Socialgiver ‘ช็อป’ เท่ากับ ‘ช่วย’

 Socialgiver ‘ช็อป’ เท่ากับ ‘ช่วย’

จะดีแค่ไหน ถ้าการท่องเที่ยว และใช้ไลฟ์สไตล์ฟินๆ ของพวกเรานับจากนี้ จะช่วยสังคมไปด้วยได้ ติดตามคำตอบได้ที่ “Socialgiver”

“พวกเราอยากทำให้การช่วยเหลือสังคมทำได้ง่าย พอๆ กับการซื้อดีล ใน ensogo”

หนึ่งในบทสนทนาเมื่อ 2 ปี ก่อน ระหว่างการพูดคุยกับ “บูม-อาชว์ วงศ์จินดาเวศย์” ผู้ก่อตั้ง “Mysocialmotion” ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) จากโครงการ UnLtd Thailand

วันนี้เราเลยได้เห็น “Socialgiver” (โซเชียลกิฟเวอร์) ผลิตผลจาก Mysocialmotion เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยการนำของบูม และ “อลิส-อลิสา นภาทิวาอำนวย” ผู้ร่วมก่อตั้ง Socialgiver พื้นที่ออนไลน์ที่ใช้พลังของ Social Network มาเชื่อมต่อ ผู้คน โครงการเพื่อสังคม และธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการ อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร และกิจกรรมคูลๆ

เพื่อเปลี่ยนโลกการทำความดีให้เป็นเรื่องกล้วยๆ ด้วยแนวคิด “ช็อป” เท่ากับ “ช่วย”

“Socialgiver” ไม่ได้เกิดจากการเห็นโอกาสทางธุรกิจ แต่เริ่มจากมองเห็น “ปัญหา” ที่เกิดขึ้นมากมายในสังคม ซึ่งหนึ่งในหนทางแก้ไข คือการสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ทว่าคนทั่วไปกลับมีแรงสนับสนุนในด้านนี้น้อยมาก

“ปกติคนเราบริจาคเงินเพื่อสังคมประมาณ 0.36% ของรายได้ทั้งหมด แต่ใช้เงินส่วนมากถึงกว่า 70% ไปกับการใช้ไลฟ์สไตล์”

บูมสะท้อนเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งบีบเค้นให้เงินสนับสนุนคนทำงานภาคสังคมต้องอ่อนบางลงไปด้วย มาบวกซ้ำกับเงินบริจาคจากต่างประเทศที่เริ่มเข้ามาประเทศไทยน้อยลง เลยดับฝันหลายโครงการให้ต้องปิดตัวไป

โจทย์ของพวกเขาคือ ต้องหา “วิธีใหม่” ที่จะทำให้ภาคสังคมสามารถยั่งยืนด้วยตัวเองให้ได้

“เรามองไปที่กลุ่ม Hospitality (การท่องเที่ยวและบริการ) ซึ่งพบว่าที่ผ่านมา Capacity ยังถูกใช้ไปเพียงประมาณ 55% นั่นหมายถึง 45% สูญหายไปโดยไม่เกิดประโยชน์ต่อใครเลย ซึ่งทั้งหมดนี้มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 6 แสนล้านบาทต่อปี หรือวันละ 1.6 พันล้านบาท! นับเป็นมูลค่ามหาศาลมากที่สามารถนำกลับมาช่วยสังคมได้”

พวกเขาเลยสร้างโมเดล Socialgiver ขึ้น เพื่อตอบโจทย์ทั้ง ผู้คน โครงการเพื่อสังคม และธุรกิจ

เริ่มจาก “ประชาชน” คนชอบเที่ยว ที่สามารถเลือกซื้อบริการ โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร และกิจกรรมต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ Socialgiver.com ซื้อที่อื่นอาจได้แค่บริการและส่วนลด แต่ซื้อจากเว็บนี้ยังเลือกได้ว่า อยากจะสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมใด (ปัจจุบันมีอยู่ 10 โครงการ) เพื่อที่เงินส่วนหนึ่งที่ใช้ไปกับการท่องเที่ยวจะไม่สูญเปล่า แต่ยังได้ช่วยสังคมด้วย

สิ่งที่พวกเขาอยากให้เกิด คือ คนที่ใช้ชีวิตอย่างมีจิตสำนึกเพื่อสังคม (Socially conscious lifestyle) ในท้ายที่สุด

“โครงการเพื่อสังคม” จะมีช่องทางใหม่ในการระดมทุน และสามารถดึงดูดผู้คนให้เข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น

ขณะ “ภาคธุรกิจ” จากที่ต้องกระเบียดกระเสียรงบมาทำโครงการ CSR แถมใช้แล้วก็หมดไป ไม่ค่อยได้อะไรคืนกลับธุรกิจ ก็สามารถใช้ Capacity ที่ยังเหลือว่างอยู่ของตัวเอง ซึ่งเคยสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ มาสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์กับลูกค้าได้ พร้อมสร้างคุณค่าร่วม และทำ CSR ไปในเวลาเดียวกันด้วย

“โมเดลนี้เราไม่จำเป็นต้องใช้เงิน แต่สามารถใช้สิ่งที่เรามีอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งเคยสูญเสียประโยชน์ไป นำมาใช้ประโยชน์ในเชิงสังคมได้ ขณะเดียวกันยังได้เรื่องแบรนดิ้งกลับมาด้วย”

“รุจิรพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองประธานกรรมการบริหาร สนามพัฒนากอล์ฟคลับ แอนด์ รีสอร์ท บอกผลประโยชน์หลายเด้งของการเป็น 1 ใน 50 บริษัท ที่ร่วมกับ Socialgiver

เช่นเดียวกับ “วิเชียร พงศธร” ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ที่บอกเราว่า คนส่วนใหญ่มักทำตัวเป็น Social “taker” มากกว่า Social “giver” จึงสร้างปัญหาสังคมไว้มากมาย ซึ่งการจะแก้ปัญหาได้นั้นต้องอาศัยพลังของทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ที่ต้องเปลี่ยนความคิดจากผู้ที่ใช้ประโยชน์จากสังคม มาเป็นผู้ให้ ผู้แบ่งปันสู่สังคมด้วย

“Socialgiver” คือไอเดียของคนรุ่นใหม่ที่อยากแก้ปัญหาสังคมด้วยโมเดลกิจการเพื่อสังคม ซึ่ง “ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้นิยามว่า เป็น “นวัตกรรม” ของกิจการเพื่อสังคม

“Socialgiver ทำธุรกิจ ผู้ที่มาใช้บริการก็กำลังซื้อบริการทางธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ได้ทำประโยชน์ต่อสังคมไปด้วย นับเป็นนวัตกรรมของกิจการเพื่อสังคมที่ดีมาก และกิจการแบบนี้หากมีมากขึ้น ปัญหาสังคมที่มีอยู่ก็จะเบาบางลงได้” เขาบอก

Socialgiver เป็นโครงการในไทย แต่กำลังร้อนแรงมากในเวทีโลก เมื่อพวกเขาสามารถฟันฝ่ากว่าพันโครงการมาเป็น 1 ใน 16 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในเวที The Venture 2015 การประกวดสุดยอดธุรกิจเพื่อสังคมระดับโลก ซึ่งจะจัดขึ้นที่ ซิลิคอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริกา ในเดือนกรกฎาคมนี้ และรอให้คนไทยร่วมโหวตให้กำลังใจอยู่ที่ theventure.com

เวทีนี้ใหญ่แค่ไหน พิจารณาได้จากรางวัลชนะเลิศที่เป็นเงินสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 32 ล้านบาท!

ทว่าจะชนะหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่เป้าหมายที่ชัดเจนแล้วในปีหน้า คือ พวกเขาจะขยาย Socialgiver สู่ตลาดโลก

“อลิส” บอกฝันก้อนใหญ่กับเรา ที่อยากเห็นคนทั่วโลกได้ใช้ไลฟ์สไตล์ของตัวเองไปพร้อมกับการทำเพื่อสังคม เธอชวนให้จินตนาการว่า เวลาเราไปท่องเที่ยวที่ประเทศใด ได้ใช้บริการของธุรกิจในประเทศนั้น และยังได้ช่วยเหลือโครงการเพื่อสังคมของประเทศนั้นๆ ไปด้วย ลองคิดดูว่า จะเยี่ยมยอดสักแค่ไหน แล้วจะสร้างผลกระทบให้กับโลกได้ขนาดไหน

หลายครั้งที่คนรุ่นใหม่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังมีภาพจำว่า คนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องใหญ่โตแบบ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หรือ เป็นชาวต่างชาติเท่านั้น แต่ Socialgiver กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้จะเป็นเด็กไทยตัวเล็กๆ แต่ก็สามารถสร้างไอเดียเจ๋งๆ ด้านดิจิทัลได้ ที่สำคัญยังสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนให้กับสังคมด้วย

“เราไม่ได้เริ่มจากการที่เรา “Do” (ทำ) แต่เริ่มจากการที่เรา “Be” (เป็น) เรามั่นคงว่าสิ่งที่เราเป็นคืออะไร และเราก็มีพันธสัญญาในการที่จะทำในสิ่งนั้น..เราเลือกที่จะเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม”

บูม เป็นหนุ่มนักเรียนนอก มีพร้อมทั้งความรู้และต้นทุนทางสังคม แต่เลือกมาเป็นผู้ประกอบการสังคมด้วยเหตุผลว่า อยากทำงานที่เป็นการให้แรงบันดาลใจกับผู้คน และช่วยทำสังคมนี้ให้ดีขึ้น ขณะที่อลิส เป็นสาวเก่ง อดีตผู้จัดการโครงการในบริษัทเอกชนชั้นนำ มีรายได้ก้อนโต แต่ก็เลือกมาเป็น SE เพราะมีความมุ่งมั่นแบบเดียวกันนี้ Socialgiver จึงถือกำเนิดขึ้น พร้อมเป็นพลังเล็กๆ ขับเคลื่อนสังคมอยู่ในวันนี้

ใครที่อยากเดินในเส้นทางเดียวกัน ทั้งสองคนฝากไว้แค่คำสั้นๆ ว่า ต้อง “อึด”

“เป็น SE ได้ ต้องอึด เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า จุดพลิกของมันจะอยู่ที่ตรงไหน ต้องถามตัวเองว่า เราได้ใช้ความพยายามมากพอแล้วหรือยัง ต้องหาทุกวิถีทางในการที่จะทำให้สำเร็จ แล้วต้องมีจรรยาบรรณในการทำงานด้วย เพราะนี่เป็นเรื่องความเชื่อมั่นของคนที่ต้องทำงานร่วมกับเราด้วย ขอให้อึด ทำอย่างต่อเนื่อง และมุ่งมั่นที่จะทำไปเรื่อยๆ”

เพื่อเป็นหนึ่งในกิจการเพื่อสังคม ที่ วิน-วิน-วิน ทั้ง ผู้บริโภค ธุรกิจ และสังคม เหมือนอย่างพวกเขา