กรมแพทย์แผนไทยเผย6โรค'ห้ามนวด'

กรมแพทย์แผนไทยเผย6โรค'ห้ามนวด'

กรมแพทย์แผนไทยฯ ชี้โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง มีแผลอักเสบ ไข้สูง ห้ามนวดรักษา-ผ่อนคลาย แนวกระดูก และ หลอดเลือดห้ามนวดเด็ดขาด

นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงกรณีข่าวสาววัย 37 ปี ซึ่งป่วยโรคหัวใจ แต่ต้องเสียชีวิตอย่างกะทันหัน เพราะเส้นเลือดหัวใจตีบและแตก หลังจากไปนวดจับเส้นกับหมอนวดใกล้บ้าน ว่า คาดว่าร้านที่หญิงรายดังกล่าวไปนวดนั้นเป็นร้านที่ไม่ได้มาตรฐานของกรมฯ แต่คงไม่สามารถตรวจสอบหรือไปเอาผิดได้ เพราะญาติผู้เสียชีวิตไม่ติดใจเอาเรื่องและเปิดเผยสถานที่ ทั้งนี้ ร้านนวดส่วนใหญ่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อรับรองมาตรฐานจากกรมฯ แต่ก็ไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย มาตรฐานของสถานที่ ไม่ได้มีการระบุโทษเอาไว้ แต่ขณะนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กำลังเร่งร่างพ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ... ซึ่งหากมีกฎหมายฉบับนี้ก็จะบังคับให้ร้านนวดทั้งหมดต้องขึ้นทะเบียนเพื่อรับรองมาตรฐาน

“การขึ้นทะเบียนเพื่อรับรองมาตรฐานของร้านนวดยังเป็นไปตามความสมัครใจ ปัจจุบันมีร้านนวดที่ผ่านมาตรฐานแล้ว 3,000 กว่าแห่ง อยู่ในสถานพยาบาลประมาณ 2,000 แห่ง และเป็นสถานประกอบการอีกกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งการขอรับรองมาตรฐานนั้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ก็พบว่า ยังมาขอรับรองมาตรฐานน้อยมาก จึงได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประสานพื้นที่ออกตรวจร้านนวด เพื่อผลักดันให้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน ซึ่งมาตรฐานร้านนวดจะมี 2 ระดับคือ ระดับเงิน ต้องมีผู้มีความรู้ด้านการนวด โดยผ่านการอบรมการนวดมาไม่ต่ำกว่า 150 ชั่วโมง ไม่ต่ำกว่า 80% และระดับทองจะต้องมีผู้มีความรู้ไม่ต่ำกว่า 95% ซึ่งกรมฯ จะมอบป้ายมาตรฐานให้แก่ร้านที่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งจะมีการตรวจประเมินมาตรฐานทุกปี หากพบว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานก็จะยึดป้ายคืน” นพ.ธวัชชัย กล่าว

นพ.ธวัชชัย กล่าวอีกว่า ก่อนการนวดไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลหรือสถานประกอบการ ตามมาตรฐานแล้วจะต้องมีการตรวจประเมินผู้มารับการนวดทุกครั้ง ทั้งวัดความดัน ซักประวัติว่ามีอาการป่วย ผ่านการรักษาใดๆ มาบ้าง เพื่อประเมินแนวทางการรักษาหรือการนวดเพื่อความผ่อนคลายต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เพราะการนวดนั้นมีข้อห้ามบางประการคือ ห้ามนวดในผู้ที่มีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส หรือโรคติดเชื้อเฉียบพลัน ห้ามนวดบริเวณที่มีการอักเสบจากการติดเชื้อ กระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ข้อเคลื่อน เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวานที่ยังควบคุมอาการให้เป็นปกติไม่ได้ โรคผิวหนังมีแผลเปิดเรื้อรัง โรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ โรคมะเร็ง แผลหลังผ่าตัดยังไม่หายสนิท หลอดเลือดดำอักเสบ และกระดูกพรุนรุนแรง

ด้านพทป.สมชาย ช้างแก้วมณี แพทย์แผนไทยประยุกต์ กรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า ตามมาตรฐานแล้วก่อนให้บริการนวดรักษาหรือนวดผ่อนคลายต้องซักประวัติและตรวจประเมินผู้มารับบริการก่อน ซึ่งหากพบว่ามีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ความดันสูงเกิน 140 อัตราการเต้นหัวใจมากกว่า 24 ครั้งขึ้นไปและชีพจรมากกว่า 80 ครั้ง จะไม่สามารถให้บริการนวดได้ เพราะการนวดจะทำให้ระบบเลือดไหลเวียนดีขึ้น ทำให้ความดันสูงขึ้น ขณะที่ความร้อนในร่างกายจะสูงขึ้นด้วย ทำให้คนเป็นไข้ยิ่งตัวร้อนขึ้น เกิดอาการเพลีย ไม่มีแรง ส่วนการนวดผ่อนคลายที่ทำให้ความดันลดลงนั้น เป็นเพราะสูตรนวดต่างกัน

“จุดที่ห้ามนวดเด็ดขาดคือ ตามแนวกระดูกและหลอดเลือดคือ แนวกระดูกต้นคอ สันหลัง ซี่โครง บริเวณข้างคอ ใต้หู หลังหู และต่อมน้ำเหลืองใต้คาง ส่วนที่มีการนวดหลังนั้นจะเป็นการนวดตามแนวสันกล้ามเนื้อไม่ใช่กระดูก ส่วนจุดที่ต้องระวังคือการกดจุดเปิดประตูลม ควรทำแค่ครั้งเดียว และจุดที่เป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทต่างๆ เช่น ข้อพับแขน ข้อมือ และข้อพับขา ส่วนข้อควรระวังอื่นคือกลุ่มเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ โรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน กระดูกพรุน เคยผ่าตัด ใส่เหล็ก ข้อเทียม หรือจุดที่เคยทำศัลยกรรมตกแต่ง" พทป.สมชาย กล่าว