'เกียรติ'ชี้ปมโรฮิงญา'ยูเอ็น-อาเซียน'ต้องร่วมกัน

'เกียรติ'ชี้ปมโรฮิงญา'ยูเอ็น-อาเซียน'ต้องร่วมกัน

“เกียรติ” ชี้แก้ปม “โรฮิงญา” ต้องถึงระดับ “ยูเอ็น-อาเซียน” ร่วมกัน แนะรัฐบาลจัดการขบวนการค้ามนุษย์จริงจัง

นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีปัญหาชาวโรฮิงญาอพยพว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยเพียงลำพัง แต่เป็นปัญหาของหลายประเทศที่เกี่ยวข้อง ถ้าหากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ที่สมัยจักรวรรดิอังกฤษยังปกครองประเทศพม่าอยู่นั้น ก็จะพบว่าชาวโรฮิงญากลายเป็นกลุ่มที่ไม่มีที่อยู่และไม่มีใครยอมรับ ดังนั้นจึงกลายเป็นปัญหาของโลกที่สหประชาชาติต้องเข้ามาแก้ไข กลุ่มประเทศอาเซียนก็ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วย 

สำหรับประเทศไทยนั้น โดยสภาพภูมิศาสตร์แล้วกลายเป็นทางผ่านของคนกลุ่มนี้จึงทำให้ได้รับผลกระทบ ในสมัยอดีตที่ผ่านมานั้นผู้ลี้ภัยที่ผ่านมามีจำนวนไม่มาก แต่ในปัจจุบันที่มีเป็นจำนวนมากเพราะมีการทำเป็นกระบวนการ เพราะฉะนั้นก็ต้องแก้ไขปัญหาในหลายส่วน ทั้งผู้ที่ทำผิดกฎหมาย , ผู้ที่มีส่วนร่วมให้มีการค้ามนุษย์เกิด , ผู้ที่รับจ้างพาไปส่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ ถ้ามาทำในประเทศไทย ก็ต้องเอาผิดในส่วนนี้ ต้องมีการดำเนินการอย่างเข้มข้น 

“แม้จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มข้น แต่ก็เชื่อว่าปัญหานี้ยังไม่หมดไปแน่นอน เพราะคงจะมีชาวโรฮิงญาที่ยังอยากที่จะเข้ามาอยู่อีก ดังนั้นการแก้ไขปัญหาก็จะต้องเป็นการแก้ไขกติกา ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสหประชาชาติ หรือระดับภูมิภาคของประเทศไทย ว่าจะเอาอย่างไรกับคนเหล่านี้ จะมีประเทศที่ 3 ที่จะให้เข้าไปพำนักพักพิงในประเทศได้หรือไม่ ถึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาโดยประเทศไทยมีส่วนร่วม แต่ถ้าหากประเทศใดประเทศหนึ่งมาบอกประเทศไทยให้ดูแลชาวโรฮิงญาให้ดี ๆ แต่ประเทศเหล่านั้นกลับไม่มีส่วนร่วมหรือมารับภาระอะไรเลย เรื่องนี้ก็คงไม่ได้เหมือนกัน ต้องมาช่วยรับภาระที่เกิดขึ้นด้วย” นายเกียรติ กล่าว

นายเกียรติ กล่าวถึงความเห็นที่บางฝ่ายแนะนำให้อาเซียน กดดันประเทศพม่าให้ยอมรับชาวโรฮิงญาว่า ก็เป็นวิธีหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันถ้าดูประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องให้ดี ก็พบว่ามีประเทศบังกลาเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งก็ควรต้องเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้ด้วย ทำไมต้องกดดันพม่าเพียงฝ่ายเดียว ความจริงแล้วต้องเห็นใจประเทศพม่าในกรณีนี้ด้วย ดังนั้นตนคิดว่าการกดดันประเทศพม่าเพียงแค่ประเทศเดียวโอกาสที่จะแก้ปัญหาให้ได้ผลก็คงจะมีน้อย ในกรณีของประเทศไทยนั้น ตนคิดว่ามีปัญหาเรื่องกฎหมายผู้ลี้ภัยด้วย เพราะขณะนี้ประเทศไทยนั้นเป็นภาคี แต่ก็ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน จึงอาจจะทำให้มีการดำเนินการในบางเรื่องได้ลำบาก ดังนั้นก็ต้องไปจัดการในส่วนนี้ด้วย