เส้นทางบู๊ 'พล.ต.อภิรัชต์' ประธานบอร์ดกองสลากฯ

เส้นทางบู๊ 'พล.ต.อภิรัชต์' ประธานบอร์ดกองสลากฯ

(รายงาน) เส้นทางบู๊ 'พล.ต.อภิรัชต์' กับภารกิจ 'สลากต้อง80'

ปัญหาโลกแตกว่า ทำไมถึงขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ราคา 80 บาทไม่ได้ กำลังจะได้คำตอบในงวดวันที่ 16 มิถุนายน เมื่อ พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น "ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล" กำลังเข้าเกียร์ห้าเดินหน้าเต็มกำลัง


การเข้ามานั่งเป็นประธานบอร์ดสลากของ พล.ต.อภิรัชต์ หรือที่เรียกกันว่า "เสธ.แดง" สะท้อนถึงความไว้วางใจอย่างสูงจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ที่ต้องการ "คนมีฝีมือ" และทำงานได้รวดเร็วฉับไวตามสเป็กของท่านผู้นำ


"ประสิทธิภาพของกฎหมายที่จะนำมาใช้ เมื่อเราจับคนที่ไม่ได้ขาย 80 บาท จะมีโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท โดยผมได้จัดชุดเฉพาะกิจจำนวน 10 ชุด ซึ่งผมคิดว่า 10 ชุด เพียงพอ ผมไม่ต้องการคนเยอะ คนน้อยแต่มีประสิทธิภาพ และทำงานให้ผมได้เร็ว"


พล.ต.อภิรัชต์ จึงตอบโจทย์ข้อนี้มากที่สุด เพราะพล.อ.ประยุทธ์ เห็นฝีไม้ลายมือกันมาตั้งแต่คราวที่ยึดอำนาจเมื่อปี 2549 ซึ่งในครั้งนั้น เสธ.แดง ยังเป็นนายทหารระดับคุมกำลังที่ราบ 11 (กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์) ขณะที่บิ๊กตู่เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นมือไม้สำคัญของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในช่วงนั้น


บทบาทเด่นชัดที่สุดของ เสธ.แดง คือ การนำทหารระดับ "ผู้บังคับกองพัน" ในกรุงเทพตบเท้ากันแสดงจุดยืนตำหนิพฤติกรรมของ พล.ต.ขัติยะ สวัสดิผล หรือ "เสธ.แดง" ที่พูดโจมตี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. เมื่อปี 2553 และต่อมายังให้สัมภาษณ์ท้าทายกันก่อนยุทธการกระชับพื้นที่ที่แยกศาลาแดงจนกลายเป็นศึก "พี่แดง-น้องแดง" ที่ดุเดือดเลือดพล่าน

อีกวีรกรรมของ พล.ต.อภิรัชต์ คือ สมัยที่เป็นผู้การฯราบ 11 ได้นำกำลังยึดสถานีดาวเทียมไทยคมที่ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี เมื่อปี 2553 ก่อนที่จะมีการปะทะกับมวลชน โดยตัวเขา และลูกน้องไม่กี่คนถูกรุกไล่ไปจนถึงชั้นดาดฟ้า แต่ก็ยังรักษาที่มั่นไว้ทั้งคืน จนรุ่งเช้าต้องมีชุดเจรจาให้ออกนอกพื้นที่ได้ ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายไปกว่านั้น


พล.ต.อภิรัชต์ ยังเคยนำนายทหารไปตบเท้าแสดงพลังหน้าสื่อใหญ่ฉบับหนึ่งเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ในสมัยที่ยังเป็น ผบ.ทบ. เมื่อปี 2556 จนเป็นที่ฮือฮามาแล้ว ทำให้จุดยืนในการปกป้องผู้บังคับบัญชา และปกป้องสถาบันเบื้องสูงของเขาโดดเด่นมานับแต่นั้น


วีรกรรมเมื่อปี 2553 ทำให้เขาถูกหมายหัวจากมวลชนฝั่งตรงข้าม และต้องแฉลบไปอยู่มทบ.11 จ.ฉะเชิงเทรา และมทบ.15 จ.เพชรบุรี ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ด้วยความไว้วางใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ พล.ต.อภิรัชต์ กลับมาผงาดคุมกำลังนับหมื่นนายในกรุงเทพในตำแหน่ง "ผบ.พล. 1 รอ" ในเดือนเมษายน 2557 ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจเพียง 1 เดือนเท่านั้น

ปลายปี 2557 พล.ต.อภิรัชต์ ได้รับการแต่งตั้งเป็น "รองแม่ทัพภาคที่ 1" ที่ได้รับการจับตาว่า จะก้าวขึ้นเป็น "แม่ทัพภาคที่ 1" และเข้าไลน์ "5 เสือทบ." ในอนาคต ส่วนจะไปถึง ผบ.ทบ. หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ต้องลุ้นกัน
ในยุครัฐบาลคสช. พล.ต.อภิรัชต์ ครั้งที่ยังเป็นผบ.พล. 1 รอ. ได้รับมอบภารกิจให้จัดระเบียบ "วินรถจักรยานยนต์รับจ้าง" ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่าเป็นภารกิจ "ปราบมาเฟีย" เช่นเดียวกับภารกิจในฐานะประธานบอร์ดสลากที่เจ้าตัวก็ชี้ว่า เครื่องมือทางกฎหมายที่มีอยู่ทั้งกฎหมายอาญา ประมวลรัษฎากร และมาตรา 44 นี่ก็ก็คือ "กฎหมายปราบมาเฟีย" นั่นเอง


"ทหารทุกคนได้รับการสั่งสอนมาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ว่าไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วจะมานั่งคิดว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่ต้องมองว่าเมื่อปัญหาเกิดแล้วเรามีแผน 2-3 รองรับปัญหานั้นเลย"


ด้วยบุคลิกที่ดูห้าว ดุดัน ฉับไว เป็นขาบู๊ตัวจริงจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกเอาไปเปรียบเทียบกับผู้เป็นพ่อ คือ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หรือ "บิ๊กจ๊อด" อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานรสช.เมื่อปี 34 ซึ่งนอกจากสไตล์การทำงานที่แทบจะถอดพิมพ์กันมาแล้ว เสื้อผ้า หน้า ผม ของทั้งคู่ยังแลคล้ายกันมากอีกด้วย


เขาเองก็ยอมรับว่า ยึดถือคุณพ่อเป็นต้นแบบ หรือเป็น "ไอดอล" ในการทำงานมาโดยตลอด โดยเฉพาะจุดยืนเรื่องความจงรักภักดี และการทำงานแบบตรงไปตรงมา


"ทุกวันนี้ผมก็พยายามใส่เสื้อผ้าคับๆ อยู่นะ"


เสธ.แดงพูดถึง "บิ๊กจ๊อด" ผู้เป็นพ่ออย่างอารมณ์ดี เมื่อถูกแซวว่า แม้แต่เสื้อผ้าก็ยังถอดแบบกันมา
วรรคทองของบิ๊กจ๊อดในอดีตคือ "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน" ซึ่งเขาก็ยึดถือมาเป็นคติประจำใจด้วยเช่นกัน และไม่ว่าจะเป็นเรื่องจงใจ หรือชะตาฟ้าลิขิต แต่สองพ่อลูก ซึ่งเป็นนายทหารผู้มากสีสันด้วยกันทั้งคู่ยังมีสิ่งที่เหมือนกันอีกเรื่องหนึ่ง คือ การเข้าไปมีส่วนสำคัญในการ "ยึดอำนาจ" โดยบิ๊กจ๊อดเป็นประธานรสช. ส่วนบิ๊กแดงเป็นผู้คุมกำลังคนสำคัญ


วันนี้เส้นทางของพล.ต.อภิรัชต์ กำลังก้าวตามรอยเท้าพ่อไปติดๆ แต่หนึ่งในบททดสอบสำคัญของเขา คือ การทำอย่างไรก็ให้สลากมีราคาที่ 80 บาทตามบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์


"บัดนี้เรามาเริ่มต้นกันใหม่ โดยที่ไม่มีต้นทุนแฝง คือ 70.40 บาท ก็คือ 70.40 บาท ใครจะมาบอกว่ารับมาจากสำนักงานสลากกินแบ่งก็ 75-80 บาทแล้ว จะไม่มีแล้ว เพราะเป็นตัวเลขได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ทุกคนจะต้องรับรู้" พล.อภิรัชต์ ย้ำเสียงดังฟังชัด เพื่อสื่อให้ผู้ค้าสลากทุกคนปฏิบัติตามนับแต่บัดนี้