ในตู้ยาคุณ...มียาตัวนี้มั้ย?

ในตู้ยาคุณ...มียาตัวนี้มั้ย?

ในตู้ยาของคุณ มียาสมุนไพรบ้างไหม ถ้าไม่มี...ซื้อใส่ตู้ไว้สิ เพราะนี่คือทางเลือกง่ายๆ และได้ผล

            เท่าที่ผ่านมา พฤติกรรมการกินยาของคนไทย ป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็ซื้อยากินเอง และไม่ได้สนใจว่าจะมีผลต่อร่างกายอย่างไร ขอเพียงแค่หายป่วย และการซื้อยาก็ซื้อตามโฆษณาบ้าง เพื่อนญาติพี่น้องแนะนำบ้าง หมอแนะนำบ้าง และส่วนใหญ่เลือกซื้อยาแผนปัจจุบัน

            ทั้งๆ ที่สรรพคุณยาแผนโบราณบางตัวไม่แพ้ยาแผนปัจจุบัน แต่คนไทยก็มีความรู้เรื่องนี้น้อยมาก และหน่วยงานด้านสาธารณสุขก็ไม่ค่อยสนับสนุนให้ใช้ยาสมุนไพรเป็นทางเลือกในการรักษาโรค

            ว่ากันว่า คนไทยเป็นโรคบ้ากินยา ใน 2549 คนไทยทั้งประเทศ หมดเงินไปกับค่ายามูลค่า 76,000 ล้านบาท เทียบสัดส่วนคือ ร้อยละ 30-40 ของค่ารักษาพยาบาลทั้งประเทศ  นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกว่าค่ายาจำนวนมหาศาลของคนไทย สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่หมดเปลืองกับค่ายา ไม่เกินร้อยละ 10-15 ของค่ารักษาพยาบาลทั้งประเทศ

            เหตุผลหลักของโรคบ้ากินยาคือ  มีการจ่ายยาในระบบสาธารณสุขเกินความจำเป็นมากมายในประเทศนี้ 

            เมื่อแก้ที่ระบบโครงสร้างไม่ได้ ลองเริ่มจากการใช้ยาสมุนไพรราคาไม่แพง รักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ด้วยตนเอง อย่างปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้  ไอ น้ำร้อนลวก ท้องอืด ท้องเฟ้อ  ฯลฯ ยาเหล่านี้มีไว้ในตู้ยาประจำบ้านบ้าง ไม่มาก ก็น้อย ก็ย่อมดีกว่าไม่มีเลย

            "อยากผลักดันให้มีการใช้สมุนไพรที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งปกติยาพวกนี้จะซื้อที่ไหนก็ได้ แต่คนก็ไม่ค่อยใช้ ทั้งๆ ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน " รศ.รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

 

 

ต้องรู้จักใช้

            หากจะผลักดันให้ยาสมุนไพรเป็นที่นิยมเหมือนยาแผนปัจจุบัน นั่นหมายถึงยาสมุนไพร ต้องมีสรรพคุณที่เทียบเคียงกับยาแผนปัจจุบัน และต้องเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาโรค ซึ่งองค์ประกอบที่จะทำให้ยาเป็นที่รู้จัก ก็คือ การให้ความรู้คู่การประชาสัมพันธ์ รวมถึงแพทย์ เภสัชกร และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ควรแนะนำให้คนไข้ใช้ยาสมุนไพรที่ใช้ได้ผลมากขึ้่น

            ง่ายๆ เลย ตู้ยาในบ้าน หากเป็นไปได้ก็ควรมียาหอมนวโกฐ ยาแก้ไอน้ำดำ ฟ้าทะลายโจร ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ   ฯลฯ 

            อย่างยาหอมเทพจิตรเป็นยาหอมที่มีดอกมะลิ ครึ่งหนึ่งของตำรับมีผิวส้ม 8 ประการ เน้นผิวส้มซ่า และมีดอกไม้ชนิดอื่นๆ อาทิ  ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกบัวขม ดอกบัวเผื่อน

            จากงานวิจัยพบว่า ส่วนผสมในยาหอมเทพจิตร มีน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ ช่วยลดความรู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า และทำให้อารมณ์ดีขึ้น นอกจากนี้ยังพบรายงานการวิจัยของสารสกัดผิวส้มบางชนิดที่แสดงฤทธิ์คลายกังวล และฤทธิ์สงบระงับ

            นอกจากยาหอมจะแก้ลมวิงเวียนแล้ว ยังช่วยปรับอารมณ์ความรู้สึกหดหู่ได้ดี และที่สำคัญต้องใช้ร่วมกับน้ำกระสายยา ก็คือ น้ำดอกมะลิ ควรละลายยาผงกับน้ำกระสายยา จะทำให้ออกฤทธิ์ได้ดี ดูดซึมได้เร็วจากเยื่อบุช่องปาก และกลิ่นหอมของยาจะส่งผลต่อประสาทรับกลิ่น ช่วยให้ออกฤทธิ์ได้ดี

            รศ.รุ่งระวี เล่าว่า  ยาสมุนไพร มีทั้งส่วนที่เป็นยาเดียว และยาตำรับ ยาเหล่านี้ใช้องค์ความรู้แพทย์แผนโบราณ

            "ยาหอม ควรมีไว้ประจำบ้าน อย่างยาหอมเทพจิตร เป็นยาหอมที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และจิตใจ กินแล้วสดชื่นแจ่มใส เวลารู้สึกเป็นทุกข์ เครียด ก็ใช้ยาหอมปรับอารมณ์ให้แจ่มใส ตอนนี้ปัญหาอยู่ที่การเขียนสรรพคุณกลัวว่าคนจะใช้ยาแบบผิดๆ หมายถึงคนที่เครียดสะสมเป็นเวลานาน แล้วนำมาใช้ก็จะไม่ได้ผล ยาหอมตัวนี้ ถ้าเครียดเล็กๆ น้อยๆ ใช้ได้ ยาหอมใช้ได้ทุกวัย ส่วนฟ้าละลายโจร ขมิ้นชัน เป็นยาเดียวที่ใช้รักษาโรค ต่างจากยาตำรับที่มีส่วนผสมสมุนไพรหลายตัว "

            อาจารย์ด้านเภสัชกรรม พยายามที่จะผลักดันให้คนไทยยุคนี้ หันมาใช้สมุนไพรบางตัวรักษาโรค ซึ่งเห็นว่า ใช้แล้วได้ผล และราคาไม่แพง นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาแบบค่อยเป็นค่อยไป ปรับสมดุลในร่างกายได้

            "ยาสามัญประจำบ้าน อย่างฟ้าทะลายโจร สามารถช่วยเรื่องภูมิต้านทานเชื้อไวรัสได้ เป็นยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณโดดเด่นเรื่องนี้ ซึ่งไม่มีตัวไหนใช้ดีเหมือนฟ้าทะลายโจร ยาแผนปัจจุบันก็เทียบไม่ได้เลย แม้จะกินยาต้านไวรัส แต่เป็นไวรัสคนละสายพันธุ์ "  ดร.ภช.นิศารัตน์ ศิริวัฒนเมธานนท์ ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

            กรณีนี้ อาจารย์นิศารัตน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าเจ็บคอ เพราะเชื้อแบคทีเรีย ฟ้าทะลายโจรใช้ไม่ได้ผล ถ้ามีอาการปวดหัว เป็นไข้ ร้อนใน ยาแผนปัจจุบันไม่สามารถใช้ได้อย่างครอบคลุม ยาแผนโบราณจะช่วยในการระบายความร้อน ปรับสมดุล

            "ถ้าเป็นไข้ร้อนใน ไอเพราะเชื้อไวรัส ฟ้าทะลายโจรใช้ได้ แต่ถ้าเจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรีย แม้จะกินยาฆ่าเชื้อ แล้วกินฟ้าทะลายโจร ก็ไม่หายป่วย คนละอาการ ต้องเลือกให้เหมาะกับโรค ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ต้องให้ความรู้ความเข้าใจมากขึ้น อย่างร้านขายยาคณะเภสัชศาสตร์ มหิดล คนมาซื้อยาเจ็บคอ ก็จะดูว่า เจ็บคอแบบไหน ถ้าสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ก็จะให้ฟ้าทะลายโจร คนก็ชมว่าดีหายป่วย แต่ถ้าติดเชื้อแบคทีเรีย ก็ไม่จ่ายสมุนไพร จะจ่ายยาแผนปัจจุบัน "

 

ต้องรู้จักเลือก...

            แม้ยาสมุนไพรจะรักษาได้ไม่ทุกโรคเหมือนยาแผนปัจจุบัน แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ ถ้าเลือกให้ถูกกับโรค ก็สามารถหายป่วยได้  อาจารย์รุ่งระวี เล่าถึงต้นตอที่ทำให้องค์ความรู้ด้านสมุนไพรหายไปว่า เมื่อก่อนองค์ความรู้ส่วนนี้จะเชื่อมโยงจากพ่อแม่สู่ลูก แต่ความรู้ที่อยู่ในครัวเรือนได้หายไปแล้ว เพราะกลุ่มยาสมุนไพรไม่ค่อยโฆษณา จะโฆษณาก็ต่อเมื่อเป็นยาที่อยู่ในความนิยมของชาวบ้าน

            "แม้ยาสมุนไพรจะใช้ได้ไม่ทุกโรค อย่างอาการปวดหัว เราบอกเลยว่า ไม่มียาสมุนไพรที่ใช้แทนยาพาราเซตามอล จึงอยากให้เด็กๆ ในโรงเรียนได้เรียนรู้การใช้ยาสมุนไพรประจำบ้านควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน เพราะเราไม่สามารถบอกทุกอย่างในฉลาก จึงต้องให้ความรู้ เพื่อที่จะหยิบฉวยยามาใช้ได้เลย อย่างยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อที่ใช้ได้ดีคือ ยาธาตุอบเชย ยาธาตุบรรจบ (ตัวนี้แก้ท้องเสียได้ด้วย) เพราะฉะนั้นมีตำรับเดียวใช้ได้เลย"

            ยาธาตุเหล่านี้ ปรุงโดยใช้หลักการแพทย์แผนไทย โดยคำนึงถึงการเคลื่อนของลมในร่างกาย ถ้าเทียบกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ก็คือ การไหลเวียนของเลือด ในเรื่องการบีบตัวกระเพาะ ลำไส้ เพื่อทำให้อาการปวดดีขึ้น อาจารย์รุ่งระวี บอกว่า ยาธาตุช่วยเรื่องท้องเสีย ช่วยปรับธาตุให้กลับสู่ภาวะปกติได้เร็ว  เพราะแนวทางรักษาของการแพทย์แผนไทยมองเรื่องลมเป็นหลัก  และเวลาท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ ก็จะใช้น้ำกระสายช่วย อาจต่างชนิดกัน เพื่อให้ยาดูดซึมได้เร็วขึ้น

             อาจารย์รุ่งระวี บอกว่า มีคนอยู่สองกลุ่มที่เลือกใช้สมุนไพร ก็คือกลุ่มที่พึ่งพิงยาแผนปัจจุบันไม่ได้แล้ว เป็นกลุ่มที่รับข่าวสารข้อมูลน้อย ส่วนอีกกลุ่มใช้รักษาโรคทั่วไป ส่วนคนที่ไม่เชื่อและไม่นิยมใช้ เพราะความแรงยาสมุนไพรไม่เท่ายาแผนปัจจุบัน

            "ถ้าจะใช้สมุนไพรแก้ไข้ ก็ต้องควบคู่กับการดูแลตัวเอง เรารู้ว่า กินยาสมุนไพรจะหายช้า  ก็เช็คตัวลดความร้อนไปด้วย ข้อดีของยาไทยคือ กินแล้วไข้จะค่อยๆ ลด เมื่อกลับสู่สภาวะปกติ ไข้จะไม่สวิงขึ้นลง ต่างจากการกินพาราเซตามอล ออกฤทธิ์เร็วภายในครึ่งชั่วโมง เมื่อยาหมดฤทธิ์ อาการกลับมาใหม่ ยาแค่กดอาการไข้ กดการสร้างอุณหภูมิ  ซึ่งไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ แต่แก้ที่ปลายเหตุ ต่างจากยาไทยกินแล้ว ดูเหมือนไม่ดีขึ้น แต่ช่วยปรับสมดุล  อีกอย่างกินยาแผนปัจจุบันจะมีอาการระยะพักฟื้น คือ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย แต่ยาไทยกินแล้วจะไม่เกิดอาการแบบนั้น"

อย่างไรก็ตาม อาจารย์รุ่งระวี มีข้อแนะนำว่า ไม่ควรกินยาสมุนไพรเดี่ยวๆ อย่างขมิ้นชันและฟ้าทะลายโจร เนื่องจากฟ้าทะลายโจรเป็นยาเย็นจะปรับธาตุไฟของเราให้ลดลง ถ้ากินไปนานๆ จะเบื่ออาหาร  และมีอาการปวดหลัง ปวดตามเส้น

"ตอนให้คุณแม่ทานไปนานๆ มือเท้าเย็น กลายเป็นคนขี้หนาว ในเมืองจีน ห้ามกินฟ้าทะลายโจรในช่วงฤดูหนาว กินแล้วจะยิ่งหนาวถึงกระดูก แต่งานวิจัยไทยบอกว่า ใช้ได้ผล เพราะเราใช้ไม่นาน ก็อนุญาติให้ใช้ เจ็บคอ ใช้ฟ้าทะลายโจร สามวันเจ็ดวัน ไม่ดีขึ้น ก็ต้องเลิกใช้ ไปหาหมอ หรือกินยาตัวอื่นแทน"

อาจารย์นิศารัตน์  เสริมว่า ก่อนใช้ยาสมุนไพร ต้องรู้ก่อนว่า ป่วยเป็นอะไร ถ้าป่วยธรรมดาๆ ไอแห้งๆ ควรเลือกยาที่กดศูนย์กลางไอที่สมอง แต่ถ้าไอมีเสมหะ อาจเป็นยาแก้ไอน้ำดำ หรือยาแก้ไอน้ำผสมมะแว้ง ไม่ต้องใช้ยาแผนปัจจุบันก็ได้ผลเทียบเคียงกัน

“ส่วนใหญ่หมอในโรงพยาบาลไม่สั่งจ่ายยาสมุนไพร ถ้าหมอที่สั่งจ่ายแบบนี้จะเป็นหมอที่มีความรู้ประสบการณ์ แต่หมอเด็กๆ ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ เรื่องผ่าตัดก็ยังไม่เก่ง ก็เลยยังไม่หาความรู้เรื่องนี้  ถ้าจะใช้สมุนไพร คนไข้สามารถบอกหมอตั้งแต่ต้นทาง ตอนนี้ที่โรงพยาบาลศิริราช ใช้ยาสมุนไพรรักษาโรคอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเยอะมาก มีคลีนิคสมุนไพรด้วย"

         ...

          ยาตำรับสมุนไพรที่ควรมีประจำบ้าน

            1. ยาธาตุอบเชย แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ

            2. ยาเหลืองปิดสมุทร แก้ท้องเสีย

            3. ยาธาตุบรรจบ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และท้องเสีย  แทนทั้ง 2 ตำรับ แต่ต้องทานยาร่วมกับน้ำกระสายดังนี้ คือ

-แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้ร่วมกับน้ำกระเทียม โดยเอากระเทียม  3 กลีบ ทุบชงน้ำร้อน หรือใช้ใบกะเพราต้มน้ำ

-แก้ท้องเสียใช้ร่วมกับน้ำเปลือกลูกทับทิม หรือ กรณีหาไม่ได้ใช้น้ำชา

            4. ยาหอมนวโกฐ สำหรับป้องกันไข้หวัด กรณีที่เริ่มจะเป็นไข้ แก้คลื่นไส้ เบื่ออาหาร (แก้ลมปลายไข้) หลังจากเพิ่งหายไข้หวัด

            5. ยาครีม หรือเจลผสมไพล แก้ฟกช้ำ บวม จากกระทบกระแทก ตำรับที่ไม่มีน้ำมันระกำ สามารถใช้ได้ทันทีเมื่อมีอาการ หลังจากประคบความเย็นบรรเทาอาการ ภายในชั่วโมง และใช้ตำรับที่ผสมไพล และน้ำมันระกำ หลัง 24 ชั่วโมง

            6. ครีมว่านหางจระเข้ สำหรับทาบรรเทาอาการไฟไหม้น้ำร้อนลวก ซึ่งต้องผสมวุ้นว่านหางจระเข้ไม่น้อยกว่า 10 %

            7.ยาทาผสมเสลดพังพอนตัวเมีย  หรือ พญายอ หรือ พญาปล้องทอง สำหรับแก้แมลงกัดต่อย

            ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกชนิด เลือกตามความเหมาะสมของแต่ละบ้าน  ข้อ 6 หรือ 7  ถ้าปลูกสมุนไพรสดไว้ในบ้าน  จะดีกว่าเก็บในรูปแบบยา

            ส่วนข้อระวังคือ  ยาชนิดผงหรือ เม็ด หรือแคปซูล  มีอายุ 3 ปี นับจากวันผลิต และยาน้ำ มีอายุ 2 ปี นับจากวันผลิต

          หมายเหตุ : ข้อมูลจากภาควิชาเภสัชพฤกษาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหิดล