สุภาพบุรุษแห่งซานลีอูร์ฟา

สุภาพบุรุษแห่งซานลีอูร์ฟา

ซานลีอูร์ฟา อยู่ใกล้กับประเทศซีเรีย มีความสำคัญในอดีตคืออยู่ในเส้นทางแลกเปลี่ยนสินค้าของกองคาราวาน ตามเส้นทางสายไหม

“พี่มาจากที่ไหนเหรอ?”


“ไทยแลนด์น่ะ รู้จักเปล่า?”


“อ๋อ รู้ๆ ที่อยู่ติดกับจีน”


“นั่นมันไต้หวัน”


“พี่พูดภาษาจีนแมนดารินใช่ไหมละ”


“นั่นมันไต้หวัน”


“ประเทศพี่คนเล่นเกมกันเก่งมากเลยนะ เห็นแข่งเกมออนไลน์ทีไร ประเทศพี่ชนะตลอดเลย”


“เอิ่ม..ไม่แน่ใจ พี่เล่นเกมไม่เป็น แต่นั่นก็น่าจะไต้หวันนะ”


ผมยืนตอบคำถามวัยรุ่นชาวตุรกีนับสิบ ที่ยืนรายล้อมผมอยู่ที่จุดพักรถบัส ครึ่งทางก่อนจะถึงเมืองซานลีอูร์ฟา มหานครฝั่งตะวันออกของตุรกี เราออกมาไกลโข มากกว่าโปรแกรมท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ที่มักจะจบลงที่คัปปาโดเคีย จึงไม่แปลกที่ผู้ร่วมทางบนรถจะพากันสนอกสนใจผมกับหลี่ถิงเป็นพิเศษ สำหรับพวกเขา นี่อาจเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นคนจากเอเชียตะวันออกแบบตัวเป็นๆ ทุกครั้งที่ถึงจุดพักรถ บรรดาวัยรุ่น จึงกรูกันเข้ามาพูดคุยกับพวกเรา และขอถ่ายรูปด้วยกันอย่างไม่ขาดสาย (รู้สึกเหมือนเป็นซุป’ตาร์นิดๆ)


ซานลีอูร์ฟา อยู่ใกล้กับประเทศซีเรีย มีความสำคัญในอดีตคืออยู่ในเส้นทางแลกเปลี่ยนสินค้าของกองคาราวาน ตามเส้นทางสายไหม อีกทั้งยังเป็นเมืองบ้านเกิดของนบีอิบราฮิมตามความเชื่อของชาวมุสลิมด้วย แม้ปัจจุบันจะแปรสภาพเป็นเมืองทันสมัยที่คราคร่ำไปด้วยผู้คน แต่ก็ยังสามารถสัมผัสได้ถึงความเป็นอนุรักษ์นิยม ผ้าคลุมผมสำหรับหญิงสาว ที่มีหลากสีสันในเมืองอื่น หาดูได้น้อยในเมืองนี้ เพราะส่วนใหญ่นิยมแต่งกายด้วยสีดำเป็นหลัก


ไม่ว่าเราจะเดินไปทางไหน ก็มีแต่คนจ้องตาแทบไม่กระพริบ ด้วยนักท่องเที่ยวน้อยคนนักที่จะเดินทางมาถึงเมืองนี้ ขณะที่กำลังรอข้ามถนน มีรถคันนึงถึงกับถอย แล้วลดกระจกชะโงกหน้าออกมาดูพวกเราเลยทีเดียว แม้จะรู้สึกเกร็งอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเมืองที่มีมนต์สเน่ห์น่าหลงใหล แต่เพื่อความสบายใจ เราจึงกลับไปเปลี่ยนชุดเป็นโทนสีมืดบ้าง และสวมหมวกเพิ่มความกลมกลืน แม้จะไม่มาก แต่ก็ยังดีกว่าตกเป็นเป้าสายตาตอดเวลา


ซานลีอูร์ฟามีสระน้ำขนาดใหญ่เชื่อมต่อกันเป็นทางยาว ตามตำนานเล่าว่านบีอิบราฮิมได้ทำลายรูปเคารพต่างๆ ของชาวอัสซีเรียน เพราะขัดกับความเชื่อของศาสนาอิสลามที่มีพระเจ้าสูงสุดเพียงองค์เดียว ทำให้กษัตริย์ของชาวอัสซีเรียนโกรธ และสั่งให้เผานบีอิบราฮิมทั้งเป็น แต่พระอัลเลาะห์ได้เมตตาโดยเปลี่ยนไฟให้กลายเป็นน้ำ และเปลี่ยนถ่านให้กลายเป็นปลา จึงเป็นที่มาของ Balikli Gol หรือ สระน้ำแห่งอิบราฮิม ที่ชาวเมือง รวมถึงชาวตุรกีจากที่ต่างๆนิยมมาพักผ่อนหย่อนใจ


บนยอดเขากลางเมืองนั้น มีพิพิธภัณฑ์ที่ในอดีตเชื่อว่าเป็นปราสาทของกษัตริย์อัสซีเรียน น่าเสียดายเพราะวันที่เราไปถึงเป็นวันจันทร์ที่พิพิธภัณฑ์ปิดให้บริการ...ขณะกำลังเดินเศร้าเพราะอดเข้าชมความเป็นมาของเมืองให้มากกว่านี้ เราก็ได้เห็นคุณลุงท่านหนึ่ง เดินสวนทางลงจากเขา ด้วยความสงสัยเราจึงเดินตามคุณลุงท่านนั้น(แบบห่างๆ)ไปเรื่อยๆ ซักระยะหนึ่ง เราก็หลุดมาอยู่บนด้านหลังของเขา ที่มองเห็นวิวของเมืองทั้งเมืองได้ในมุมที่สวยจนต้องอ้าปากค้าง คุณลุงพาเรามาเจอของดีเข้าแล้ว


เมื่อถ่ายรูปเรียบร้อย คุณลุงก็เดินเข้ามาทักทายด้วยภาษาตุรกีล้วน อัศจรรย์ที่เราสื่อสารกันเข้าใจได้ คุณลุงท่านนี้ชื่ออูร์เมห์ บอก(ประมาณ)ว่า ขาลงจากเขาไม่ต้องย้อนทางเดิม แต่เดินตามทางวนไปเรื่อยๆ ก็จะเจอทางลงอีกทางเลย เราจึงเดินไปพร้อมกันกับคุณลุง แต่เมื่อเดินไปได้ไม่ถึง 500 เมตร คุณลุงก็บอก(ประมาณเอาอีกแล้ว)ว่าบ้านเขาอยู่ตรงนี้ แวะเข้าไปดื่มชาหน่อยไหม เราก็เลยเลยตามเลย..ลุงตามลุง


พอเข้ามาในบ้าน คุณลุงอูร์เมห์ก็แนะนำภรรยาของเขาให้รู้จัก หลังจากภรรยาแกยกน้ำชามาให้ แกก็เปิดทีวีให้ดู และขอตัวไปละหมาด ผมแอบอ่านหนังสือแนะนำวัฒนธรรมตุรกีระหว่างอยู่บนเครื่องบินมาว่า หากชาวตุรกีชวนดื่มชานั้น จะต้องดื่มอย่างน้อยสามแก้ว เพื่อไม่เป็นการเสียมารยาท ด้วยความเป็นอาคันตุกะที่ดี เราจึงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดด้วยการดื่มไปสองเหยือกถ้วน


เมื่อชาหมด ก็ได้เวลาอาหารเย็นพอดี ภรรยาของคุณลุงก็ไม่รอช้า จัดแจงปูผ้ากับพื้น และยกอาหารมาให้เราได้รับประทานร่วมกัน


ไม่น่าเชื่อว่าคนที่พูดกันคนละภาษาอย่างสิ้นเชิง จะสามารถนั่งคุย และหัวเราะร่วมกันได้อย่างสนุกสนานถึงเพียงนี้ ต่อไปนี้คือข้อมูลเชิงลึกที่ผมได้จากบทสนทนากับคุณลุงอูร์เมห์:


คุณลุงอายุ 70 ปี ตอนนี้เกษียณแล้วอยู่กับบ้านเฉยๆ ที่เจอพวกเราเพราะออกไปเดินเล่นรอบเขา เป็นกิจวัตรที่ทำทุกวัน มีลูก 10 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 6 คน ลูกชายคนนึงทำงานอยู่ที่โรงแรมในเมืองอัลทาลยาที่เราผ่านมาแล้ว ส่วนลูกสาวอีกคนแต่งงานกับชาวเนเธอร์แลนด์ และย้ายไปอยู่ที่อิสตันบุลกับสามี มีลูกแล้ว 1 คน


คุยกันเป็นเรื่องเป็นราวได้ขนาดนี้ด้วยภาษามือล้วนๆ อาจจะผิดบ้าง เพี้ยนบ้าง แต่เป็นช่วงเวลาที่ผมรู้สึกสนุกจากใจจริงอีกครั้งหนึ่งในชีวิต จนแอบคิดว่าอยากจะค้างบ้านแกไปให้รู้แล้วรู้รอด แต่ดูจากท่าทางของคุณลุงเริ่มเห็นได้ว่ามีอาการเพลีย และอยากพักผ่อน เราสองคนจึงคุยกันว่าจะขอที่อยู่ของเขาไว้ แล้วจะส่งจดหมาย และของฝากมาให้


ขากลับคุณลุงอูร์เมห์ยังไม่วาย ห่อข้าวให้กลับไปกิน และเดินออกมาส่งจนถึงทางลงเขา เรากอดกันแน่น น้ำตาลูกผู้ชายปริ่มเบ้าด้วยซึ้งในน้ำใจของคุณลุง หลังจากโบกมือลา ก็คิดในใจแน่วแน่ว่าซักวันต้องกลับมาเยี่ยมคุณลุงอีกให้ได้


ห้านาทีถัดมาหลังจากเริ่มเดินลงจากเขา หลี่ถิงก็ส่งเสียงแปลกประหลาดออกมา


“เป็นอะไรเหรอ?” ผมถาม


“กระดาษที่คุณลุงอูร์เมห์จดที่อยู่มาให้หายไปไหนไม่รู้” เธอตอบ


“...”


เรารีบวิ่งย้อนกลับทางเดิม เผื่อจะทันคุณลุงอูร์เมห์ หวังว่าจะให้แกจดที่อยู่ใหม่ให้อีกครั้ง แต่แกหายลับตาไปเสียแล้ว ที่หนักกว่านั้นคือ ทั้งผมและหลี่ถิงเป็นมนุษย์หลงทิศขั้นร้ายแรง เรียกว่าไม่เคยจำทางกันได้ เดินผ่านแล้วคือผ่านเลย


เราสุ่มเดินเข้าซอยนั้น ออกซอยนี้ และเปิดรูปคุณลุงที่ถ่ายไว้ให้ชาวบ้านแถวนั้นดู ชาวบ้านก็ช่วยถามต่อๆ กัน เมื่อรู้ตัวอีกที มหกรรมค้นหาบ้านคุณลุงอูร์เมห์ก็บังเกิด ชาวบ้านชาวช่อง ลูกเด็กเล็กแดง มากกว่าสิบชีวิต วิ่งกันจ้าละหวั่นชุมชน เรารู้สึกผิดต่อทุกคนที่ทำให้วุ่นวาย แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่สนุกดี


ในที่สุด ชาวบ้านทุกคนก็พาเราหาบ้านคุณลุงอูร์เมห์จนเจอ เราได้ที่อยู่ของแกอีกครั้ง พร้อมกับชาอีกหนึ่งเหยือก เรานั่งขำกันไม่หยุด ทั้งที่เพิ่งลากันอย่างซาบซึ้งเมื่อครึ่งชั่วโมงก่อน แต่ตอนนี้ได้เจอกันอีกแล้ว คุณลุงชวนให้ค้างที่บ้านแกเลย แต่เราไม่อยากรบกวน ประกอบกับจองโรงแรมไว้แล้ว จึงขอรับไว้แต่เพียงน้ำใจ และบอกลาคุณลุงอูห์เมห์..สุภาพบุรุษแห่งเขาซานลีอูร์ฟา