ว (ทางถนัดของตระกูลมหากิจศิริ) นั่นคือ 'การซื้อกิจการหรือจับมือกับพันธมิตรทั้งในและนอกประเทศ' ซึ่งการเทคโอเวอร์ในช่วงที่อุตสาหกรรมกำลังอยู่ในช่วง 'ขาลง' เช่นนี้จะทำให้บริษัทได้ทั้ง 'ของดีและของถูก' ในคราวเดียวกัน ตอนนี้อุตสาหกรรมขนส่งและพลังงาน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทกำลังอยู่ในช่วง 'ราคาตกต่ำ' 
ปัจจุบันค่าระวางเรืออยู่ในระดับ 6 พันเหรียญต่อวัน ถือเป็นตัวเลขที่ 'ต่ำสุด' ในรอบหลายปี โดยลดลงจากปีก่อนที่อยู่ระดับ 1 หมื่นเหรียญต่อวัน หลังตลาดโลกมีเรือออกมาใหม่จำนวนมาก ขณะที่ความต้องการไม่ได้เพิ่มตาม

ทีมงานพูดเสริม 'เฉลิมชัย' ว่า ที่ผ่านมาจำนวนเรือในตลาดโลกออกมามากถึง 7% ขณะที่ความต้องการเพิ่มเพียง 5-6% เท่านั้น ทั้งนี้เราหวังว่า อัตราค่าระวางเรือจะเด้งกลับมาเท่าปีก่อน ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558

'Wait and see คือ สิ่งที่ TTA กำลังทำอยู่ตอนนี้ หลายคนอาจคิดว่า เราเตรียมจะซื้อของช่วงขาลง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่จำเป็น เพราะกลยุทธ์แท้จริงของบริษัท คือ ซื้อในช่วงที่กำลังเด้งขึ้น หากเปรียบอุตสาหกรรมเป็นรูปตัวยู จงเข้าซื้อในช่วงที่ยูกำลังจะขึ้น อย่าไปซื้อตอนลง เพราะหากใช้เงินกับการลงทุนที่ต้องรอว่า เมื่อไหร่จะกลับมา เหมือนเอาเงินไปจม' 

ถามว่าปีนี้เตรียมเทคโอเวอร์กี่ดีล? 'หนุ่มกึ้ง' ตอบว่า คงไม่สามารถบอกได้ชัดเจน เพราะหากเปิดเผยตอนนี้ คนอื่นอาจมาซื้อตัดหน้า หลายคนอยากทำตาม TTA และคนที่คิดจะขายอาจปรับราคาเพิ่มขึ้น (หัวเราะ) วันนี้ยังมีคนขายของสูงกว่าความเป็นจริงอยู่มาก แต่หากวันใดเขาขาดสภาพคล่องในการทำธุรกิจ ก็คงยอมขายในราคาตลาด ฉะนั้นเราทำได้แค่รอ

ปัจจุบัน TTA มีศักยภาพที่จะเทคโอเวอร์ดีลใหญ่ระดับชาติ เราไม่กลัวที่จะเจริญเติบโต ไม่ว่าการลงทุนนั้นจะใหญ่ขนาดไหน นอกจากเราจะมีความพร้อมเรื่องทีมงานแล้วยังได้รับความเชื่อถือจากสถาบันการเงินทั้งในและนอกประเทศด้วย วันนี้เรามีเป้าหมายในใจแล้ว แต่คงบอกรายละเอียดไม่ได้จริงๆ

ตอนนี้บอกได้เพียงว่า TTA สนใจลงทุนในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่สามารถสร้างตัวเลขผลตอบแทนได้สูง 'สองหลัก' ซึ่งปัจจุบันยอมรับว่า ค่อนข้างหายาก (ยิ้ม) ท่ามกลางภาวะอุตสาหกรรมขาลงเช่นนี้ ธุรกิจที่เราจะทำ ไม่จำเป็นต้องเป็นเพียง 3 ธุรกิจหลัก (ขนส่ง-พลังงาน-โครงสร้างพื้นฐาน)
แต่สามารถแตกไลน์ไปในธุรกิจอื่นๆ เหมือนที่เคยเข้าไปซื้อหุ้นในบริษัท ไซโน แกรนด์เนส ฟู้ด อินดัตรี กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตอาหารและแครื่องดื่ม ที่มีฐานการผลิตอยู่ที่เซินเจิ้น สาธารณะรัฐประชาชนจีน มูลค่าการลงทุน 36.96 ล้านดอลลาร์สิงค์โปร์ คิดเป็นเงินไทย 954.29 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทมีแผนจะซื้อหุ้น ไซโน แกรนด์เนส ฟู้ด อินดัตรี กรุ๊ป เพิ่มเติม แต่จะซื้อเท่าไหร่ยังไม่สามารถบอกได้ แต่หากเขายังทำผลงานได้สวยเหมือนปีก่อนที่มีกำไรสุทธิประมาณ 2 พันล้านบาท เราก็สนใจจะลงทุนเพิ่ม ทั้งนี้ที่ผ่านมาดีลดังกล่าวใช้เวลาเจรจานาน 1 เดือน

'ผมพยายามจะให้ TTA ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทขนส่ง เพราะราคาหุ้นมักขึ้นลงตามค่าระวางเรือ หากพิจารณาจากพฤติกรรมการลงทุนจะพบว่า นักลงทุนรายส่วนใหญ่มักขายหุ้น TTA ออกไป โดยไม่รู้ว่า บริษัทมีของดีซ่อนอยู่ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ TTA ผลักดัน PMTA เข้าตลาดหุ้น' 'หนุ่มกึ้ง' เชื่อเช่นนั้น

'เฉลิมชัย' เผยความลับว่า ตอนนี้มี 'เจ้าของธุรกิจขนส่ง' หลายรายมาชักชวนให้บริษัทเข้าไปเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ เมื่อปีก่อนมีธุรกิจคู่แข่งของบริษัทหลายแห่งปิดกิจการ ซึ่งเราได้เข้าไปซื้อเรือจากเขามา 1 ลำ ราคากว่า 2 พันล้านเหรียญต่อลำ ถือว่าเป็นราคาที่ถูกกว่าราคาตลาด

ขณะเดียวกันตอนนี้ยังได้มีการพูดคุยกับ 'เจ้าของธุรกิจพลังงาน' แต่จะเป็นพลังงานประเภทใด หรือเข้าไปทำธุรกิจในลักษณะใดยังตอบไม่ได้ บอกได้แต่ว่า เราเปิดกว้างการลงทุนพลังงานทดแทน ทั้งในและนอกประเทศ หากมีเพื่อนที่ดีพร้อมจับมือ แต่ถ้าไม่มีสามารถทำคนเดียวได้ ภายในไตรมาส 3 ปี 2558 น่าจะได้ข้อสรุป

ส่วนธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่มี บมจ.พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ หรือ PMTA และบมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส หรือ UMS ผู้ให้บริการโสจิสติกส์และจัดจำหน่ายถ่ายหินในประเทศไทยเป็นหัวเรือใหญ่ ในส่วนของ PMTA ถือเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งอยู่แล้วคงไม่ต้องเข้าไปปรับปรุงอะไร
ล่าสุด PMTA ได้เพิ่มกำลังการผลิต จาก 3.5 แสนเมตริกตัน เป็น 4.5 แสนเมตริกตัน ส่งผลให้ปีก่อน PMTA มีกำไรสุทธิ 300 ล้านบาท ส่วน UMS ที่ผ่านมา ยังคงประสบปัญหาขาดทุน หลังพลังงานทางเลือกอย่างเชลแก๊ส (shale gas) จากสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามาแทนที่พลังงานถ่านหิน แต่ที่ผ่านมาผลขาดทุนของ UMS ทยอยลดลง หลังบริษัทปรับโครงสร้างการบริหาร และลดต้นทุนต่างๆ ทั้งนี้ในอนาคต UMS มีแผนจะขยายฐานลูกค้ามากขึ้น

'ชายวัย 36 ปี' ยืนยันว่า ผมตั้งใจจะจัดโครงสร้างธุรกิจของ TTA ให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 ปีนี้ ซึ่งหลังจากทุกอย่างเสร็จสิ้น มั่นใจว่า 'กำไรสุทธิจะเติบโตทุกปี' แต่จะมากหรือน้อยคงต้องขึ้นอยู่กับสภาพตลาดโดยรวม ปีไหนธุรกิจผันผวนมาก ก็ต้องแก้สถานการณ์กันไป

แต่กำไรสุทธิในปี 2558 เชื่อว่า จะขยายตัวมากกว่าปีก่อน สำหรับสัดส่วนรายได้ในปีนี้อาจมาจากรายได้กลุ่มขนส่ง 30% กลุ่มพลังงาน 45% ที่เหลือเป็นรายได้จากกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน

อยากให้นักลงทุนเชื่อมั่นทีมงานบริหารว่า จะสามารถนำพาองค์กรกลับมามีกำไรอย่างยั่งยืน ซึ่งราคาหุ้น TTA ตอนนี้ ถือว่า 'น่าลงทุน' เพราะเรามีสตอรี่ที่ดี หลังมีแผนจะลงทุนในกิจการที่สร้างการเจริญเติบโตหลายดีล

ที่ผ่านมาผมมักนำคำสอนของพ่อที่ว่า 'พยายามถูกมากกว่าผิด พยายามถูกในเรื่องใหญ่ ผิดในเรื่องเล็ก' มาปรับใช้ในชีวิตประจำ ตั้งแต่เรียนหนังสือจบ ก็ตั้งใจจะเดินตามรอยพ่อ เพราะท่าน คือ 'ฮีโร่ของลูก' แม้ที่ผ่านมาจะออกไปหาประสบการณ์ในด้านอื่นบ้าง เช่น วงการบันเทิง และการเมือง แต่วันนี้ให้น้ำหนักที่ TTA เป็นหลัก แม้บางวันจะเดินทางมาทำงานช้าบ้าง แต่กลับดึกเกือบทุกวัน (ยิ้ม)

ตลอดการสัมภาษณ์ชั่วโมงกว่า แม้จะไม่มีเรื่องใหม่ให้นักลงทุนตื่นเต้น แต่สิ่งหนึ่งที่ 'ชายผู้รักสันโดษ' ถอดแบบผู้เป็นพ่อ คือ 'ความลับต้องถูกเปิดเผยเมื่อถึงเวลา' 

                                                  'เทิร์นอะราวด์' ผลงานชิ้นเอก 

'เฉลิมชัย มหากิจศิริ' เล่าว่า ผมเป็นนักลงทุนที่คอยมองหาโอกาสในการลงทุนที่ดีตลอดเวลา ฉะนั้นเมื่อพิจารณาข้อมูลของ TTA แล้วพบว่า บริษัทมีความสามารถซ่อนอยู่จำนวนมาก ขณะที่ราคาหุ้นในช่วงปี 2555 ยังมีโอกาสทำอัพไซด์ ขาดแต่เพียงการเดินทางที่ถูกต้องเท่านั้น ดังนั้นหากบริษัทได้รับการนำทางที่ดี โอกาสจะกลับเข้าสู่หมวด 'เทิร์นอะราวด์' มีแน่นอน ฉะนั้นกลุ่มมหากิจศิริ จึงตัดสินใจเข้าลงทุนใน TTA เมื่อ 3-4 ปีก่อน
ในช่วงที่เข้าไปซื้อหุ้น TTA ราคาต้นทุน ถือว่ายังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี หรือ Book Value เล็กน้อย แต่เราคงบอกต้นทุนของหุ้น TTA ไม่ได้ เพราะเป็นความลับ จริงๆ ไม่อยากให้นักลงทุนโฟกัสเรื่องราคาเป็นหลัก แต่อยากให้มองว่า อนาคตองค์กรแห่งนี้จะมีความแข็งแกร่ง และอีกไม่นานจะกลายเป็นหุ้นที่น่าสนใจ

เรื่องหนึ่งที่นักลงทุนหลายรายอาจยังไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับ TTA คือ เป็นบริษัท investment holding company ที่มีสินทรัพย์ดีๆ (good asset) จำนวนมากซ่อนอยู่ แต่ยังไม่ได้นำออกมาโชว์ต่อหน้านักลงทุน เมื่อเป็นเช่นนั้นในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา TTA จึงผลักดันบริษัทในเครือเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เขาย้ำ

นั่นคือ บมจ.พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ หรือ PMTA ผู้ประกอบการธุรกิจหลัก ด้วยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ปัจจุบัน PMTA ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ในบริษัท บาคองโค จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยและให้บริการคลังสินค้าในประเทศเวียดนาม PMTA ถือเป็นบริษัทต่างประเทศแห่งที่สองที่เข้า SET และเป็นบริษัทแห่งแรกของเวียดนามที่เข้าตลาดหุ้นไทย

เขา บอกว่า ปีแรก (ปี 2555) ของการนั่งทำงานใน TTA ผมได้ทำการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยการลงทุนอะไรที่ไม่สะท้อนราคาหรือมูลค่าที่แท้จริง เราได้ทำการตัดมูลค่าของทรัพย์สินออกไป คิดเป็น “มูลค่าเกือบหมื่นล้านบาท” เช่น ทรัพย์สินในธุรกิขนส่ง และธุรกิจถ่านหิน เพื่อให้นักลงทุนได้เห็นถึงมูลค่าที่แท้จริงของ TTA การดำเนินการดังกล่าว ทำให้บริษัทลูกที่ทำเกี่ยวกับธุรกิจขนส่งมีเงินสดอยู่ในมือมากกว่า 1 พันล้านบาท

'ผมเป็นนักลงทุนย่อมเข้าใจว่า นักลงทุนต้องการเห็นข้อมูลอะไร ฉะนั้นการเปิดมูลค่าที่แท้จริงจะทำให้ราคาหุ้นสะท้อนพื้นฐานมากขึ้น'

เมื่อเข้าก้าวสู่ปีที่สอง (ปี 2556) เราได้ขายหุ้นเพิ่มทุน 'เกือบหมื่นล้านบาท' เพื่อนำเงินไปขยายกิจการ ขณะเดียวกันยังได้เพิ่มทุนในบริษัทลูก โดยเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนครั้งนั้น ประมาณ 4 พันล้านบาท เราได้นำไปขยายงานให้กับบมจ.เมอร์เมด มาริไทม์ ผู้บริการวิศวกรรมใต้ทะเลและบริการเรือขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่ง

ส่วนปี 2557 ผลประกอบการของเรากลับมา 'เทิร์นอะราวด์' อีกครั้ง ด้วยการพลิกมี 'กำไรสุทธิพันล้าน' หลังบริษัทขาดทุนติดต่อกันสองปีซ้อน (ปี 2555-2556 บริษัทขาดทุน 4.61 พันล้านบาท และ 5.08 พันล้านบาท ตามลำดับ)

ชายหนุ่ม ดีกรีปริญญาโท เศรษฐศาสตร์การเงิน มหาวิทยาลัยบอสตัน ทิ้งท้ายว่า นักลงทุนที่ดีต้องทำตัวเป็น 'นักล่าสินทรัพย์ที่ดี อย่าทำตัวเป็นแมงเม่าที่บินเข้ากองไฟ' เหมือนในอดีตที่ผมเคยเป็นมา ส่วนตัวเล่นหุ้นมาตั้งแต่อายุ 16 ปี เพราะชอบดูหนังจีนที่เกี่ยวกับเจ้าพ่อตลาดหุ้น เมื่อได้ลองเข้าไปลงทุนจริงๆ ก็ได้พบกับคำว่า 'ขาดทุน' และ 'กำไร' ในคราวเดียวกัน

ในช่วงที่ขาดทุนหนัก ภาษาชาวบ้าน เรียกว่า 'หมดตัว' เพราะชอบทุ่มเงินหมดหน้าตักในหุ้นตัวเดียว ครั้งหนึ่งสมัยเรียนหนังสืออยู่ที่สหรัฐอเมริกา คุณพ่อเคยถามว่า ตกลงเอาเงินไปเล่นหุ้นหรือเอาไปเลี้ยงสาว ทำไมให้ไปเท่าไหร่ก็หมด (หัวเราะ)

เหตุผลที่ขาดทุนบ่อยๆในอดีต เป็นเพราะไม่ยอมศึกษาหาข้อมูล อาศัยเล่นหุ้นตามเพื่อน และตามกระแสข่าวต่างๆ เมื่อไม่มีความรู้ ผลที่ออกมา คือ 'เจ็บตัว' ฉะนั้นนักลงทุนรายใดที่บอกว่า ชอบหุ้น TTA แต่ติดเงื่อนไขภาพลักษณ์บางอย่างของ TTA ผมก็อยากให้มองพื้นฐานมากกว่าเรื่องอื่น

สำหรับพอร์ตลงทุนส่วนตัวได้แบ่งการลงทุนออกเป็นระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ที่ดิน และธุรกิจทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ แต่ขอไม่แจกแจงรายละเอียด เพราะทุกวันนี้ยังจำแทบไม่ได้ว่า ลงทุนอะไรไปแล้วบ้าง (หัวเราะ) รู้แต่ว่า ขาดทุนหุ้นหลายตัวเหมือนกัน

'การลงทุนในหุ้นที่เราไม่มีความรู้ เปรียบเหมือน 'ซื้อลอตเตอรี่' ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะซื้อแล้วต้องมานั่งลุ้นต่อว่า จะถูกหรือไม่ แบบนี้เขาเรียกว่า 'นักเสี่ยงโชค ไม่ใช่นักลงทุน' 'เฉลิมชัย' ปิดท้ายบทสนทนาด้วยคำคม