'อนันดา'จับมือ'มิตซุย'พัฒนาอสังหาฯแนวรถไฟฟ้า

'อนันดา'จับมือ'มิตซุย'พัฒนาอสังหาฯแนวรถไฟฟ้า

"อนันดา" จับมือ "มิตซุย" พัฒนาอสังหาฯแนวรถไฟฟ้า เตรียมผุด 5 โครงการ มูลค่า 19,000 ล้านบาท มั่นใจการลงทุนภาครัฐหนุน

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 58 บริษัทได้ทำข้อตกลงร่วมทุนกับบริษัท มิตซุย ฟูโดซัง เรสซิเด็นเชียล จำกัด (เอ็มเอฟอาร์) เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวรถไฟฟ้าในไทย เพิ่มอีก 5 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 19,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4,200 ยูนิต ภายหลังจากปี 55 ที่ผ่านมา ผลจากการร่วมทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของทั้ง 2 บริษัท ภายใต้ชื่อบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย จำกัด พัฒนาคอนโดมิเนียม 4 โครงการ ระยะเวลา 2 ปี มูลค่ารวม 26,000 ล้านบาท ได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มลูกค้า และนักลงทุนจนเกินความคาดหมาย

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงชะลอตัว ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่ติดรถไฟฟ้า เนื่องจากมีทำเลดี และตอบสนองการใช้ชีวิตของคนเมือง สะท้อนชัดเจนยอดขายของบริษัทไตรมาสแรกของปีนี้ ที่สูงกว่า 10,000 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าหมายกว่า 300% โดยจำนวนนี้เป็นยอดขายคอนโดกว่า 8,500 ล้านบาท ส่วนยอดจองแล้วไม่ทำสัญญา ยังคงอยู่ที่ประมาณ 5% ถือเป็นระดับปกติ

อย่างไรก็ตาม การลงทุนรถไฟฟ้าของรัฐบาลที่มีความคืบหน้ามากขึ้นนั้น ล่าสุดมี 67 สถานี ส่งผลให้ราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ราคาเริ่มทรงตัว ถือเป็นโอกาสของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จะเข้าไปลงทุน ขณะที่การลงทุนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง กับญี่ปุ่น และรถไฟทางคู่ กับจีน คงต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้ง ก่อนตัดสินใจลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามหัวเมืองที่รถไฟไปถึง

สำหรับการลงทุน ผ่าน 5 โครงการ อสังหาริมทรัพย์แนวรถไฟฟ้าในประเทศไทย ในครั้งนี้ ประกอบด้วย โครงการคิว ชิดลม-เพชรบุรี ใกล้สถานีบีทีเอสชิดลม เปิดขายช่วงไตรมาส 3 และยังเตรียมเปิดอีก 4 โครงการ 4 ทำเล ย่านสีลม บางนา บางซื่อ ช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ และย่านท่าพระ ช่วงไตรมาสแรก ปี 59

นายอะกิฮิโกะ ฟูนาโอกะ กรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท มิตซุยฯ กล่าวว่า ประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เป็นตลาดที่น่าลงทุนมากที่สุด เนื่องจากเป็นเมืองที่กำลังขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบกับการเมืองที่สงบ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและผู้บริโภค รวมถึงแรงกระตุ้นจากภาครัฐของไทย ที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและแผนขยายการลงทุนรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายต่าง ๆ จาก 67 สถานี เป็น 266 สถานี ในปี 72 ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยรอบสถานีใหม่เกิดเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่ปี 58-60 มิตซุยฯ มีงบลงทุนนอกประเทศ กว่า 155,000 ล้านบาท