กสทช.คาดเปิดประมูลเบอร์สวย ก.ค.นี้

กสทช.คาดเปิดประมูลเบอร์สวย ก.ค.นี้

กสทช. เปิดประชาพิจารณ์ร่างหลักเกณฑ์เบอร์สวยคาดประมูลได้ก.ค.นี้ เร่งหาเอกชนเป็นนายหน้าจัดการประมูลก่อนล็อตแรก 4.9 ล้านเลข

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เลขหมายสวย วานนี้ (18 พ.ค.) ว่า จากการที่อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชาชนต้องการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น

หลังจากประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ทำให้เห็นว่าความต้องการใช้งานเครือข่ายเคลื่อนที่มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการวางแผนประมูลคลื่นความถี่เพิ่มเติมในอนาคต ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เกิดการใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น ดังนั้น การบริหารจัดการเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะต้องสอดคล้องกับความต้องการใช้งานและการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย

ปัจจุบันมีปริมาณเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 148 ล้านเลขหมายต่อประชากร 100 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ถือเป็นหนึ่งในทรัพยากรโทรคมนาคมที่มีปริมาณจำกัด เมื่อต้องการใช้งานสูงขึ้นก็มีแนวโน้มจะขาดแคลนได้สงวนเลขหมายไว้รองรับการนำไปจัดสรรเป็นเลขหมายสวย ตามมติ กทช.ในการประชุมครั้งที่ 39/2553 เมื่อ 15 ธ.ค. 2553 รวม 16,320,000 เลขหมาย

เลขหมายสวย จะพิจารณาเฉพาะรูปแบบเลขหมายที่โดดเด่น มีลักษณะเฉพาะพิเศษที่หายากและได้รับความนิยมในตลาด มีประมาณ 5 แสนเลขหมาย เช่น เลขซ้ำแปดตัวท้าย เลขซ้ำเก้าตัวท้าย เบอร์ตอง เป็นต้น

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการสายงานกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า หลังจาก กสทช. จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะร่างประกาศดังกล่าวแล้วจะนำเข้าที่ประชุมกสทช. พรุ่งนี้ (20 พ.ค.) เพื่อรับทราบ

จากนั้นจะดำเนินการจัดหาบริษัทผู้ดำเนินการประมูล รวมถึงวิธีการประมูลเสร็จภายในเดือนก.ค. แล้วจะนำหมายเลขสวยจำนวน 4.9 ล้านเลขหมาย จากที่มีทั้งหมดประมาณ 16 ล้านเลขหมายมาทยอยประมูลได้เดือนส.ค. 2558 คาดว่าจะสร้างรายได้จากการประมูลไม่ต่ำกว่าหลักพันล้านบาท

ขณะนี้ กสทช.กำลังร่างเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) โดยบริษัทที่จะเข้ามาดำเนินการจัดการประมูลต้องมีประสบการณ์ด้านการประมูล ไม่สมยอมราคากับผู้เข้าประมูล ที่สำคัญต้องไม่ทำให้ราคาเลขสวยสูงหรือต่ำกว่าราคาจริงที่สมควรจะเป็น หรือปั่นราคาจนทำให้มีผลเสียต่อตลาด ซึ่ง กสทช.จะดูแผนงานที่บริษัทเสนอมา เพื่อให้ได้บริษัทที่มีประสิทธิภาพในการมาดำเนินการประมูล

“บริษัทที่จะเข้ามาดำเนินการประมูลนั้นต้องมีแผนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั้งคนทั่วไปและองค์กรต่างๆ เข้าประมูลมากที่สุด และต้องเปิดประมูลได้หลายช่องทาง ทั้งทางวาจา และอินเทอร์เน็ต ซึ่งรายได้จากการประมูลจะมีผลต่อบริษัทผู้ดำเนินการประมูล เพราะบริษัทนั้นๆ จะมีรายได้เป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดการประมูล”

ส่วนสิ้นปีนี้ กสทช. จะได้รับเงินจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮริตซ์ จากผู้ประกอบการทั้ง 3 รายที่ได้รับใบอนุญาตเป็นงวดสุดท้ายอีก 10,406.25 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 41,625 ล้านบาท ซึ่งเงินทั้งหมดจะนำส่งเป็นค่าทรัพยากรสาธารณะให้กระทรวงการคลัง และถือเป็นรายได้เข้าประเทศต่อไป