จุดเปลี่ยนโลกธุรกิจ ยุคข้อมูลเรียลไทม์

จุดเปลี่ยนโลกธุรกิจ ยุคข้อมูลเรียลไทม์

แนะภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว เตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้

ข้อมูลจากบริษัทวิจัย "การ์ทเนอร์" และ "ไอดีซี" ระบุว่า ภายในปี 2563 ประชากรโลก 7 พันล้านคน ซึ่งจะเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารอย่างน้อย 3 หมื่นล้านเครื่อง จะสร้างข้อมูลกว่า 44 เซตตะไบต์ (44 ล้านล้านกิกะไบต์) ชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่องค์ประกอบทุกๆ ด้านของชีวิตเกี่ยวพันกับข้อมูลอย่างแยกกันไม่ออก

นายนฐกร พจนสัจ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อีเอ็มซี อินฟอร์เมชั่น ซิสเท็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ผู้คนในยุคแห่งข้อมูลมีความคาดหวังต่อองค์กรธุรกิจที่พวกเขาติดต่อสื่อสารสูงขึ้น ขณะเดียวกันธุรกิจที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัล กลายเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ธุรกิจที่เกิดขึ้นมาก่อนจำต้องพลิกโฉมองค์กรให้ก้าวทัน

ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้นำธุรกิจจำนวน 3,600 คน ใน 18 ประเทศทั่วโลก โดยอีเอ็มซี ร่วมกับ Institute for the Future และแวนสัน บอร์น ระบุว่า ผู้นำธุรกิจกว่า 96% เชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ กำลังเข้ามาเปลี่ยนกฎเกณฑ์ทางธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง 93% เห็นว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคหลังนี้ส่งผลให้ความคาดหวังของลูกค้าเปลี่ยนไป และแทบทุกคนกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีอัตราที่สูงขึ้นในช่วงทศวรรษนี้

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่ลูกค้าคาดหวังเป็นอันดับต้นๆ คือ การเข้าถึงบริการที่รวดเร็วมากขึ้น การเชื่อมต่อเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา การเข้าถึงข้อมูลและใช้งานได้บนอุปกรณ์ที่หลากหลาย เรียลไทม์ รวมถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่แปลกใหม่ยิ่งขึ้น

ชนะด้วยข้อมูล
ข้อมูลชี้ว่า เพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ของคนในยุคแห่งข้อมูล องค์กรธุรกิจต่างๆ เห็นพ้องกันว่า ต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการดำเนินงานครั้งใหญ่
โดยผู้นำธุรกิจได้กำหนดคุณสมบัติสำคัญ 5 ประการ ที่จะทำให้องค์กรสามารถเป็นผู้ควบคุม ไม่ใช่ผู้ถูกควบคุม พร้อมใช้ข้อมูลข่าวสารเป็นตัวขับเคลื่อน ประกอบไปด้วย 1.ความสามารถในการคาดเดาโอกาสใหม่ๆ 2.แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ 3. ความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมได้อย่างคล่องตัว 4.ความสามารถในการมอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่และเป็นส่วนตัว และ 5.ความสามารถในการทำงานได้แบบเรียลไทม์

เขากล่าวว่า แม้ผู้นำธุรกิจส่วนใหญ่จะมองว่าปัจจัยข้างต้นนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่มีองค์กรเพียงไม่กี่แห่งที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ และสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากผลการสำรวจพบว่า มีเพียง 12% ของผู้นำธุรกิจที่กล่าวว่าสามารถคาดเดาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้ เพียง 9% เชื่อว่าบริษัทสามารถคิดค้นนวัตกรรมได้อย่างคล่องตัว เพียง 14% มองว่าธุรกิจมีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ, เพียง 11% สามารถมอบประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวให้กับลูกค้าได้ ในขณะที่ 12% มองว่าองค์กรของตนสามารถทำงานได้แบบเรียลไทม์

รู้แต่ไม่พร้อม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจต่างๆ จะตระหนักว่า องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ แต่ 49% ของบริษัทที่ร่วมทำการสำรวจกลับไม่มีความรู้ในการเปลี่ยนข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นแผนการปฏิบัติงานที่ชัดเจนได้ ผลการวิจัยชี้อีกว่า แม้ว่า 70% ขององค์กรธุรกิจกล่าวว่าพวกเขาสามารถเสาะหาข้อมูลเชิงลึกจากข้อมูลต่างๆ ได้ แต่มีเพียง 30% เท่านั้นที่ติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอและสามารถในการตอบสนองข้อมูลเหล่านั้นได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังไม่สามารถใช้ข้อมูลที่มีอยู่ให้มีประโยชน์ในทุกระดับของธุรกิจได้ 

ขณะที่ 52% ยอมรับว่าบริษัทไม่สามารถนำข้อมูลมาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือจัดสรรข้อมูลจำนวนมหาศาลให้เป็นระเบียบ ทั้งมีองค์กรเพียง 24% เท่านั้นที่มองว่าตนเองมีความสามารถในขั้นสูงที่จะเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นองค์ความรู้เชิงลึกที่มีประโยชน์ได้

"ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว เตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ หากไม่ยอมเปลี่ยน มีโอกาสตายแน่นอน"

สำหรับแนวโน้มองค์กรไทย นายนฐกร กล่าวว่า ธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์ เช่น กลุ่มการเงินการธนาคาร และโทรคมนาคมเริ่มตระหนักแล้ว การลงทุนของลูกค้าถูกผลักดันด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การแข่งขันที่รุนแรง แม้เศรษฐกิจตกจำต้องลงทุนต่อเนื่อง

เขาประเมินว่า การเปลี่ยนผ่านในไทยล่าช้ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้วราว 2 ปี เนื่องจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง มาตรฐานการศึกษา รวมถึงไลฟ์สไตล์แบบเอเชีย

มั่นใจมาถูกทาง
เขากล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนไตรมาสที่ 2 ในประเทศไทยเริ่มเป็นบวกมากขึ้น จากที่เริ่มมีการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ ต่างจากไตรมาสแรกที่ไม่มี
ทั้งนี้ 4 เมกะเทรนด์ ซึ่งมีอิทธิพลในอุตสาหกรรมไอทีปีนี้ยังคงเป็น คลาวด์คอมพิวติ้ง โมบิลิตี้ บิ๊กดาต้า และโซเชียล การแข่งขันที่รุนแรงที่สุด คือ กลุ่มโมบาย รองลงมาคือ โซเชียลเน็ตเวิร์ค คลาวด์ และบิ๊กดาต้าตามลำดับ

ส่วนของอีเอ็มซี มุ่งด้านบิ๊กดาต้า และมั่นใจว่ามาถูกทาง การทำตลาดนำโครงการที่ประสบความสำเร็จมาเป็นตัวอย่าง อีกทางหนึ่งมีทีมงานสามารถให้ความรู้ตลาด รวมถึงให้คำปรึกษาการลงทุนลูกค้าได้

พร้อมกันนี้ ผลการวิจัยข้างต้นเป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้น บริษัทเองนำข้อมูลมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการตลาดมากที่สุด