วอนเยาวชนร่วมอนุรักษ์การทำกลองมังคละ

วอนเยาวชนร่วมอนุรักษ์การทำกลองมังคละ

วอนเยาวชนที่สนใจในศิลปะพื้นบ้านของจังหวัดพิษณุโลก ร่วมอนุรักษ์การทำกลองมังคละ ก่อนเลือนหาย

สำหรับศิลปวัฒนธรรมที่ขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก คือ ดนตรีมังคละ ซึ่งถือเป็นดนตรีพื้นบ้านของจังหวัดพิษณุโลก ที่ปัจจุบันเริ่มได้รับความสนใจมีการสืบทอดกันโดย อาจารย์ประโยชน์ ลูกพลับ ประธานชมรมอุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่าจากข้อสันนิษฐานของนักวิชาการหลายท่านคิดกันว่า ดนตรีมังคละนี้น่าจะมาจากประเทศอินเดีย หรือศรีลังกา เพราะเนื่องจากดนตรีชนิดนี้ดูคล้ายกับเครื่องดนตรีที่ชาวลังกาใช้บรรเลงในพิธีทางศาสนา (พิธีพารห์ม) เป็นอย่างมาก ในสมัยกรุงสุโขทัยพบหลักฐานทางด้านของการเผยแพร่ศาสนาจากลังกาที่เข้ามาสู่ประเทศไทยว่า ได้มีการนำดนตรีชนิดหนึ่งเข้ามาเล่นบรรเลงในพิธีกรรมทางศาสนาด้วย โดยที่พิษณุโลกน่าจะเป็นที่เมืองนครชุม หรือนครไทยในปัจจุบัน ที่ได้รับอิทธิพลมาก่อนที่อื่น ที่นำมาละเล่นกันน่าจะตามงานพิธีต่างๆ

ดนตรีมังคละเกือบจะเลือนหายไปแล้วหากไม่มีคนสานต่อ จนนายทองอยู่ ลูกพับ หนึ่งในนักดนตรีมังคละในสมัยอดีต อดีตคนดีศรีพิษณุโลก บิดาของ อาจารย์ประโยชน์ ลูกพลับ ได้เพียรพยายามฝึกสอนการเล่นดนตรีชนิดนี้ให้กับครูหลายท่านในสถานศึกษาจนต่อมา ตนเองก็สานต่อเจตนารมณ์ของผู้เป็นพ่อ พยายามฝึกเล่นและสอนการละเล่นดนตรีมังคละจนปัจจุบันวงดนตรีมังคละได้มีคนรู้จักและนำไปเผยแพร่กันอย่างแพร่หลาย มีลูกศิษย์ที่มาเรียนวิชาดนตรีมังคละจากอาจารย์ประโยชน์มากมายจากทั่วประเทศ

สำหรับวงดนตรีมัคละจะมีเครื่องดนตรีอยู่ไม่มาก ประกอบด้วย ปี่ กลองโกร๊ก กลองยืน กลองหลอน ฆ้อง 3 ใบ ฉาบกรอ ฉาบใหญ่ ฉิ่ง และกรับ โดยอาจารย์ประโยชน์ กล่าวต่อว่า การสืบสานตำนานวงดนตรีมังคละนี้มีคนนิยมกันอย่างแพร่หลายจนไม่น่าเป็นห่วงแล้ว แต่ที่เป็นห่วงมากที่สุดในตอนนี้ก็คือคนทำกลอง

ทุกวันนี้อาจารย์ประโยชน์ทำกลองมังคละและกลองสองหน้าเพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ขนุนเพื่อนำมาทำกลอง การกลึง การขุดกลอง การขึงหนังกลอง เรียกได้ว่าทำเองทุกขั้นตอนเพียงคนเดียว โดยยังไม่มีใครมาสานต่อความรู้นี้ การทำกลองมังคละนั้นต้องใช้ไม้ที่ไม่อ่อนและไม่แข็งจนเกินไป อย่างไม้ขนุนนี้เป็นไม้ที่ดี แต่ ปัจจุบันไม้ขนุนเริ่มหายาก ต้องหาไม้ทดแทนก็มีเหมือนกันอย่างเช่น ไม้ก้ามปู ไม้มะม่วง เป็นต้น แต่การหาไม้มาทำกลองนั้นไม่ได้ยากเย็นอะไร ตรงกันข้ามกับการหาคนมาสืบสานการทำกลองนั้นยากกว่า จึงอยากเชิญชวนเยาวชนที่สนในศิลปะพื้นบ้านมาร่วมสืบสานการทำกลองเพื่อไม่ให้เลือนหาย แต่ต้องเข้าใจว่าการทำกลองนั้นต้องใช้ความอดทนมาก หากมีใครหรือหน่วยงานไหนพอช่วยได้ในเรื่องการส่งเสริมอาชีพก็อยากให้เข้ามาพูดคุยกัน หรือติดต่อไปได้ที่บ้านพัก ต.จอมทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เบอร์โทรศัพท์ 081-6056338