จี้รัฐบาลทบทวนสร้างแลนด์มาร์คเจ้าพระยา

จี้รัฐบาลทบทวนสร้างแลนด์มาร์คเจ้าพระยา

เครือข่ายภาคปชช.จี้รัฐบาลทบทวนแผนสร้าง"แลนด์มาร์ค"เจ้าพระยา หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม-นิเวศวิทยา อุทกศาสตร์น้ำ-ภูมิทัศน์วัฒนธรรม

ที่ร้านคาเฟ่ บาย ไลบรารี่ เขตพญาไท ตัวแทนภาคีพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (พพพ.) ประกอบด้วย สถาบันการศึกษาด้านการผังเมือง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเครือข่ายสถาปนิก นักสิ่งแวดล้อม และชุมชน ได้แก่ มูลนิธิโลกสีเขียว สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมอิโคโมสไทย เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ธนบุรี และเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะที่ 1 ระยะทาง 14 กิโลเมตร  

ทั้งนี้ แถลงการณ์ระบุว่า ภาคีมีความยินดีที่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันให้ความสำคัญในการลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ รวมถึงต้องการให้โครงการดังกล่าวเป็นภูมิสัญลักษณ์แห่งใหม่ของประเทศ ภาคีฯขอแสดงความคัดค้านรูปแบบของโครงการ ดังนี้ 1.โครงสร้างมีขนาดกว้างถึง 19.50 เมตร และเป็นพื้นที่ดาดแข็งขนาดใหญ่ จะสร้างผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยา อุทกศาสตร์ของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งภูมิทัศน์วัฒนธรรมของพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างแน่นอน และไม่สามารถหวนคืนได้ 2.มีรูปแบบมาตรฐานเป็นรูปแบบเดียว ตลอดความยาวสองฝั่งในบริเวณที่จะทำการก่อสร้างทั้งหมด 14 กิโลเมตร ขาดความเชื่อมโยงต่อภูมิสัณฐานของตลิ่ง โครงข่ายการสัญจรของเมือง รวมทั้งรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ริมแม่น้ำที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะบางบริเวณเป็นวัดและชุมชนเก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์  

3.ขาดการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ และการวิเคราะห์งบประมาณอย่างเหมาะสม 4.ขาดกระบวนการการสำรวจความคิดเห็น การมีส่วนร่วมของประชาชน และการสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะ ที่จะนำไปสู่การสร้างข้อเสนอรูปแบบของโครงการ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ ทั้งในระดับพื้นที่โดยรอบและในระดับเมืองอย่างแท้จริง ที่จะสามารถสร้างความหวงแหน และเป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะริมน้ำของโครงการในระยะยาวได้ ทั้งนี้ ภาคีจึงขอเสนอให้รัฐบาลทบทวนรายละเอียดโครงการ โดยเฉพาะเรื่องรูปแบบอย่างละเอียดรอบคอบตามข้อเสนอภาคี รวมทั้งกำหนดกระบวนการการทำงาน ตลอดจนการศึกษาผลกระทบของโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในด้านต่างๆ อย่างชัดเจน ทั้งก่อนและระหว่างการทำแบบ

นางไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า มีความน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับโครงการหลายเรื่อง ซึ่งล่าสุดมีการอนุมัติงบประมาณ 14,006 ล้านบาทแล้ว โดยทางผังเมืองจุฬาฯ ได้ทำการวิเคราะห์ด้วยระบบสารสนเทศ พบว่าเส้นทางดังกล่าวผ่านการใช้ที่ดินอาคารจำนวนมาก ซึ่งผ่านชุมชนมากที่สุด ประมาณ 5.9 กิโลเมตร หรือ 29 ชุมชน ซึ่งล้วนเป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่ สถานที่ราชการ 8 แห่ง โรงเรียน 8 แห่ง ศาสนสถาน 8 แห่ง เป็นต้น ทั้งนี้ แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้มีความกว้างเท่ากันตลอดแนว จึงมีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีการพัฒนาก่อสร้างพื้นที่ขนาดเท่ากันตลอดแนว จึงขอให้รัฐบาลทบทวน

“ภาคีไม่ได้คัดค้านโครงการ มีความเห็นด้วยที่รัฐบาลจะพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ แต่คัดค้านรูปแบบโครงการ ที่ควรมีกระบวนการศึกษาอย่างรอบคอบ ไม่อยากให้มีการเร่งรีบทำจนเกินไป ซึ่งการออกแถลงการณ์ครั้งนี้ไม่ได้ต้องการส่งข้อเสนอเพียงแค่รัฐบาล แต่ต้องการให้สาธารณชนได้รับทราบเกี่ยวกับโครงการ และได้มีส่วนร่วมมากที่สุด โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณารูปแบบการใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย มีความเหมาะสมกับพื้นที่ชุมชนด้านใน ให้มีการออกแบบโครงการอย่างบูรณาการเชื่อมต่อสัณฐานตลิ่งในแต่ละพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องมีขนาดเดียวกันตลอดแนว เช่น หากเป็นในส่วนของพื้นที่ชุมชน ควรปรับเป็นทางเดินหรือสวนสาธารณะขนาดเล็ก หรือหากผ่านสถานที่ราชการหรือศาสนสถาน ควรปรับรูปแบบพื้นที่เพื่อให้ใช้ประโยชน์ ส่งเสริมสถานที่ให้เหมาะสม” นางไขศรี กล่าว  

ด้านนายวรชัย พิลาสรมย์ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้กระทบเพียงแค่ผู้ที่รุกล้ำพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งในอนาคตหากมีการพัฒนาพื้นที่แล้ว แน่นอนว่าพื้นที่บริเวณโดยรอบจะมีราคาสูง และชุมชนต่างๆ อาจจะไม่สามารถอยู่ได้ เนื่องจากต้องมีกลุ่มนายทุนเข้ามากว้านซื้อพื้นที่ และวิถีชุมชนริมน้ำจะหายไป จึงต้องการให้รัฐบาลให้ข้อมูลโครงการแก่ประชาชนมากกว่านี้ เนื่องจากขณะนี้หลายคนก็ยังไม่ทราบรายละเอียดโครงการรวมทั้งผลดีผลเสีย และควรมีการออกแบบพื้นที่ตามความเหมาะสม ไม่ควรเร่งรีบทำ