ค้างสักคืนที่ ‘กำแพงเพชร’

ค้างสักคืนที่ ‘กำแพงเพชร’

กำแพงเพชร จังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีเศรษฐกิจที่ดีอีกจังหวัดหนึ่งของภาคเหนือตอนล่าง

แต่เมื่อเวลาผ่านไป การตัดถนนหนทางที่เพิ่มมากขึ้นเกิดพื้นที่แห่งใหม่ๆ ทำให้วันนี้กำแพงเพชร โดยเฉพาะที่อำเภอนครชุม และแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณสถานอย่าง อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อาจดูเงียบเหงาไปบ้าง


ความยิ่งใหญ่ของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ไม่ใช่แค่ความสมบูรณ์ของโบราณสถาน โบราณวัตถุ ความร่มรื่นและความยิ่งใหญ่ของพื้นที่ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น่าภูมิใจคือสิ่งปลูกสร้างในอุทยานแห่งนี้เกือบทั้งหมดทำจากศิลาแลง เป็นอัตลักษณ์และมนต์ขลังที่โดดเด่นสวยงาม


หากจะเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรให้สนุกแถมยังเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน แนะนำให้เริ่มจากการแวะไปที่ศูนย์ข้อมูลและพิพิธภัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าอุทยานเพื่อศึกษาข้อมูลในเบื้องต้น ก่อนมานั่นรถรางเที่ยวชมของจริง


ขอบอกว่าพิพิธภัณฑ์ของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จัดแต่งได้สวยงามมีระบบบรรยายแบบมัลติเดียให้ชมเพลินตาเพลินใจแถมได้ความรู้เต็มเปี่ยม จากนั้นค่อยออกมานั่งรถรางเที่ยวชมให้ทั่วอุทยาน โดยเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ซึ่งรับบทเป็นสารถีขับรถราง จะนำนักท่องเที่ยวไปจอดยังจุดสำคัญต่างๆ เช่น วัดช้างรอบ วัดพระธาตุ วัดพระแก้ว วัดพระสี่อิริยาบถ วัดสิงห์ วัดอาวาสใหญ่ เป็นต้น ระหว่างทางยังชี้ชวนให้ชมวัดและโบราณสถานที่อยู่เรียงรายตลอดเส้นทาง


เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ เล่าว่า ใต้พื้นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ ในอดีตอุดมสมบูรณ์ไปด้วยศิลาแลง ซึ่งถือเป็นวัสดุสำคัญที่นำมาใช้สร้างอุทยานแห่งนี้ ความอลังการณ์ของอุทยานเห็นได้ตั้งแต่กำแพงเมืองที่ทำจากศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมคางหมู รวมระยะทางกว่า 2.5 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ภายในกำแพงมีวัดมากกว่า 200 วัด แต่ละวัดถูกตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ตามจุดที่ขุดค้นพบ เนื่องจากไม่มีชื่อเดิมบันทึกไว้ แต่ละวัดล้วนถูกสร้างขึ้นด้วยศิลาแลงเกือบทั้งหมด


อย่างที่ วัดพระนอน สิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดใช้ศิลาแลงแทบทั้งสิ้น หน้าวัดมีบ่อน้ำ บ่อศิลาแลงขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่า น่าจะนำศิลาแลงจากบ่อนี้ขึ้นมาสร้างวัด นอกจากนั้นยังมีห้องน้ำและศาลาพักที่ทำจากศิลาแลง ภายในวัดตอนหน้าวัดเป็นฐานอุโบสถเสาแปดเหลี่ยม ถัดไปเป็นวิหารซึ่งเดิมประดิษฐานพระนอนเป็นประธาน เสาวิหารใช้ศิลาแรงแท่งเดียวตลอดที่มีขนาดสูงใหญ่ ปักเรียงรายอยู่ภายในอาคาร ผนังวิหารเรียงศิลาแลงเป็นผนังช่องลูกกรงหรือช่องลม ถัดจากวิหารไปทางด้านหลังเป็นเจดีย์ประธานทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยม นอกจากนั้นยังมีสิ่งก่อสร้างอีกจำนวนมากมายในวัดนี้


วัดพระสี่อิริยาบถ อยู่ถัดจากวัดพระนอนไปทางทิศเหนือราว 100 เมตร หน้าวัดมีบ่อน้ำ ห้องน้ำ และศาลาพักเช่นเดียวกับวัดพระนอน ตัววิหารสร้างบนฐานทักษิณขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ตอนหน้าวัด ด้านหลังวิหารสร้างเป็นมณฑป ทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประธานของวัด ลักษณะมณฑปแบบจตุรมุข กึ่งกลางทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยมรับส่วนยอดหลังคา จากนั้นทำเป็นมุมยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ผนังแต่ละด้านของแท่งสี่เหลี่ยมก่อให้เว้าเข้าไปเป็นสี่มุมแต่ละมุมประดิษฐานพระพุทธรูป เดิน นั่ง ยืน นอน ปัจจุบันเหลือพระยืนขนาดใหญ่ทางด้านทิศใต้ พระพักตร์เป็นลักษณะศิลปะสุโขทัยหมวดกำแพงเพชร คือ พระนลาฏกว้าง พระหนุเสี้ยม


ออกจากอุทยานประวัติศาสตร์ออกไปราว 5 กิโลเมตร แวะเที่ยว ตลาดนครชุม เมืองเลียบแม่น้ำปิง มีลำคลองสวนหมากใช้สัญจรในอดีต ซึ่งปัจจุบันองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ร่วมกับเทศบาลนครชุม และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนนครชุม จัดการตลาดย้อนยุคนครชุมให้ก้าวสู่การเป็นตลาดโลว์คาร์บอนแห่งแรกในประเทศไทย ด้วยการกินของพื้นถิ่น ใส่ในภาชนะที่ย่อยสลายได้ และมีการคัดแยกขยะใส่ลงในถังที่แยกประเภท


ตลาดย้อนยุคนครชุม ทางเทศบาลจะจัดให้มีขึ้นทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์แรกของเดือน เปิดตลาดตั้งแต่ประมาณ 17.00 น. เป็นต้นไปถึงกลางคืน ซึ่งนอกจากจะมีร้านค้าชาวบ้านที่ออกมาขายของกินอร่อยๆ ให้เลือกซื้อหา ยังมีเวทีแสดงดนตรีสลับกรแสดงพื้นบ้าน คนมาเที่ยวได้ทั้งอิ่มท้องและอิ่มสุขจากเสียงดนตรี


อาหารประจำถิ่นที่เมื่อมาเยือนนครชุมแล้วต้องหารับประทานให้ได้ จะมีขายในตลาดย้อนยุคนครชุมแห่งนี้ คือ แกงถั่วมะแฮะ น้ำแกงคล้ายแกงส้มกินคู่กับข้าวเกรียบงา ไส้กรอกถั่ว ขนมจีบสด ขนมข้าวตอกตัด และเมี่ยงมะพร้าวคั่ว ความหลากหลายของอาหารการกิน มาจากวัฒนธรรมการกินอาหารที่แตกต่างกันไป เนื่องจากนครชุมในอดีต เป็นเมืองค้าขาย โดยเฉพาะค้าไม้และของจำเป็นอื่นๆ จึงมีทั้งพ่อค้าและแรงงาน จากต่างถิ่นหลากหลายชนเผ่าทั้ง ไทย จีน กะเหรี่ยง มอญ ลาว จึงทำให้มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย รวมถึงวัฒนธรรมการกิน ที่ติดมาถึงปัจจุบัน


ช่วงรอตลาดเปิด แนะนำให้แวะไปชิมบะหมี่เส้นทำเองในตลาดนครชุม ก่อนจะไปสักการะหลวงพ่ออุโมงค์ที่วัดสว่างอารมณ์ เดินต่อไปอีกหน่อยจะเจอบ้านห้าง ร.5 หรือบ้านพะโป้ อาคารไม้สัก 2 ชั้น รูปแบบไทยผสมตะวันตก


พะโป้ คือ คหบดีชาวพม่า มีอาชีพค้าไม้ที่บริเวณคลองสวนหมากนครชุม ในสมัยรัชการที่ 5 ซึ่งในวรรณกรรมเรื่องชั่วฟ้าดินสลาย ของครูมาลัย ชูพินิจ ยังมีชื่อพะโป้ เป็นหนึ่งในตัวละครที่มีบทบาทสำคัญ


ในอดีตนครชุม เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าขายที่ใหญ่ระดับต้นๆของภาคเหนือตอนล่าง เห็นได้จากร่อยรอยที่เหลืออยู่ในตลาดนครชุมแห่งนี้ ทั้งเรื่องการค้าขายไม้สัก การมีโรงหนังในตลาดนครชุม การมานครชุมและ กำแพงเพชร ครั้งนี้ รู้สึกคุ้มค่าได้ทั้งความสนุกและความรู้


จากนี้ไปกำแพงเพชรจะไม่ใช่เมืองผ่านอีกต่อไป แต่จะเป็นเมืองที่ควรแวะพักสักหนึ่งคืนเพื่อเรียนรู้หลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ สนใจติดต่อสอบถามกิจกรรมการท่องเที่ยวได้ที่ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนนครชุม โทร. 08 9640 5287